หวั่น ‘ทรัมป์’ หนุนพลังงานฟอสซิล สะเทือนช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ ‘พลังงานสะอาด’ ทั่วโลก

นักรณรงค์ กรีนพีช ประเทศไทย ย้ำนโยบาย ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ สนับสนุนน้ำมัน และชะลอการผลิตพลังงานหมุนเวียน อาจกระทบไทย เมื่อราคาน้ำมัน ไฟฟ้า ในไทยยังผันผวนตามตลาดโลก การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียน จึงจำเป็นต่ออนาคต

จริยา เสนพงศ์ หัวหน้างานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย เปิดเผยกับ The Active ถึงทิศทางพลังงานโลกหลัง โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 2 เป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นผู้ที่เคยให้คำสัญญาว่าจะลดการลงทุนด้านพลังงานสะอาด และเริ่มแผนการ “Drill, Baby, Drill” เพิ่มการขุดเจาะเพื่อธุรกิจก๊าซและน้ำมัน

“ทรัมป์ เขาก็ประกาศไป คือเขาจะเผาฟอสซิลอย่างเต็มอัตรา กับประเด็นที่เขาไม่เชื่อปรากฏการณ์โลกเดือดเหล่านี้”

จริยา เสนพงศ์

คาดหมายนโยบายพลังงานสหรัฐฯ สะเทือนไทย

จริยา ยังระบุว่า เวลาพูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ของสหรัฐฯ แต่มิติการเมืองแต่ละประเทศ สะท้อนแนวทางเดียวกับสหรัฐฯ เหมือนกัน อย่างของไทย ทุกอย่างอยู่ที่นโยบายที่เอามาเสนอและมาใช้เป็นหลัก

จริยา เสนพงศ์ หัวหน้างานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย

โดยยกตัวอย่างราคาค่าไฟไทย ว่า อุตสาหกรรมก๊าซ ฟอสซิล ประเทศไทยเน้นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG จากรอบโลก ที่ไทยตามซื้อจากที่ต่าง ๆ มาตลอด 20 ปี ซึ่งราคาเชื้อเพลิงในตลาดฟอสซิลก็ผันผวนตามความต้องการในตลาดทั่วไป โดยที่ LNG มีความผันผวนสูงเพราะการซื้อขายแต่ละครั้งไม่ได้ถูกตรึงราคาไว้ 

การขุดเจาะน้ำมันเพิ่มในสหรัฐฯ อาจทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง แต่ไม่แน่นอนว่าจะส่งผลให้ราคาน้ำมัน หรือค่าไฟในไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อราคา เช่น การนำเข้าและตลาดก๊าซธรรมชาติโลก และการจัดการภายในประเทศ

จริยา อธิบายต่อว่า การขุดเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มมากขึ้นไม่ได้แปลว่าราคาไฟฟ้าจะถูกลงแต่อย่างใด เพราะหากมองว่า บริษัทน้ำมันนานาชาติเหล่านี้ต้องดำเนินการขุดมากขึ้น ก็อาจแปลว่า พวกเขาต้องการกำไรมากขึ้นเช่นเดียวกัน

“อุตสาหกรรมฟอสซิลไม่เคยขาดทุนนะ ในมิติการใช้ผลิตไฟฟ้า เราเห็นแต่กำไรที่มันโตขึ้นในทุก ๆ ปี ถ้าเราใช้พลังงานฟอสซิลเป็นหลัก มันไม่ได้หมายความว่าการผลิตมากขึ้นจะทำให้ราคาไฟฟ้าถูกลง ต้องพูดในมิติที่ว่า มันคือการทำกำไรของอุตสาหกรรมเหล่านั้นมากขึ้นด้วยเช่นกัน”

จริยา เสนพงศ์

ถึงแม้สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีที่ไม่เชื่อเรื่องภาวะโลกเดือดอย่าง ทรัมป์ จะมีท่าทีชะลอการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด แต่ยังมีอีกหลายประเทศรอบโลก ที่กำลังพยายามปลดระวางถ่านหิน อย่างประเทศชิลี ที่ได้รับเงินสนับสนุนมาเปลี่ยนนโยบายการลงทุนทดแทนถ่านหิน หรือประเทศในประชาคมอาเซียน อย่าง อินโดนิเซีย และเวียดนาม นั้นเข้าโครงการ Just Energy Transition Partnership หรือความร่วมมือการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างเป็นธรรม ที่นำเงินทุนมาหันนโยบายสู่พลังงานหมุนเวียน และการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ใน ค.ศ. 2050 

จริยา ยอมรับว่า ไทยยังไม่ได้มีความคืบหน้าในการจับมือกับประเทศอื่น ๆ แม้จะเป็นทางออกสู่การปลดระวางถ่านหิน การใช้พลังงานหมุนเวียนไทยได้ 

“ไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการเข้าไปร่วมมือตรงนั้น เพื่อเอาเงินมาใช้ในการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ จริง ๆ เป็นก้าวแรกที่ไทยสามารถทำได้ ก็จะเป็นโมเดลที่สำคัญว่า ไทยก็จะเริ่มที่จะปลดระวางถ่านหินได้ เป็นสิ่งที่ไทยทำได้อยู่แล้ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านในภาคส่วนไฟฟ้าได้มากขึ้น”

จริยา เสนพงศ์

หน.งานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย บอกอีกว่า การขุดเจาะน้ำมันมักถูกโยงมาสู่ภาวะสภาพภูมิอากาศสุดขั้วที่กำลังประสบอยู่ ไม่ว่าจะน้ำท่วม พายุ หรือภัยแล้ง นำไปสู่วาระสำคัญของการประชุม COP29 การเจรจาระหว่างรัฐภาคี ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ที่ว่า ผู้ปล่อยมลพิษยักษ์ใหญ่อย่างบริษัทผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ควรเป็นผู้รับผิดชอบหรือไม่ 

ชุดความคิดในช่วงที่ผ่านมาหลัก ๆ มาจากกรอบ “Polluter Pays Principle” หรือ ผู้ปล่อยมลพิษต้องเป็นผู้รับผิดชอบ อย่างการที่อุตสาหกรรมฟอสซิลต้องจ่ายค่าฟื้นฟูหายนะ ครอบคลุมระบบภาษีคาร์บอน โดยที่ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ต้องไม่ถูกส่งต่อไปให้ผู้บริโภค

จับตา โอกาสตั้งกองทุนชดเชยความสูญเสีย

ในส่วนของกองทุนฯ จริยา เน้นย้ำถึงความสำคัญของ กองทุนสีเขียว หรือ Green Climate Fund, กองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย หรือ Loss and Damage Fund และ ระบบความรับผิดชอบรูปแบบใหม่ ภาษีความเสียหายจากสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Damage Tax ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ที่ จริยา มองว่าน่าสนใจ พร้อมตั้งคำถามว่า ผู้จ่ายภาษีนี้จะตกเป็นอุตสาหกรรมถ่านหิน น้ำมัน หรือ กลับมาสู่ผู้บริโภค

“การเจรจาในปีที่ผ่าน ๆ มา เช่น กองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหายในเวที COP29 ยังไม่สามารถรวบรวมเงินทุนได้เท่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ การที่รัฐบาลสหรัฐฯ ผลักดันการขุดเชื้อเพลิงฟอสซิล ก็อาจทำให้การเจรจาเรื่องกองทุนฯ เหล่านี้เป็นไปได้ยากขึ้น เป็นประเด็นที่ต้องจับตามองต่อไป”

จริยา เสนพงศ์

สำหรับวาระหลักของประเทศไทย ในการประชุมสิ่งแวดล้อม COP29 ที่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วนั้น ประกอบด้วย  

  1. มาตรการการเงิน เพื่อรับมือกับวิกฤตโลกร้อนและการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน ทั้ง Loss & Damage Fund, Green Climate Fund หรือกลไกการเงินรูปแบบอื่น ตามหลักการ Polluter Pays Principle (ผู้ก่อมลพิษเป็นคนจ่าย)

  2. การเลิกใช้พลังงานถ่านหิน หรือ Phase-out coal ต้องเกิดขึ้น ไม่ใช่การลดการใช้ หรือ Phase down เหมือนที่ผ่านมา

  3. การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ Nationally Determined Contributions (NDC) จะต้องไปสู่เป้าหมาย real net zero ที่มุ่งสู่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ที่ไม่ใช่การฟอกเขียวหรือ ไปที่ False Solutions

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active