เปิดใจ “หมอวิชช์” ผู้เสนอจ่าย 500 บาทจูงใจผู้สูงอายุฉีดวัคซีน

หมอวิชช์เผยเสนอไอเดียมาแล้วเกือบเดือนก่อนถึงสงกรานต์ ยืนยันว่าคุ้มค่าลงทุน พันล้านช่วยชีวิตคนได้พันคน อย่าหวังภูมิคุ้มกันหมู่จากลูกหลานแม้ฉีดวัคซีนครบก็ติดและแพร่เชื้อได้ แพทย์ชนบทคาดยอดตายแตะร้อยอีกเป็นเดือน 

จากกรณี ชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ข้อเสนอถึงรัฐบาล วันที่ 11 เม.ย. 2565 ในการลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิดในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีอัตราเสียชีวิตสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยควรจัดงบประมาณเพื่อโอนเงินตรงเข้าบัญชีของผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีนและมารับวัคซีนในช่วงรณรงค์เป็นค่าเดินทางเข็มละ 500 บาท (หรือมากกว่า) รวมคนละ 2 เข็ม คิดเป็นงบประมาณคนละ 1,000 บาท หากตั้งเป้าหมายที่ผู้สูงอายุ 1 ล้านคน (50% ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน) ก็จะใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งคุ้มค่ากว่าเอามาจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลหรือ ICU เมื่อป่วยติดเชื้อ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่อคนสูงหลายหมื่นหรือหลายแสนบาท

วันนี้ (12 เม.ย. 2565)  ผศ.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล  ที่ถูกอ้างถึงในโพสต์ของชมรมแพทย์ชนบทว่าเป็นผู้คิคข้อเสนอดังกล่าว เปิดเผยกับ The Active ว่า ได้เสนอเรื่องนี้ไปเกือบเดือนแล้วก่อนที่จะถึงเทศกาลสงกรานต์เพราะว่าคนที่ไม่ฉีดวัคซีนเลยมีอัตราเสี่ยงที่จะเสียชีวิตถึง 10 เท่า และในสงกรานต์ปีนี้เราไม่มีมาตรการจำกัดการเดินทางเหมือนปีที่ผ่านมา ก็ต้องหวังพึ่งวัคซีนจะเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยรักษาชีวิตเอาไว้ได้ 

“ถ้าจะหวังเรื่องภูมิคุ้มกันหมู่จากวัคซีน คือลูกหลานฉีดกันครบทุกคนแล้ว ผู้สูงอายุจะไม่ติดเชื้อไปด้วย ก็คงจะหวังไม่ได้ เพราะทุกวันนี้คนที่ฉีดเข็มสองเข็มสามเข็มก็ยังติดเชื้อและแพร่เชื้อต่อได้”

เมื่อถามว่าคุ้มหรือไม่กับการใช้เงินเพื่อจูงใจผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีนเพราะแต่ละคนก็ควรรับผิดชอบชีวิตตัวเองด้วยในขณะที่รัฐก็ให้บริการวัคซีนอย่างเต็มที่ที่สุดแล้ว นพ.วิชช์ บอกว่า ข้อเสนอนี้มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเข้มข้นในการฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น ที่ผ่านมาเราขยับให้เกิดความเข้มข้นของการฉีดวัคซีนจากการรณรงค์ให้ลูกหลานบอกผู้ใหญ่ในบ้านหลัง จากนั้นก็มีการแจกของต่าง ๆ ไปแล้ว ก็เหลือแต่การจ่ายงบประมาณ ที่อาจจะทำให้ความเข้มข้นในการฉีดวัคซีนเพิ่มสูงขึ้นได้ ถ้าเราไม่จ่ายเป็นเงิน จะแจกเป็นสลากรัฐบาลจะผิดกฎหมายหรือไม่เพราะถือเป็นการเสี่ยงโชค 

“เราเสนอมาเกือบเดือน แต่ก็ถึงสงกรานต์แล้ว อาจจะช้าไป แต่ถ้าพูดถึงว่าคุ้มค่าหรือไม่ ผมคิดว่าลงทุน 500ล้าน หรือ 1,000 ล้านแล้วเซฟชีวิตคนได้ พันคนก็ถือว่าคุ้ม เพราะชีวิตนี่ถือว่ามีคุณค่ามาก นอกจากจะคิดว่าชีวิตคนไทยมันราคาถูก” 

แพทยชนบท คาดอาจมีผู้เสียชีวิตเกินร้อยเป็นเดือน 

หากตั้งเป้าหมายที่ผู้สูงอายุ 1 ล้านคน (50% ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน) ก็จะใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งคุ้มค่ากว่าเอามาจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลหรือ ICU เมื่อป่วยติดเชื้อ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่อคนสูงหลายหมื่นหรือหลายแสนบาท

ที่ผ่านมาผู้ที่เสียชีวิตเกือบทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว และส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีนสักเข็ม ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่า มีผู้สูงอายุเกิน 60 ปีที่ยังไม่ได้รับวัคซีนสักเข็มอีก 2 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงกลุ่มใหญ่มาก ดูจากยอดจำนวนผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ชมรมแพทย์ชนบท คาดว่าประเทศไทยจะมีผู้เสียชีวิตหลักวันละเกิน 100 คนไปอีกนับเดือน

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่า กรมควบคุมโรค เคยทำการบ้านและนำเสนอใน ศบค.ชุดเล็กแล้ว แต่ไม่ผ่าน น่าจะเป็นเพราะเห็นตัวเลขงบพันล้านจึงยังไม่ซื้อ แต่ข้อเสนอนี้ระดับนโยบายสูงสุดอาจจะยังไม่ทราบก็เป็นได้ งบประมาณพิเศษ 1,000 ล้านบาท สำหรับจูงใจหรือให้กำลังใจผู้สูงอายุ 1 ล้านให้ได้รับวัคซีน 2 เข็ม คือข้อเสนอเชิงนโยบายที่ชมรมแพทย์ชนบทและเครือข่าย อยากจะฝากให้ทางรัฐบาลพิจารณาอย่างจริงจัง

“เราจะปล่อยให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตวันละ 100 ขึ้นทุกวันแบบยอมจำนนโดยไม่ทำอะไรเพิ่มเลย คงไม่ได้” 

โควิดไทยอยู่ระดับสีเหลือง อาจติดเชื้อพุ่งวันละแสน

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงคาดการณ์สถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทย หลังเทศกาลสงกรานต์วันนี้ ว่า เส้นกราฟ3 สี คือ สีเขียว ระดับดีที่สุด สีเหลือง สถานการณ์ที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น และสีแดง ระดับเลวร้ายที่สุด ขณะนี้ ผู้ติดเชื้อรายใหม่หากนับจากที่ยืนยันด้วยวิธี RT-PCR จะอยู่ระดับเส้นสีเขียว แต่ข้อมูลผู้ป่วยปอดอักเสบอยู่ระหว่างเส้นสีเขียวและเหลือง และ ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ อยู่ระดับเกินสีเหลือง และผู้เสียชีวิต อยู่ระดับใกล้เส้นสีเหลือง

ภาพรวมสถานการณ์ขณะนี้พบว่า อยู่ระดับใกล้เส้นสีเหลือง โดยความร่วมมือของประชาชนยังอยู่ระดับที่ดี หากคงมาตรการไว้ได้ ก็จะสามารถคุมการระบาดต่อเนื่องได้จนถึงสงกรานต์ จากนั้น ช่วงสงกรานต์หากมีการหย่อนยานมาตรการอาจจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงขึ้นได้ ช่วงสงกรานต์จึงเป็นเหตุการณ์สำคัญในการรับมือการระบาด

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สธ.ขอความร่วมมือประชาชน โดยก่อนเดินทางให้ Self-Clean Up ตัวเอง งดกิจกรรมเสี่ยงอย่างน้อย 7 วัน ตรวจ ATK และฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ช่วงระหว่างงานสงกรานต์ 2565 มีข้อปฏิบัติ คือ 1.สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ร่วมกิจกรรม 2. ล้างมือบ่อยๆ 3. เว้นระยะห่างเมื่อไปในที่มีคนหนาแน่น เช่น วัด ตลาด ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า 4. งดกิจกรรมการสัมผัสใกล้ชิดหรือใช้สิ่งของร่วมกัน 5. เลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มร่วมกันเป็นเวลานาน และ 6. ผู้สูงอายุควรได้รับวัคซีนให้ครบก่อนร่วมกิจกรรม 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS