เผยยากจะยอมรับได้ หลังเด็กไม่มีโรคประจำตัวเสียชีวิตจากโอมิครอน 22 คน ขณะที่กุมารแพทย์ รพ.รามา ระบุเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีติดเชื้อเสี่ยงเสียชีวิต เผยตปท.วิจัยวัคซีนเด็ก 6 เดือน ผลยังไม่น่าพอใจ แนะผู้ปกครองทำตัวให้ปลอดเชื้อ
การระบาดสายพันธุ์โอมิครอน ตั้งแต่ต้น เดือน ม.ค. เป็นต้นมาจนถึงขณะนี้ (26 เม.ย.2565) ข้อมูลเบื้องต้นจากกระทรวงสาธารณสุข มีเด็กเสียชีวิต 51 คนพบว่า
- อายุน้อยกว่า 5 ปี 39 คน มีโรคประจำตัว 19 คน,ไม่มีโรคประจำตัว 10 คน
- อายุ 5 ปีขึ้นไป 12 คน ไม่มีโรคประจำตัว
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา โพสต์เฟซบุ๊ก แสดงความคิดเห็นในประเด็นความรุนแรงของโรค โควิด-19 ในเด็ก ถึงแม้ดูตัวเลขที่ป่วยและเสียชีวิตในเด็กจะมีจำนวนน้อย แต่ถ้าเป็นเด็กปกติแล้วเสียชีวิต โดยทั่วไปจะไม่เป็นที่ยอมรับ ยกตัวอย่างเช่นไข้เลือดออก อัตราการป่วยตาย ก็ไม่ได้มากเหมือน โควิด-19 ในเด็ก แต่เด็กที่เสียชีวิตจะเป็นเด็กที่แข็งแรงดีมาก่อน และเกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว โดยทั่วไปจึงไม่เป็นที่ยอมรับ และทำใจไม่ได้
โควิด-19 ในเด็กถ้ามองดูจากสถิติ จะเห็นความสำคัญของเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี เป็นอย่างมาก มีเด็กปกติแข็งแรงดี ต้องเสียชีวิตจากโควิด 19 จึงจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เด็กกลุ่มดังกล่าวในประเทศไทย ปัจจุบันไม่มีวัคซีนที่ให้ในเด็กกลุ่มนี้ เพื่อลดความรุนแรงของโรคลง
เมื่อดูอัตราการป่วยตาย จะพบว่าในเด็กอายุเกิน 5 ปี อัตราการป่วยตายจะอยู่ที่ 1 ในหมื่นที่ป่วย เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กเล็ก 0-4 ปี อัตราการป่วยตาย ในเด็กปกติที่ไม่มีโรคประจำตัวจะอยู่ที่ 3 ในหมื่นราย และเด็กที่มีโรคประจำตัวจะอยู่ที่ 5 ในหมื่นรายที่เป็นโควิด -19
จีนเริ่มฉีดวัคซีนให้เด็ก 3 ปีขึ้นไป
ศ.นพ.ยง ระบุอีกว่าในหลายประเทศ มีการฉีดวัคซีนให้เด็กตั้งแต่อายุ 3 ปีขึ้นไป เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในประเทศจีน ที่เป็นที่ยอมรับ โดยเป็นวัคซีนเชื้อตาย มีความปลอดภัย ซึ่งมีการเผยแพร่ในวารสาร Lancet การตัดสินใจจะเอาวัคซีนมาใช้ในเด็ก 3-5 ปี ในประเทศไทยยังขึ้นอยู่กับหลายหน่วยงาน
“เราให้ความสำคัญกับชีวิตของเด็ก ดังนั้น ทุกคนจะต้องช่วยกัน ปกป้องชีวิตอันน่ารักของเด็กโดยเฉพาะเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี”
นพ.ยง ระบุ
เด็กเล็ก 0-5 ปีกลุ่มเสี่ยงโอมิครอน
ด้าน รศ.นพ.นพพร อภิวัฒนากุล อาจารย์หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เปิดเผยกับ The Active ถึงสาเหตุที่มีเด็กเล็กมีอัตราการตายเพิ่มสูงขึ้นในการระบาดระรอกโอมิครอน โดยตั้งข้อสังเกตว่า 1.สายพันธุ์ที่เปลี่ยนไปอาจมีส่วนต่อเนื่องเนื่องจากสายพันธุ์ดั้งเดิม เด็กติดเชื้อแทบไม่มีอาการ ขณะที่สายพันธุ์เดลต้าเด็กเริ่มมีอาการ และสายพันธุ์โอมิครอนก็มีอาการเช่นกัน 2. สายพันธุ์โอมิครอนเป็นสายพันธุ์ที่ติดได้ง่าย เมื่อฐานจำนวนผู้ติดเชื้อมาก ก็จะทำให้มีอัตราส่วนการเสียชีวิตมากตามไปด้วยเช่นกัน แม้เชื้อจะไม่รุนแรง และ 3. เด็กเล็ก 0-5 ปียังไม่มีวัคซีนที่จะฉีดให้กับเด็กกลุ่มนี้
รศ.นพ.นพพร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยวัคซีนกับเด็กเล็กอายุ 6 เดือนในต่างประเทศแต่ผลยังไม่เป็นที่น่าพอใจ จึงต้องใช้เวลาในการศึกษาต่อไป แต่คาดว่าอนาคตจะมีวัคซีนสำหรับเด็กเล็กอย่างแน่นอน ขณะที่แนวทางในการป้องกันที่ดีที่สุดในตอนนี้คือผู้ปกครองต้องทำตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ โดยเข้มงวดในมาตรการทางสาธารณสุข เว้นระยะห่าง ล้างมือใส่หน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด และฉีดวัคซีนตามกำหนด
“หากผู้ใหญ่ไม่ติดเชื้อ ก็จะไม่นำเชื้อมาติดกับกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งน่าเป็นห่วงมากสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีลงไป ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงหากติดเชื้อมีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้สูง”
นพ.นพพร กล่าว