ยื่นสภาแล้ว! แก้รัฐธรรมนูญ ปลดล็อกท้องถิ่น

คณะก้าวหน้า รวม 80,772 รายชื่อ ยื่นแก้หมวด 14 กระจายอำนาจ งาน และเงินสู่ท้องถิ่น เรียกร้อง ส.ส. – ส.ว. ผ่านกฎหมายยึดประโยชน์ประชาชน อย่ามองว่ามาจากพรรคใด

วันนี้ (11 ก.ค. 2565) ที่อาคารรัฐสภา คณะผู้ริเริ่มเชิญชวนเสนอกฎหมาย นำเอกสารการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน จำนวน 80,772 รายชื่อ ที่สนับสนุนแคมเปญ ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น ซึ่งเป็นการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 14 ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น มายื่นต่อประธานรัฐสภา โดยมี ผ่องศรี ธาราภูมิ ผู้เชี่ยวชาญประจำตัวประธานรัฐสภา เป็นตัวแทนผู้รับมอบหนังสือ

พรรณิการ์ วานิช ตัวแทนผู้เชิญชวนเสนอกฎหมาย กล่าวว่า เป้าหมายของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ คือ การยยุติรัฐราชการรวมศูนย์ ที่มีการรวมทรัพยากร งบประมาณ และอำนาจทุกอย่างไว้ที่ส่วนกลาง ให้เกิดการปลดล็อกท้องถิ่น หลุดพ้นจากการเป็นประเทศกำลังพัฒนา โดยมีภารกิจ 2 รูปแบบ คือ จากบนลงล่าง หมายถึง การแก้กฎหมายให้เกิดการกระจายทรัพยากรให้แก่ท้องถิ่น ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ และอีกรูปแบบ คือ จากล่างขึ้นบน หมายถึง การสร้างท้องถิ่นที่มีศักยภาพ มีความโปร่งใส และมีผู้บริหารที่พร้อมไปด้วยคุณภาพ มาสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชน ซึ่งประสบความสำเร็จไปแล้วหลายแห่ง กว่า 70 พื้นที่ทั่วประเทศไทย เกิดการแบ่งปันไอเดียการพัฒนาเมือง แต่การปลดล็อกท้องถิ่นจะสามารถทำได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้

“80,772 รายชื่อ เป็นรายชื่อที่เราภาคภูมิใจ เพราะเป็นครั้งแรกที่มีรายชื่อประชาชนครบทั้ง 77 จังหวัด ใช้เวลาเพียง 3 เดือน ซึ่งมีผู้ไม่ผ่านคุณสมบัติ เพราะ อายุไม่ถึงมากกว่า 3,000 คน แสดงให้เห็นความตื่นตัวในเรื่องนี้… พอกันทีกับการที่ประชาชนถูกละเมิดโดยรัฐส่วนกลาง ที่นั่งอยู่ในกรุงเทพฯ โดยไม่เข้าใจปัญหาความต้องการของคนในพื้นที่ เรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องของพรรคการเมืองใดจะได้ประโยชน์ แต่คือประชาชนทุกคนที่ได้ประโยชน์ หวังว่าผู้แทนราษฎรจะทำตามหน้าที่ของตนเอง ปลดล็อกท้องถิ่นไปพร้อมกัน”

พรรณิการ์ กล่าวต่อว่า แม้การพูดเรื่องการกระจายอำนาจ จะเข้าใจยาก และมีข้อมูลรายละเอียดมาก แต่เมื่อได้ลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจ สิ่งที่ทำให้ทุกคนเห็นภาพตรงกันได้ คือ การเลือกผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดด้วยตนเอง ที่ไม่ได้เป็นเพียงหัวใจของประชาธิปไตย แต่เป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศด้วย การยุติรัฐราชการรวมศูนย์ เป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นตรงกันว่าจะเกิดประโยชน์ และเป็นแนวนโยบายที่สำคัญตั้งแต่ครั้งพรรคอนาคตใหม่

พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล กล่าวขอบคุณทุกรายชื่อที่ร่วมสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ที่สะท้องให้เห็นถึงความตื่นตัว และอยากมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงประเทศของประชาชน โดยได้กล่าวถึงเนื้อหาสำคัญ ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อนำไปสู่การปลดล็อกท้องถิ่น และดึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยผ่าน 3 ข้อเสนอหลัก ได้แก่ อำนาจ งาน และเงิน

กระจายอำนาจ คือ ประชาชนต้องมีสิทธิเลือกผู้นำจังหวัดของตนเอง เพราะ จากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมา ทำให้จังหวัดอื่นตั้งคำถาม ว่าเหตุใดเขาถึงไม่มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ ของตนเอง แม้คนในจังหวัดอื่นจะมีสิทธิเลือกนายก อบจ. อบต. และเทศบาลก็ตาม แต่ผู้มีอำนาจสูงสุดยังคงเป็นผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้ง การแก้ไขเรื่องนี้ จะทำให้ผู้นำตอบสนองความต้องการของประชาชนมากขึ้น

การกระจายงาน คือ ให้ท้องถิ่นรับผิดชอบงานบริการสาธารณะทั้งหมดเป็นหลัก ยกเว้นเฉพาะบางเรื่องเท่านั้น เพราะ ปัจจุบันงานส่วนใหญ่ยังขึ้นกับส่วนกลาง และตัดสินใจโดยส่วนกลาง เช่น เรื่องสาธารณูปโภค หรือการศึกษา การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะไม่ระบุอย่างจำกัด แต่จะเขียนกฎหมายแบบ Negative list คือ เขียนเฉพาะเรื่องที่ยกเว้น ที่ไม่สามารถทำได้ เช่น การต่างประเทศ การทหาร หรือการออกสกุลเงินตนเอง ส่วนภารกิจที่ไม่ได้ยกเว้นไว้ ต้องทำได้ทั้งหมด เพื่อให้การบริหารงานของท้องถิ่นมีอิสรภาพมากขึ้น

และ กระจายเงิน หมายถึง การจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม เพราะ ปัจจุบันนี้การจัดสรรงบประมาณมาสู่ท้องถิ่น มีสัดส่วนเพียง 29% เท่านั้น นอกจากนั้นบางส่วนยังเป็นงบประมาณฝาก หมายถึงเป็นโครงการของส่วนกลาง แต่ฝากจ่ายผ่านท้องถิ่น ถ้าหักในส่วนงบประมาณฝากนี้ สัดส่วนรายได้จะอยู่ที่ 23% เท่านั้น การแก้รัฐธรรมนูญ จะเพิ่มสัดส่วนงบประมาณเป็น 50% และปลดล็อกให้ท้องถิ่นสามารถหารายได้เข้ามาสู่การบริหารมากขึ้น

“หวังว่าทั้ง ส.ส. และ ส.ว. จะเห็นชอบอย่างเพียงพอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เพราะ มีสมาชิกจำนวนมากที่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ โดยไม่อยากให้มองว่าร่างนี้ เป็นร่างของคณะก้าวหน้า หรือพรรคก้าวไกล แต่ให้มองเป็นร่างของประชาชน ที่ฝันอยากเห็นการกระจายอำนาจ และปลดล็อกท้องถิ่นให้เกิดขึ้นจริง…”

พริษฐ์ ทิ้งท้ายว่า ไม่ว่าความหวังในการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะได้รับการตอบสนองมากเพียงใด แต่ยืนยันว่า นโยบายการกระจายอำนาจจะเป็นนโยบายหลักของพรรคก้าวไกล และจพผลักดันเรื่องการปลดล็อกท้องถิ่นให้ถึงที่สุด แม้จะเกิดคำถามว่าการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ จะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่ตนเชื่อว่าการเมืองเป็นเรื่องของความเป็นไปได้ หวังว่าการผ่านกฎหมาย สมรสเท่าเทียม และสุราก้าวหน้า จะเกิดปรากฎการณ์เดียวกันกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ด้วย

ผ่องศรี กล่าวว่า โดยกระบวนการแล้ว ฝ่ายรับเรื่องจะต้องตรวจสอบความถูกต้องว่าเป็นไปตามหลักการตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อกับกรมการปกครอง ซึ่งปัจจุบันทำได้อย่างรวดเร็ว และไม่ล่าช้า และต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ตาม พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ต้องมีการประชุมร่วมกันของ ส.ส. และ ส.ว. เมื่อถูกต้องตามระเบียบ จะบรรจุวาระและพิจาณาต่อไป ซึ่งจะนำกราบเรียนเจตนารมณ์ของคณะสู่ประธานรัฐสภาต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้