เสวนาพลังงานฯ พบ ปัญหาโลกเดือดเป็นที่รับรู้ แต่ยังเลิกเชื้อเพลิงฟอสซิลไม่ได้ ‘Data Hatch’ เผยสถิติบริษัทพลังงานนิยมหันมาฟ้องปิดปากคนวิจารณ์ ขณะที่ ‘คนทำสื่อ’ ชี้ การเปลี่ยนผ่านพลังงานหมุนเวียนไทยยังคงเอื้อกลุ่มทุน
3 พ.ย. 2567 เสวนา “คอนเทนต์พลังงาน: ความท้าทายของคนทำสื่อกับโจทย์ที่มากกว่าแค่ค่าไฟและน้ำมัน” ที่จัดขึ้นโดย CASE หนึ่งในกิจกรรม The Energy Shift: Transition with Opportunities ที่ชวนทุกคนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงพลังงานสะอาดในอนาคตของประเทศไทย จัดขึ้นที่ TK Park, เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 8 กรุงเทพมหานคร
พีระพงษ์ เตชะทัชตานนท์ นักจัดการด้านข้อมูลและสื่อสารความรู้ “Data Hatch” กล่าวว่า หลายประเทศทั่วโลกรับรู้ถึงปัญหาโลกเดือดเหมือนกัน และรู้ว่าต้องเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น แต่มีหลายประเทศที่ไม่ได้ต้องการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งอาจจะติดเรื่องผลประโยชน์ ถือเป็นโจทย์ยากของคนทำการสื่อสารเรื่องพลังงาน ดังนั้น หัวใจสำคัญของการสื่อสารเรื่องพลังงาน คือ การเพิ่มพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น และหยุดการใช้พลังงานถ่านหินกับก๊าซธรรมชาติให้ได้
โดยข้อมูล Earth Ringhts international พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีบริษัทด้านพลังงานฟอสซิลในสหรัฐอเมริกา ฟ้องผู้วิพากษ์วิจารณ์ไปแล้ว 152 ดดี เพื่อให้หยุดวิพากษ์วิจารณ์บริษัทฯ ตนเอง ส่วนในประเทศไทยก็เคยมีการฟ้องร้องหลายคดี พร้อมยกตัวอย่างคดีล่าสุดที่บริษัทด้านพลังงานชื่อดังฟ้องนักวิชาการเรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท เพื่อให้หยุดวิพากษ์วิจารณ์บริษัท ซึ่งการกระทำลักษณะดังกล่าวมีแนวโน้มเกิดมากขึ้นทั่วโลก ดังนั้น ความท้าทายในการสื่อสารเรื่องพลังงานปัจจุบัน คือ มักถูกทำให้มองไม่เห็น ไม่มีข้อมูลที่มากพอ และวิพากษ์วิจารณ์ไม่ค่อยได้
“ของประเทศไทยถ้าใครอยากรู้ว่ามีเคสนี้หรือเปล่า ให้ไปเสิร์ชคำว่า SLAPP 100 ล้าน เพราะว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการฟ้องตบปากคนในประเทศไทยหลายเคส และให้หยุดพูดในเรื่องนี้ หยุดวิพากษ์วิจารณ์”
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียน นักสื่อสารมวลชน ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตบรรณาธิการบริหาร นิตยสารสารคดี ระบุว่า ตนตั้งข้อสงสัยทำไมรัฐบาลไทยถึงไม่ส่งเสริมให้ประชาชนติดโซลาร์ลูปทุกบ้านเหมือนในต่างประเทศ แต่กลับซื้อไฟฟ้าจากบริษัทเอกชนนาน 30 ปี ในขณะที่ประชาชนจะติดโซลาร์ลูปกลับมีกฎเกณฑ์ที่ยุ่งยาก ทั้งที่โซลาร์ลูปในปัจจุบันมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อน จนมาพบว่าในช่วงที่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ได้มีรูปถ่ายอดีตนายกรัฐมนตรีนั่งคู่กับเจ้าของบริษัทโรงไฟฟ้ารายใหญ่ในไทยที่ขายไฟฟ้าให้กับภาครัฐ สะท้อนว่าธุรกิจสัมปทานในไทยทำให้คนบางกลุ่มร่ำรวยมหาศาล
อดีตบรรณาธิการบริหาร นิตยสารสารคดี ยังได้เล่าถึงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่กระทบความมั่นคงทางด้านอาหารและความเหลื่อมล้ำ ว่าเมื่อ 2 เดือนที่ผ่าน ตนได้มีโอกาสไปบรรยายให้ทหารฟังที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) เรื่องแม่น้ำโขง ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงความมั่นคงทางพลังงานเท่านั้น แต่ยังเป็นความมั่นคงทางอาหาร โดยลุ่มน้ำโขงตอนล่างครอบคลุม 4 ประเทศ คือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม หล่อเลี้ยงผู้คนกว่า 60 ล้านคน เป็นแหล่งอาหารของคนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงราว 40-80% มีมูลค่าการทำประมงต่อปีอยู่ที่ 127,000 – 231,000 ล้านบาท แต่ไม่ค่อยมีคนรู้สึกมาก และกำลังได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน
ปัจจุบันแม่น้ำโขงน้ำกลายเป็นที่ผลิตไฟฟ้าแห่งใหม่ และกำลังมีการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าเกือบ 20 แห่ง ขณะที่รัฐบาลไทยได้รับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในลาว 10,500 เมกะวัตถ์ ระยะยาวนาน 25 ปี เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดที่มากขึ้นในอนาคต
“จริง ๆ แล้ว ไฟฟ้าจากเขื่อนต้นทุนมันสูงขึ้นเรื่อย ๆ และมันสูงกว่าไฟฟ้าจากโซลาร์เซล แต่รัฐบาลก็ยังใสซื่อรับซื้อไปเรื่อย ๆ ที่สำคัญก็คือว่า รับซื้อ 25 ปี ขณะที่ 25 ปี เทคโนโลยีอาจจะเปลี่ยนไปหมดแล้ว แต่มักถูกผูกขาด อันนี้คือสาเหตุที่ทำให้พวกเราต้องรับภาระค่าเอฟทีสูงขึ้นเรื่อย ๆ”
แต่อีกด้านหนึ่ง ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกำลังจะทำให้ปริมาณตะกอนที่มีแร่ธาตุในแม่น้ำลดลง และทำให้ปริมาณข้าวที่เวียดนามผลิตได้ลดลงราว 5 แสนตันในอีก 10 ปี ข้างหน้า อีกทั้งสัตว์น้ำลดลงกระทบด้านการประมง 40-80% ภายในปี 2583 โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ ไทย 55% ลาว 50% กัมพูชา 35% และเวียดนาม 30%
สะท้อนว่าปัจจุบันแม่น้ำโขงถูกยึดโดยคนไม่กี่กลุ่มที่มีความสามารถทำกำไรจากการผลิตไฟฟ้า ถือเป็นความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจน สะท้อนปัญหาความมั่นคงทางอาหารในอนาคต จึงเป็นคำถามว่าจะรักษาสมดุลได้อย่างไรระหว่างความมั่นคงทางพลังงาน กับความมั่นคงทางอาหาร
เมื่อตนบรรยายเรื่องนี้ให้นายทหารชั้นผู้ใหญ่ฟังเสร็จ ก็มีการตั้งคำถามออกมากันเป็นจำนวนมาก เพราะถือเป็นการเปลี่ยนความคิดที่ว่า ความมั่นคงไม่ได้มีเฉพาะเรื่องความมั่นคงประเทศ และความมั่นคงด้านพลังงาน แต่ยังมีความมั่นคงทางอาหารด้วย
วันชัย กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาให้ความมั่งคงมีความสมดุลนั้น รัฐบาลจะต้องมีจินตนาการก่อนว่าทำได้ เพราะทุกการเปลี่ยนแปลงจะมีการต่อต้านเสมอ ยกตัวอย่าง กรุงโซล ในเกาหลีใต้ เผชิญมลพิษทางอากาศร้ายแรง จนรัฐบาลเกาหลีแก้ปัญหาด้วยการออกกฎ กำหนดพื้นที่สีเขียว หากรถยนต์จะเข้าพื้นที่ต้องเสียเงิน ซึ่งในช่วงแรกได้รับเสียงตำหนิจากประชาชนจำนวนมาก แต่รัฐบาลมีจินตนาการว่าต้องทำได้ หลังจากนั้น 20 ปีผ่านไป รัฐบาลเกาหลีใต้ได้สร้างพื้นที่สาธารณะเพิ่ม และพัฒนาขนส่งมวลชน จนทำให้ปัจจุบันกรุงโซลกลายเป็นเมืองที่มีอากาศสะอาดมากสุดในโลก
หรือในสิงคโปร์ เมื่อ 10 ปีก่อน ได้รับผลกระทบฝุ่นควันจากการเผาป่าเพื่อทำไร่ต้นปาล์มในประเทศอินโดนีเซีย รัฐบาลสิงคโปร์จึงออกกฎหมายข้ามประเทศ ห้ามบริษัทสิงคโปร์เกี่ยวข้องกับการเผาป่าในอินโดนีเซีย หากฝ่าฝืนจะโดนโทษปรับเงิน ประกอบกับประชาชนรณรงค์ไม่ซื้อสินค้าบริษัทดังกล่าว จนทำให้คุณภาพอากาศในสิงคโปร์กลับมาดีขึ้นภายใน 3 ปี
อย่างไรก็ตามสังคมไทยมักจะมีคติที่ว่า ปากท้องมาก่อนแล้วค่อนแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว ถ้าไม่รักษาป่าก็จะไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงการเกษตร ถ้าไม่รักษาทะเลก็จะไม่มีปลาให้จับ ดังนั้น ต้องรักษาสิ่งแวดล้อมก่อนปากท้องถึงจะอิ่ม และในอนาคตคนก็จะเริ่มเปลี่ยนแนวคิดมากขึ้น เพราะภัยธรรมชาติเริ่มรุนแรง ถ้าอยากจะอยู่รอดก็ต้องดูแลสิ่งแวดล้อมก่อน
ช่วงท้ายเสวนา ทรรศิกา สิงห์ตุ้ย พิธีกรรายการ “สะอาด Podcast” และนักจัดการความรู้ TDRI ยังได้เชิญชวนผู้ที่สนใจ สมัครร่วมกิจกรรม Content Creator Workshop: Synergy for Clean Energy เพื่อสร้างสรรค์คอนเทนต์พลังงานสะอาด ชิงโอกาสเผยแพร่ผลงานกับ The Active และ Policy Watch – Thai PBS พร้อมรับทุนสนับสนุนผลิตผลงาน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตเนื้อหาด้านพลังงาน และการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://bit.ly/Clean-Energy-Creator สมัครฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย