ชุมนุมเรียกร้อง ‘วราวุธ’ แก้ปัญหากำแพงกันคลื่น

กลุ่ม Beach For Life และภาคีเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนชายหาด ปูเสื่อนอนหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กดดันให้ รมว.กระทรวงทรัพย์ฯ ลงนามความร่วมมือให้พิจารณา EIA ก่อนสร้างกำแพงกันคลื่น

วันนี้ (7 ธ.ค. 2565) กลุ่ม Beach For Life และภาคีเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนชายหาด ปักหลักชุมนุมหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นวันที่ 2 หลังจากเดินทางมาค้างคืนเมื่อวานนี้ (6 ธ.ค. 2565) เพื่อกดดันให้ วราวุธ ศิลปอาชารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นชอบข้อเรียกร้องเรื่องการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ก่อนที่จะสร้างกำแพงกันคลื่นทุนครั้ง

อภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงาน Beach for life กล่าวว่า วานนี้ มีตัวแทนจากสำนักกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้แก่ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เดินทางมาพูดคุยกับเครือข่าย และรับทราบข้อเรียกร้องเรื่องการพิจารณา EIA ก่อสร้างกำแพงกันคลื่น โดยตัวแทนจากกระทรวงตอบรับว่าจะนำเรื่องดังกล่าวกลับไปประชุมหารือพูดคุยเพื่อหาคำตอบ

“เราต้องการให้มีการลงนามร่วมกัน เป็นข้อตกลงร่วมกัน ระหว่างวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตัวแทนทั้ง 3 คน จากกระทรวงฯ รวมถึงตัวแทนเครือข่าย เพื่อเป็นหลักประกันว่ากระบวนการในการเอากำแพงกันคลื่นกลับมาทำ EIA จะเป็นไปตามที่เครือข่ายเรียกร้อง ซึ่งเราให้เงื่อนไขเวลา ให้เขานำเอกสารที่จะลงนามในเวลา 9.00 น.วันนี้ แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการตอบรับมา”

ด้าน วิทวัส เทพสง รองประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ร่วมเป็นหนึ่งในภาคีเรียกร้องการทวงคืนชายหาด กล่าวว่า เนื่องด้วยพีมูฟ เป็นกลุ่มพี่น้องประชาชนผู้แก้ไขปัญหาที่ดินและทรัพยากร ซึ่งการสร้างกำแพงกันคลื่นมีผลต่อเรื่องของปากท้องพี่น้องเช่นกัน และเป็นเรื่องของสาธารณะ เราจึงลุกขึ้นมาร่วมกับพี่น้องเพื่อทำให้สังคมได้เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ เพราะชายหาดเป็นพื้นที่ชีวิต พื้นที่ความมั่นคงทางอาหารของพี่น้อง เป็นพื้นที่สร้างเศรษฐกิจการท่องเที่ยวสีเขียว มั่นใจว่านักท่องเที่ยวไม่ได้อยากมาดูกำแพงกันคลื่น แต่อยากมีดูหาดที่สวย นอกจากนี้พื้นที่ชายหาดยังเป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตทางทะเลมากมาย ดังนั้นการสร้างเขื่อน กำแพง หรือโครงสร้างแข็งจึงจำเป็นต้องเกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพราะชายหากของเราเป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ เรื่องของคนทั้งโลก

“จะทำเขื่อนทำกำแพงกันคลื่น ต้องมีการเผยแพร่ประชาสังคมพันธ์ให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง มีกระบวนการศึกษาอย่างจริงจัง พวกเรารู้มาว่าระบบการไหลเวียนของทรายในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันทั้งพื้นที่และช่วงเวลา ดังนั้นกระบวนการศึกษาความจำเป็นต้องพิจารณาให้รอบด้าน เพราะมันจะทำให้รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรฯ พลาดด้วย เราอยากให้การใช้ทรัพยากรเป็นเรื่องของความยั่งยืน และมีหาดชายอยู่คู่กับบ้านเราตลอดไป”

ต่อมา อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แจ้งกับเครือข่ายว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยอมรับในหลักการ แต่เครือข่ายยืนยันปักหลังจนกว่าจะมีการลงนาม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active