“อย่ารอจนเตียงไม่พอ จะไม่ทันต่อสถานการณ์” หมอศิริราช เตือน​รัฐบาล

แนะกระชับมาตรการป้องกัน ออกข้อบังคับใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่ปิด ขณะที่ “ปลัด สธ.” ระบุ ยังพบการติดเชื้อโควิดระลอกเล็ก ยังไม่จำเป็นต้องยกระดับการแจ้งเตือน  

วันนี้ (5 ก.ค. 2565)  ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การระบาดโควิด-19 ของไทยเวลานี้ ไม่ได้แตกต่างจากหลายประเทศ ทั่วโลกที่พบการระบาดของ BA.4 BA.5 ไปแล้วกว่า 110 ประเทศ  

การรายงานตัวเลขติดเชื้อที่แท้จริงก็ต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากหลายประเทศเลิกตรวจหาเชื้อไปแล้ว  คนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ เมื่อมาถึงก็ตรวจน้อยลง โอกาสแพร่กระจายเชื้อจึงมากขึ้น คาดว่าไม่นานเชื้อ BA.4 BA.5 จะกลายเป็นสายพันธุ์หลัก แต่ข้อมูลทั่วโลกพบว่าเชื้อไม่ก่อความรุนแรง

สิ่งที่ต้องย้ำ คือ มาตรการต่างๆ ต้องกลับมากระชับมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ฉีดวัคซีนไม่ครบ โดยเฉพาะเข็มกระตุ้นที่ยังฉีดไปเพียง 42-43% จากที่ตั้งเป้าไว้50%  เพราะก่อนหน้านี้กลุ่มเสี่ยง 608 ที่ฉีดเข็มกระตุ้นเข็ม 3 ยังเสียชีวิต แต่ขณะนี้มีรายงานแม้ฉีด 4 เข็มก็เสียชีวิตได้ และไม่ต้องรอวัคซีนรุ่น 2 เพราะกว่าจะออกมาฉีดได้คาดว่าในช่วงปลายปี เพราะยังอยู่ในขั้นตอนทดลองมนุษย์ นอกจากนี้คงต้องกระขับมาตรการการใส่หน้ากาก การเว้นระยะห่าง และล้างมือด้วย

“วันนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยน อยากให้ผู้ใหญ่ในประเทศส่งสัญญาณ เพราะขณะนี้มีการติดเชื้อเพิ่ม อย่ารอจนเตียงไม่พอจะไม่ทันต่อสถานการณ์” 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ ยังเสนอให้รัฐบาลต้องกลับมากระชับมาตรการป้องกันให้มากขึ้นโดยเฉพาะการออกข้อบังคับให้ใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่ปิด ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ เป็นมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขคงจะต้องเสนอ ศบค.พิจารณา สอดรับกับหนังสือที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขสั่งการถึงผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทุกเขตเตรียมพร้อมให้หน่วยบริการสุขภาพรับมือผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น เป็นมาตรการที่ต้องรีบทำ

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ประเมินสถานการณ์เวลานี้อาจจะไม่รุนแรงเหมือนช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ปัจจัยมาจากคนฉีดวัคซีนไปค่อนข้างมาก และตัวเชื้อไม่ได้รุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น แต่เชื้อตัวนี้แพร่ระบาดเร็วมาก หากแพร่เร็วจนเพิ่มจำนวนมากก็เสี่ยงที่เกิดการกลายพันธ์ุได้ 

ส่วนสถานการณ์ผู้ป่วยโควิดในโรงพยาบาลศิริราชว่า ยอมรับผู้ป่วยโควิดเข้ามารักษาเพิ่มขึ้นจริง โดยเฉพาะผู้ป่วยไอซียูที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งผู้ป่วยเหล่านี้มาด้วยโรคประจำตัว เมื่อมาตรวจกลับพบเป็นโควิดร่วมด้วย ขณะนี้เตียงรองรับผู้ป่วยโควิดยังเพียงพอ แต่ก็ไม่ได้วางใจ และเตรียมรับมือกับสถานการณ์อยู่ 

ขณะที่ผู้ป่วยระดับสีเขียวเข้ามารักษาเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่จากการติดตามอาการหลังกินยา 4-5 วันก็หาย ไม่ได้รุนแรง

สธ.ชี้ ยังไม่จำเป็นต้องยกระดับการแจ้งเตือน

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการผ่อนคลายมาตรการ เปิดกิจการและกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงมีการเปิดประเทศ ทำให้มีผู้เดินทางเข้าประเทศมากขึ้น อาจพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นระลอกเล็กๆ (Small Wave) ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่จะไม่ใช่การระบาดใหญ่ โดยกระทรวงสาธารณสุขมีการเตรียมความพร้อมรองรับตามแนวทาง 3 พอ คือ หมอพอ เตียงพอ ยาและเวชภัณฑ์พอ

“ขอความร่วมมือประชาชนในการคงมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล จะช่วยลดการติดเชื้อและหยุดระลอกเล็กๆ เหล่านี้ลงได้”

นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ปลัด สธ. ยังกล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังคงแจ้งเตือนภัยโควิด 19 ในระดับ 2 ยังไม่จำเป็นต้องยกระดับการแจ้งเตือน โดยในการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดเน้นตามมาตรการ 2U ได้แก่ Universal Prevention คือ มาตรการป้องกันโรคทั้งเว้นระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากาก 

โดยแม้จะมีการออกประกาศให้สวมหน้ากากโดยสมัครใจ แต่แนะนำให้ยังต้องสวมในกลุ่มผู้ติดเชื้อ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง กลุ่มที่เสี่ยงติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง รวมถึงยังต้องสวมเมื่อไม่สามารถเว้นระยะห่างจากผู้อื่นได้ การเข้าร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก การอยู่ในสถานที่เสี่ยงหรือสถานที่แออัด 

และ Universal Vaccination คือ มาตรการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม โดยเฉพาะเข็มกระตุ้น เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ช่วยป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต ทำให้ลดการเข้ารักษาเป็นผู้ป่วยหนักในโรงพยาบาล และระบบสาธารณสุขสามารถรองรับได้

อนุทิน ยันต้องเดินหน้าเศรษฐกิจ 

ขณะที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ ถึงการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ว่าระบบการคัดกรองผู้ป่วยที่ติดเชื้อ การรักษาพยาบาล การดูแล ป้องกัน ยังมีประสิทธิภาพที่สูง มาตรการต่างๆ ได้ผ่อนคลายเพื่อให้เกิดความสะดวกสูงสุด ซึ่งประเทศไทยยังได้รับความร่วมมือและความตระหนักจากประชาชน อยู่ในระดับที่สูงกว่าหลายประเทศ ทำให้เรากล้าตัดสินใจเดินหน้า

“บางประเทศ หน้ากากอนามัยขายไม่ออกแล้ว ไม่มีการใส่หน้ากากอนามัย แม้มีการติดเชื้ออย่างมากมาย เขาอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ มั่นใจในเรื่องของความรุนแรงของโรค “

อนุทิน กล่าว

รมว.สธ. ยังมั่นใจว่าไทยมีศักยภาพเพียงพอในการที่จะให้การดูแล รักษาผู้ติดเชื้อได้ เพราะฉะนั้น จะพยายามทุกอย่างให้เศรษฐกิจ ได้ขับเคลื่อนไป โดยไม่เกิดสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS