‘นพ.ยง’ ชี้ โควิด-19 ขาลง จ่อเข้าสู่โรคตามฤดูกาล

แนะฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ / โควิด-19 ก่อนเปิดเทอมทุกปี ด้าน ผอ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มช. ระบุยอดป่วยตายจากโอมิครอนผ่านจุดพีคแล้วเมื่อ 1 พ.ค. 2565 คาดว่าสัปดาห์นี้ลดลง ลุ้นใกล้เคียงไข้หวัดใหญ่  

วันนี้ (17 พ.ค.​ 2565)  ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า จากข้อมูลการระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ในภาวะขาลง และการระบาดต่อไปในอนาคตก็น่าจะมีฤดูกาลคล้ายกับไข้หวัดใหญ่

เมื่อย้อนไปดูการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009  จะมีการระบาดอย่างมากในปีแรก และต้นปีที่ 2  หลังจากนั้นก็เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009  ก็ยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ ดังแสดงในรูป

ไข้หวัดใหญ่ระบาดในแต่ละปี ขึ้นอยู่กับชนิดสายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่ ที่มีทั้งไข้หวัดใหญ่ A และ B การระบาดในแต่ละปี พบได้ตลอดทั้งปีแต่จะพบมาก ตามฤดูกาล  

“โดยมีช่วงสูงสุดระยะแรกหลังเปิดเทอมแรกในฤดูฝน ที่มีโรคทางเดินหายใจสูง และจะสงบลงเมื่อเข้าสู่ช่วงตุลาคม พฤศจิกายน และจะพบการระบาดขึ้นช่วงที่ 2 แต่ต่ำกว่า ในเดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคม และเมื่อเด็กปิดเทอมเข้าสู่ฤดูร้อน โรคทางเดินหายใจก็จะลดลง และจะไปเพิ่มขึ้นอีกเมื่อเปิดเทอม เป็นไปตามฤดูกาลมาโดยตลอด”

นพ.ยง ระบุอีกว่า ทำนองเดียวกัน เราก็เชื่อว่าการระบาดของโควิด-19  ในอนาคต ในปีต่อๆไป ก็น่าจะมีรูปแบบที่คล้ายกัน การให้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ช่วงระยะเวลาที่ให้ดีที่สุดจึงเป็นก่อนเปิดเทอมแรก ให้มีภูมิต้านทานที่สูงในการป้องกันในช่วงฤดูฝน

ขณะเดียวกัน เมื่อเปิดเทอม โรคโควิด-19 ก็จะเพิ่มสูงขึ้น และถ้าต่อไปโรคโควิด-19 จำเป็นต้องให้วัคซีนทุกปี ช่วงที่ให้วัคซีนดีที่สุด ควรจะเป็นช่วงก่อนที่นักเรียนจะเปิดเทอม 

ลุ้นอัตราเสียชีวิตโควิด-19 ต่ำใกล้เคียงไข้หวัดใหญ่ 

ด้าน ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์ฟซบุ๊ก ระบุว่า โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนทำให้มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 57 คนต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าเดลต้า (100 รายต่อวัน) ประมาณ 1.8 เท่าโดยผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคประจำตัว และส่วนใหญ่ไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือฉีดไม่ครบตามกำหนด

โดยจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันจากโอมิครอนได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. 2565 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 129 คน และค่อยๆลดลงตามลำดับจนถึงเช้านี้(17 พ.ค.) เหลือเพียง 38 คนเท่านั้น คาดว่าสัปดาห์นี้น่าจะลดลงอย่างต่อเนื่องต่อไป

การติดเชื้อโอมิครอนในประเทศไทยมีอัตราการป่วยตายค่อนข้างต่ำคือ 0.09-0.50% (เฉลี่ย 0.20%) ซึ่งต่ำกว่าเดลต้าที่มีอัตราการป่วยตาย 0.47-1.43% (เฉลี่ย 0.84%) ประมาณ 4.2 เท่า แต่ก็ยังถือว่าสูงกว่าโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลซึ่งมีอัตราการป่วยตายประมาณ 0.1-0.2% 

อย่างไรก็ตาม อัตราการป่วยตายจากโอมิครอนในประเทศไทยได้ผ่านจุดสูงสุด(0.50%) ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2565 และมีแนวโน้มต่ำลงอย่างช้าๆจนถึงเช้านี้ลดเหลือ 0.40% คาดว่าสัปดาห์นี้น่าจะลดลงอย่างต่อเนื่องต่อไป และน่าจะลงมาใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในที่สุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS