จัดระเบียบพื้นที่-ตรวจสอบกันเอง ลดเสี่ยงไฟไหม้ชุมชนเก่า กทม.

นักผังเมืองแนะ ออกข้อบัญญัติจัดระเบียบชุมชนแออัด ลดเสี่ยงไฟไหม้ ขณะนักวิชาการ เสนอสร้างระบบตรวจสอบกันเอง เหตุ บ้าน วัด โรงเรียน ไม่มีกฎหมายควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยเหมือนอาคารใหญ่

เหตุเพลิงไหม้ล่าสุดที่ชุมชนบ่อนไก่ และสำเพ็ง ทำให้หลายฝ่ายกลับมาเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยง หวังลดความสูญเสียอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นระบบหม้อแปลงไฟฟ้า การจัดระบบสายไฟ สายสื่อสาร แต่ถ้าสำรวจกันจริง ๆ จะพบว่า ยังมีอีกหลายชุมชนที่ยังใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความเสี่ยง บางแห่งอยู่มานานมากกว่า 3 ชั่วอายุคน ก่อนบังคับใช้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2535 และปรับปรุงเรื่อยมา เพื่อกำหนดโซน และวางระบบป้องกันอัคคีภัย

หลังผู้สื่อข่าว The Active ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่ชุมชนวานิช 1 ชุมชนเก่าในเขตสัมพันธวงศ์ พบว่าถนนภายในชุมชนกว้างเพียง 3 เมตร ยากที่รถดับเพลิงจะเข้าถึงในกรณีฉุกเฉิน บ้านเรือนหลายหลังสร้างติดกันเป็นแถวมาตั้งแต่ในอดีตบนพื้นที่จำกัดไม่สามารถขยายเพิ่มเติมได้จากความหนาแน่นของประชากร ที่อยู่อาศัย

พิชัย ธีรพัฒน์ ประธานชุมชนพาดสาย

พิชัย ธีรพัฒน์ ประธานชุมชนพาดสาย เขตสัมพันธวงศ์ กทม. กล่าวว่า ชุมชนแห่งนี้อาศัยร่วมกันมานานกว่า 100 ปี บ้านเรือนส่วนใหญ่ปลูกติดกันเป็นแถว เวลานี้มีคนอาศัยอยู่ประมาณ 100-200 คน และด้วยชุมชนที่อยู่ห่างจากถนนใหญ่กว่า 500 เมตร ถนนภายในชุมชนค่อนข้างคับแคบ นี่อาจเป็นอุปสรรคของเจ้าหน้าที่ในการเข้าระงับเหตุ หากเกิดเหตุเพลิงไหม้

“สิ่งที่ชุมชนที่นี่ทำได้ดีที่สุดเวลานี้ คือเตรียมพร้อมถังดับเพลิงที่มีในชุมชน พร้อมกริ่งสัญญาณ เพื่อกดเตือนกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เพื่อให้ทุกคนวิ่งหาที่ปลอดภัย หรือ ช่วยเหลือกันเบื้องต้น ซึ่งเป็นวิธีที่ทำต่อเนื่องกันมาตั้งแต่เริ่มตั้งชุมชนมา”

จรุณี ศิริวัฒน์วรสกุล ผู้ที่อาศัยอยู่ในซอยวานิช 1 เขตสัมพันธวงศ์ กทม. กล่าวว่า เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ต้องสะดุ้งตื่นกลางดึก เมื่อมิเตอร์ไฟฟ้าของบ้านข้างเคียงที่อยู่ติดกันเกิดระเบิดและมีไฟลุกท่วม ไฟเกือบไหม้ห้องของเธอซึ่งอยู่ที่บริเวณชั้นสอง เคราะห์ดีที่เพื่อนบ้านออกมาช่วยกันดับไฟก่อนจะลุกลาม ทำให้เธอกังวลว่าจะเกิดเหตุซ้ำขึ้นอีก

“บ้านที่อยู่อาศัยตอนนี้มันไม่สามารถที่จะขยายออกได้อีกแล้วมันสร้างมานานก่อนที่จะมีผังเมือง กทม. ตอนนี้ก็ต้องการสะท้อนว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ ท้องที่ หรือเขตจะสามารถเข้ามาดูแลได้แค่ไหน เพราะจะรื้อบ้านสร้างใหม่หรือเอาออกมันก็เป็นไปได้ยาก”

เช่นเดียวกับ พิบูลย์ แซ้เจียม ในวัย 76 ปี เขาเล่าว่า ครอบครัวของเขาอาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้มานานกว่า 3 ชั่วอายุคนแล้ว บ้านไม้ผสมปูนหลังที่เขาอยู่อาศัยมีอายุมากกว่า 100 ปี เขาผ่านเหตุการณ์ชุมชนย่านนี้ไฟไหม้มาหลายครั้งแล้ว ทำให้คนที่อาศัยอยู่ภายในชุมชนกังวล สิ่งที่ทำได้คือตื่นตัวและช่วยกันเฝ้าระวัง โดยเฉพาะสายไฟสายสื่อสารต่าง ๆ ที่ที่เริ่มเก่า อาจเป็นจุดเสี่ยงให้เกิดเหตุไฟไหม้

“สิ่งที่ทำได้คือการตื่นตัวและช่วยกันเฝ้าระวัง เพราะถ้าจะให้ย้ายออก ก็ยากเพราะ ทั้งชีวิต กินอยู่อาศัยและค้าขายในย่านสัมพันธวงศ์ และเยาวราชมานาน จึงอยากให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเร่งจัดระเบียบ ทั้งความปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะสายไฟสามารถเอาลงดินได้มากแค่ไหน”

ธงชัย โรจนกนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวางผังสถาปัตยกรรมผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ในขณะที่กรุงเทพมหานครเพิ่งมีผังเมืองรวมเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 และได้มีการปรับปรุงผังเรื่อยมา ซึ่งหมายความว่า ความแออัดก่อนนั้นไม่ได้ถูกจัดระเบียบใน กทม.และปริมณฑลยังมีชุมชนแออัดอีกจำนวนมาก ทั้งที่มีบ้านเลขที่ และไม่มี ซึ่งยากต่อการจัดระเบียบ

จึงเสนอว่า เวลานี้ กทม.อาจต้องใช้วิธีออกข้อบัญญัติท้องถิ่น เพื่อจัดระเบียบพื้นที่ในชุมชนใหม่ ควบคู่กับการจัดสรรการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม และไม่ให้มีการรุกล้ำเพิ่ม

สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ขณะนี้ มีชุมชนที่อยู่อาศัยค่อนข้างหนาแน่นใน กทม.หลายร้อยชุมชน พบว่ามีอย่างน้อย 10 ชุมชน ที่เสี่ยงสูงและต้องเฝ้าระวังปัญหาอัคคีภัย เพราะเป็นจุดที่รถดับเพลิงเข้าถึงยากหากเกิดเหตุ รวมทั้งยังมีสิ่งกีดขวางทางเดิน ไม่นับรวมสายไฟที่เก่าเสื่อมคุณภาพ ซึ่งมักจะเปลี่ยนใหม่ เมื่อเกิดเหตุแล้ว สิ่งที่ ปภ.กทม.ทำได้เวลานี้ คือการป้องกันปัญหา ด้วยการให้ความรู้ประชาชนรับมือเหตุเบื้องต้น เช่นการฝึกสอนดับเพลิงเบื้องต้น


ก่อนหน้านี้ก็มีข้อเสนอจาก ดุสิต สุขสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นักวิชาการที่เชี่ยวชาญเรื่องไฟฟ้าว่า ในภาวะที่ กทม.มีชุมชนหนาแน่น ซึ่งเสี่ยงไฟไหม้ และรอการจัดการอยู่ สิ่งที่อาจต้องทำควบคู่กันไป เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและความสูญเสีย ก็คือสร้างมาตรการช่วยตรวจสอบดูแลกันเอง เพราะไทยยังไม่มีมีมาตรฐานควบคุมอาคารบ้านเรือน เหมือนที่มีกับอาคารขนาดใหญ่

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์