กรมการแพทย์เผยป่วยหนักครองเตียง 35.8% ศบค. เปิด 12 จังหวัด โควิด-19 ขาลงลุ้นโรคประจำถิ่น

ห่วงกลุ่มเด็กเล็ก ยังไม่ฉีดวัคซีนติดเชื้อเสี่ยงเสียชีวิต – ภาคอีสานแชมป์ครองเตียง ตายพุ่ง คาดฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไม่ตามเป้า จับตา 1 สัปดาห์ก่อนสิ้นเม.ย.นี้ หากไม่ติดเชื้อมากกว่านี้ ระบบสาธารณสุขรับได้

วันนี้ (22 เม.ย. 2565) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้น หลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ผ่านไป 1 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย โดยการติดเชื้อในเด็กมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการติดเชื้อเดือนมกราคม ส่วนกลุ่มที่เสียชีวิต อาการหนักยังเป็นกลุ่มสูงวัยกลุ่มเปราะบาง มีโรคเรื้อรัง ติดบ้านติดเตียง ที่รับเชื้อจากคนใกล้ชิด  

สำหรับการเสียชีวิตในเด็ก พบว่า มากกว่า 50% เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี ส่วนใหญ่มีโรคร่วม และเกือบทั้งหมด ไม่มีข้อมูลได้ฉีดวัคซีน ด้านการรักษาขณะนี้ทั่วประเทศมีเตียงรักษาโควิดประมาณ 1.8 แสนเตียง อัตราครองเตียงประมาณ 35.8% นับว่ายังเพียงพอ 

“การระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้มีแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นจากก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่วนมากเป็นกลุ่มอาการสีเขียว การรักษาผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงเป็นรูปแบบ Home Isolation และแบบผู้ป่วยนอก หรือ เจอ แจก จบ จึงยังมีเตียงรองรับกลุ่มอาการหนัก” 

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์  อธิบดีกรมการแพทย์

สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 เป็นไปตามแนวทางการรักษา  (CPG) ของกรมการแพทย์ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม 

  1. กลุ่มที่ไม่มีอาการหรือสบายดี ไม่ต้องกินยาต้านไวรัส อาจให้ยาฟ้าทลายโจรขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ 
  2. กลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบไม่มีปัจจัยเสี่ยง พิจารณาให้ Favipiravir เร็วที่สุด 
  3. กลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยง ต่อโรครุนแรงหรือกลุ่มที่ มีปอดอักเสบ แต่ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน พิจารณาให้ยาต้านไวรัสเร็วที่สุด ตัวใดตัวหนึ่ง ตาม CPG ของกรมการแพทย์  ได้แก่  Favipiravir หรือ Remdesivir หรือ Molnupiravir หรือNirmartelvir/Ritonavir (Paxlovid) โดยประเมินจากประวัติวัคซีนและปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง 
  4. กลุ่มที่มีอาการปอดอักเสบต้องได้รับการรักษาด้วยออกซิเจน พิจารณาให้ Remdesivir  เร็วที่สุด 

ทั้งนี้ การรักษาในผู้ป่วยกลุ่มเด็ก มีแนวทางรักษา คือ การให้ยา Favipiravir ชนิดเม็ดและชนิดน้ำ ในกลุ่มอาการไม่รุนแรง และ Remdesivir ในกลุ่มอาการปานกลางถึงรุนแรง ส่วนการรักษาในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์  มีแนวทางคือ การให้ยาRemdesivir และอาจพิจารณาให้ Favipiravir ในไตรมาสที่ 2-3 พิจารณาเป็นกรณี ทั้งนี้ การรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ โรคประจำตัวและประวัติการได้รับวัคซีน เพื่อให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด

ภาคอีสานครองเตียง-ตายเยอะสุด 

กรมการแพทย์เปิดเผยการใช้เตียงภาพรวมพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะครองเตียงสูงกว่าที่อื่นๆ รวมถึงอัตราเสียชีวิตด้วย ซึ่งจะสอดคล้องกับอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น ที่ฉีดได้น้อย โดยเฉพาะกลุ่ม 608 เช่น ร้อยเอ็ดครองเตียงรวม 73.9% ขอนแก่น 83.34%  แต่ก็มีการบริหารเตียงระดับ 3 และ 2 อย่างเช่น อุดรธานี ขยายเตียงเพิ่มด้วยการนำเตียงผู้ป่วยทั่วไปมารองรับ

อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาอีก 1 สัปดาห์ ช่วงก่อนสิ้นเดือนเมษายนนี้ ซึ่งจะเป็นตัวเลขจริงๆ ที่เกิดขึ้นจากเทศกาลสงกรานต์ หากไม่พุ่งขึ้นมาก จะสามารถรองรับได้ ส่วนภาพรวมเตียงกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตัวเลขคงตัว การเสียชีวิตมีแนวโน้มลดลง คาดว่าเพราะฉีดวัคซีนกระตุ้นได้ตามเป้า

เช็กแนวโน้มรายจังหวัดโควิดขาขึ้น – ขาลง 

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ระบุวันนี้ (22 เม.ย. 2565) มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 21,808 คนไม่นับรวม ATK อีกเท่าตัว ขณะที่อาการหนัก 1,985 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 915 คน และมีผู้เสียชีวิต 128 คน การเข้าสู่โรคประจำถิ่น อัตราการเสียชีวิตต้องไม่เกิน 0.1% ต่อเนื่องกัน 2 สัปดาห์ ขณะนี้ไทยอัตราการเสียชีวิตระลอกโอมิครอน เฉลี่ยเฉพาะยอด RT-PCR คือ 0.31% 

สำหรับประเทศไทยการปรับโควิด-19 จากโรคระบาดร้ายแรงเข้าสู่โรคประจำถิ่น ยังเป็นระยะที่ต้องต่อสู้ สถานการณ์แต่ละจังหวัดแตกต่างกัน ดังนี้

ขาขึ้น ระยะต่อสู้ 21 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน แพร่ ลำปาง พิษณุโลก สุโขทัยกำแพงเพชร นครสวรรค์ สกลนคร บึงกาฬ เลย อุดรธานี ขอนแก่น นครพนมหนองคาย ยโสธร มหาสารคาม ศรีสะเกษ นนทบุรี นครนายก กาญจนบุรี และอุทัยธานี

ระยะทรงตัว 44 จังหวัด ได้แก่ กทม. แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ น่าน เพชรบุรณ์ อุตรดิตถ์ พะเยา พิจิตร ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สิงห์บุรี ลพบุรีตาก สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ราชบุรี นครปฐม อ่างทอง สระบุรีประจวบคีรีขันธ์ สุพรรณบุรี พัทลุง พังงา ชุมพร ชลบุรี สมุทรปราการ มุกดาหารฉะเชิงเทรา จันทบุรี ระยอง ปราจีนบุรี ตราด สระแก้ว หนองบัวลำภู อำนาจเจริญอุบลราชธานี นคราชสีมา ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์

ระยะขาลง 12 จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ ได้แก่ เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี กระบี่ระนอง ตรัง นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส

ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ประธานหลักสูตรระบาดวิทยา ม.อ.หาดใหญ่ เคยวิเคราะห์ไว้ก่อนแล้วว่าช่วงหลังสงกรานต์ จะต้องแยกประเมินเป็นรายจังหวัดโดยจังหวัดที่ติดเชื้อเป็นขาขึ้นเพราะที่ผ่านมา ติดเชื้อน้อย ขณะที่จังหวัดที่ติดเชื้อขาลงเป็นเพราะติดเชื้อเยอะแล้ว เป็นไปทฤษฎีโรคระบาด ที่โรคจะค่อยๆสงบลงก็ต้องเมื่อมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากแล้ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS