กป.อพช. อีสาน ค้านใช้คาร์บอนเครดิตเป็นเครื่องมือฟอกเขียว

เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึง พรรคประชาชน หนึ่งในผู้ยื่นร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชี้ ยังมีปัญหาเรื่องคาร์บอนเครดิต หวั่น เป็นเครื่องมือให้นายทุนฟอกเขียว กระทบสิทธิในที่ดินและการจัดการทรัพยากรฯ ชาวบ้าน

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2567 เพจ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน เผยแพร่ จดหมายเปิดผนึกถึงพรรคประชาชน ระบุ ขอให้ทบทวน ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. หยุดใช้คาร์บอนเครคิตเป็นเครื่องมือให้นายทุนฟอกเขียว แย่งยึดที่ดิน รวบอำนาจในการจัดการทรัพยากรจากมือประชาชน

สาระสำคัญ ระบุว่า แม้บทบัญญัติเรื่องคาร์บอนเครดิตของร่างฯ ฉบับพรรคประชาชน ดูดีกว่าร่างฯ ฉบับของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังพบว่ามีปัญหาบางประการ เช่น การมีผลบังคับใช้ที่ยาวนานถึง 90 ปี อาจส่งผลให้ประชาชนถูกแย่งยึดที่ดินทำกินอย่างรุนแรง โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยและทำกินอยู่ในเขตกฎหมายว่าด้วยป่าไม้และกฎหมายว่าด้วยที่ดินของรัฐฉบับต่าง ๆ, บทบัญญัติที่ว่าด้วยความเป็นอิสระสำหรับชนเผ่าพื้นเมือง ที่อาจส่งผลกระทบกับกลุ่มประชากรอื่น, อาจเปิดช่องให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกเทียมขึ้น เป็นต้น

โดยท้ายจดหมาย ยังย้ำด้วยว่า จดหมายเปิดผนึกดังกล่าว หวังเป็นประโยชน์ให้เกิดกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ และสร้างการเรียนรู้ร่วมกันในสังคม อีกทั้งพรรคประชาชนยังเป็นพรรคการเมืองที่เชื่อมร้อย ยึดโยง และสานสัมพันธ์ผู้คนหลากหลายสาขาอาชีพให้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้มากที่สุดกว่าพรรคอื่น ๆ จึงเห็นว่าควรเขียนกฎหมายต่อต้านโลกร้อนที่ไม่เอื้อให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียมด้วยคาร์บอนเครดิตและมาตรการทางการเงินอื่น ๆ

เนื้อหาฉบับเต็ม

แม้บทบัญญัติในเรื่องคาร์บอนเครดิตของร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. ฉบับของพรรคประชาชนจะดูดีกว่าฉบับของกรมโลกร้อน (กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม) ตรงที่ระบุไว้ในมาตรา 124 ว่า จะอนุญาตให้มีการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้โดยการซื้อคาร์บอนเครดิตได้จนถึงปี 2578 เท่านั้น ซึ่งเป็นปีเป้าหมายที่ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน หลังจากนั้นหน่วยงานจะไม่สามารถชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตได้อีกต่อไป ต้องดำเนินการลดหรือดูดกลับและกักเก็บเท่านั้น เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ต่างจากร่างฯของกรมโลกร้อนที่มุ่งซื้อขายคาร์บอนเครดิตจนกว่าจะไม่มีประเทศไทยปรากฎอยู่บนแผนที่โลก อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติในเรื่องคาร์บอนเครดิตในร่างฯของพรรคประชาชนก็ยังมีปัญหาอยู่บางประการ ดังนี้

ประการแรก หากร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านการพิจารณาของรัฐสภาภายในปีสองปีนี้ และถูกประกาศใช้บังคับ บทบัญญัติเรื่องคาร์บอนเครดิตจะถูกใช้บังคับไปได้เก้าถึงสิบปี ซึ่งเป็นช่วงเวลายาวนานพอสมควรที่ประชาชนจะถูกแย่งยึดที่ดินทำกินอย่างรุนแรง โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่อาศัยและทำกินอยู่ในเขตกฎหมายว่าด้วยป่าไม้และกฎหมายว่าด้วยที่ดินของรัฐฉบับต่างๆ ทับอยู่ เพื่อนำผืนดินเหล่านั้นไปให้เอกชนขอสัมปทานปลูกป่าค้าคาร์บอนเครดิต พรรคประชาชนจึงควรตระหนักและคิดให้ลึกซึ้ง ละเอียดถี่ถ้วนกว่านี้ ว่าความสูญเสียในที่ดินทำกินของประชาชนหลายแสนครอบครัว ประชากรกว่าล้านคน เพื่อแลกมากับการมีพื้นที่ปลูกป่าค้าคาร์บอนเครดิตเพื่อเอาใจนายทุนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน่าจะเป็นแนวทางที่ได้ไม่คุ้มเสีย

และนี่คือตัวเลขที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการควบคุม กำกับ และดูแลตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตในร่างฯของพรรคประชาชน วางเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2580 พื้นที่ตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้และกฎหมายว่าด้วยที่ดินของรัฐฉบับต่างๆ ในส่วนที่เป็นป่าธรรมชาติจะปลูกต้นไม้เพิ่ม 11.29 ล้านไร่ จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 102.04 ไร่ ป่าเศรษฐกิจจะปลูกต้นไม้เพิ่ม 15.99 ล้านไร่ จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 32.55 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่ที่ระบุว่าจะปลูกต้นไม้เพิ่มทั้งในส่วนที่เป็นป่าธรรมชาติและป่าเศรษฐกิจ รวมกันแล้วประมาณ 27.28 ล้านไร่ มีทั้งที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ คทช. ที่ไปแย่งยึดมาแล้วนำมาจัดสรรใหม่ให้แก่ประชาชนโดยไม่สอดคล้องกับวิถีการผลิตเดิมตามนโยบายป่าไม้ของรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. โดยใช้คำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 และ 66/2557 ป่าชุมชน ป่าไม้ถาวร พื้นที่ป่าที่เหลือนอกเขตที่ดินของรัฐ (พ.ศ. 2484) ป่าอนุรักษ์ ป่าชายเลน ที่ ส.ป.ก. ทั้งในและนอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่นิคมสร้างตนเอง พื้นที่นิคมสหกรณ์ ที่ราชพัสดุ ที่ น.ส.ล. (หนังสือสำคัญที่หลวง) สวนป่าของ อ.อ.ป. ที่ให้เอกชนขอสัมปทานปลูกปาล์มน้ำมัน ยูคาลิปตัสและพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งพื้นที่ตามที่ระบุไปนั้นล้วนมีผู้คนอาศัยอยู่หมดสิ้น แทบไม่เหลือสภาพเป็นป่าใดๆ อีกต่อไปแล้ว

ประการที่สอง มาตรา 130 ในร่างฯ ระบุว่า “คาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ที่ได้รับการรับรอง ต้องเป็นไปตาม “หลักการให้ฉันทานุมัติที่ได้รับการรับรู้ บอกแจ้งล่วงหน้า และเป็นอิสระสำหรับชนเผ่าพื้นเมือง” ซึ่งเป็นกลไกคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. 2550 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและการปรึกษาหารือจากล่างขึ้นบนของประชากรพื้นเมือง ก่อนที่จะเริ่มพัฒนาบนที่ดินของบรรพบุรุษหรือการใช้ทรัพยากรในดินแดนของประชากรพื้นเมือง” ซึ่งดูเหมือนเป็นบทบัญญัติที่ดี แต่ก็มีข้อควรระมัดระวังสองเรื่อง ได้แก่

หนึ่ง – ในที่ดินที่ระบุว่าจะปลูกต้นไม้เพิ่มทั้งในส่วนที่เป็นป่าธรรมชาติและป่าเศรษฐกิจ รวมกันแล้วประมาณ 27.28 ล้านไร่ (ตามที่กล่าวไว้แล้วในประการแรก) ล้วนมีผู้คนหลากหลายอาศัยอยู่ ทั้งคนยากคนจน คนเล็กคนน้อย คนชายขอบ ซึ่งมีทั้งที่เป็นและไม่เป็นชนเผ่าพื้นเมือง นั่นแสดงว่า พรรคประชาชนเขียนร่างฯฉบับนี้ขึ้นมาด้วยความเข้าใจว่าผู้คนที่อาศัยและทำมาหากินอยู่ในผืนดินที่เขตกฎหมายว่าด้วยป่าไม้และกฎหมายว่าด้วยที่ดินของรัฐฉบับต่างๆ ทับอยู่ ที่จะนำไปให้เอกชนขอสัมปทานปลูกป่าค้าคาร์บอนเครดิต มีแต่เพียงชนเผ่าพื้นเมือง กระนั้นหรือ ? หรือเข้าใจไปว่าผู้คนที่อาศัยและทำมาหากินอยู่ในผืนดินที่เขตกฎหมายว่าด้วยป่าไม้และกฎหมายว่าด้วยที่ดินของรัฐฉบับต่างๆ ทับอยู่ นอกจากชนเผ่าพื้นเมืองแล้ว ล้วนเป็นผู้บุกรุกป่าทั้งสิ้น ที่สามารถแย่งยึดมาเพื่อเอาไปให้เอกชนขอสัมปทานปลูกป่าค้าคาร์บอนเครดิตได้โดยง่ายดายและไม่ต้องมีความรับผิดชอบใดๆ ?

สอง – สิ่งที่สมควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกก็คือ ไม่ควรส่งเสริม สนับสนุน ผ่อนปรนหรือยืดหยุ่นให้มีการนำผืนดินใดๆ ไปให้เอกชนขอสัมปทานปลูกป่าค้าคาร์บอนเครดิต เพราะเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบจอมปลอม ดังนั้น การนำผืนดินของชนเผ่าพื้นเมืองไปให้เอกชนขอสัมปทานปลูกป่าค้าคาร์บอนเครดิตไม่ใช่เรื่องของสิทธิหรือความสมัครใจของชนเผ่าพื้นเมืองที่ย่อมกระทำได้ แต่เป็นประเด็นที่ไปส่งเสริมให้ชนเผ่าพื้นเมืองสนับสนุนให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบจอมปลอมขึ้น

ประการที่สาม พรรคประชาชนคงตระหนักดีว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยใช้กลไกคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นภาคสมัครใจ จะไม่ประสบผลสำเร็จ จึงได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับกลไกการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นภาคบังคับขึ้นมา ที่มีข้อผูกมัดทางกฎหมายที่มีบทลงโทษหากกระทำผิด โดยกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจัดสรรสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ และสามารถซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างกันได้ หากโรงงานอุตสาหกรรมใดปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าจำนวนสิทธิที่ได้รับการจัดสรรก็สามารถขายสิทธิที่เหลือแก่โรงงานอุตสาหกรรมอื่นได้ ในทางกลับกันหากปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินสิทธิที่ได้รับก็ต้องหาซื้อสิทธิจากโรงงานอุตสาหกรรมอื่นเข้ามาแทน

ซึ่งดูเหมือนจะดีกว่ากลไกคาร์บอนเครดิตที่เป็นภาคสมัครใจที่ไม่มีข้อผูกมัดทางกฎหมายและไม่มีบทลงโทษใด ๆ เมื่อกระทำผิด แต่ก็มีปัญหามากมาย ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในสหภาพยุโรป เพราะมีการสะสมสิทธิ (ใบอนุญาต) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ล้นเกินสูงมาก มีการเปิดให้นำคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศมาชดเชยสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแทน เป็นต้น

ร่างฯของพรรคประชาชนได้บัญญัติไว้ในมาตรา 118-120 โดยสรุปว่านิติบุคคลควบคุมอาจนําคาร์บอนเครดิตที่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ วิธีการและคุณสมบัติที่คณะอนุกรรมการกำกับดูแลระบบการซื้อขายสิทธิกำหนด เพื่อยื่นคำขอต่อกรมโลกร้อนให้แปลงเป็นสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเรียกว่า “สิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบหักกลบ” ได้ ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนั้น เพราะจะเปิดช่องให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกเทียมขึ้น เนื่องจาก คาร์บอนเครดิตคือการที่โรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลายไม่ยอมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แหล่งกำเนิดของตน โดยไปขอสัมปทานที่ดินของรัฐ (ที่แย่งยึดมาจากประชาชน) เพื่อปลูกป่าให้ดูดซับคาร์บอน แล้วก็นำปริมาณคาร์บอนที่ดูดซับจากการปลูกป่ามาหักกลบปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ตนเองปล่อยจากแหล่งกำเนิดแทน ซึ่งไม่บังเกิดผลใดๆ ในการลดโลกร้อนเลย

แต่การเปิดช่องให้นำคาร์บอนเครดิตมาแปลงเป็นสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มุ่งหวังจะเป็นกลไกบังคับให้โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจริง อาจส่งผลให้เกิดการสะสมสิทธิ (ใบอนุญาต) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกล้นเกินเหมือนดังที่ประเทศในสหภาพยุโรปกำลังเผชิญปัญหานี้อยู่ และส่งผลตามมาให้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นไปในอัตราที่ต่ำมาก เสียจนไม่มีทางที่ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอนได้ทันในปี 2578 และหนทางในการมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ก็จะมีโอกาสเท่ากับศูนย์

ประการที่สี่ กลไกคาร์บอนเครดิตคืออุปสรรคและปัญหาใหญ่สุดในการพยายามรักษาอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม เพราะกลไกนี้เอื้อให้โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ยอมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แหล่งกำเนิดของตน ยังคงผลิตตามกำลังการผลิตเดิมหรือมากกว่าเมื่อได้คาร์บอนเครดิตจากการปลูกป่าในปริมาณที่มากกว่ากำลังการผลิตเดิม และไม่ยอมปรับเปลี่ยนวิถีและพฤติกรรมการผลิตเพื่อใช้พลังงานสะอาดทดแทนพลังงานฟอสซิลที่มีราคาถูกที่สุด

กลไกเช่นนี้เอื้อให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยสามารถปลูกป่าเอาคาร์บอนเครดิตได้ในปริมาณมาก รวมทั้งสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากแหล่งอื่นด้วย โดยไม่จำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แหล่งกำเนิดเลย ต่างจากพวกโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กที่ไม่มีเงินเพียงพอที่จะหาพื้นที่ปลูกป่าเอาคาร์บอนเครดิต หรือไม่สามารถซื้อหาคาร์บอนเครดิตจากแหล่งอื่นได้ ประกอบกับที่ร่างฯเน้นใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวมากเกินความจำเป็น อันจะนำไปสู่การทำให้เรื่องโลกร้อนกลายเป็นธุรกิจที่สร้างผลกำไรให้กับกลุ่มทุนผูกขาดในอนาคตข้างหน้าได้ ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายทลายทุนผูกขาดของพรรคประชาชนแต่อย่างใด

ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา จึงได้เขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ขึ้นด้วยความมุ่งหวังอย่างน้อยสองข้อ นั่นคือ

(1) เพื่อหวังที่จะเป็นประโยชน์ให้เกิดกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ และสร้างการเรียนรู้ร่วมกันในสังคม เพราะในความเป็นพรรคการเมืองซึ่งมีภารกิจโดยตรงกับการประดิษฐ์คิดค้นกฎหมายด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งๆ ขึ้นนั้น จึงเห็นว่าพรรคประชาชนสามารถเขียนกฎหมายต่อต้านโลกร้อนให้ดีกว่านี้ได้อีกมาก ซึ่งสมควรสร้างความแตกต่างที่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างเล็งเห็นผลสำเร็จมากไปกว่าฉบับของกรมโลกร้อน

(2) พรรคประชาชนเป็นพรรคการเมืองเดียวที่มีอยู่ขณะนี้ที่เชื่อมร้อย ยึดโยง และสานสัมพันธ์ผู้คนหลากหลายสาขาอาชีพให้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้มากที่สุดกว่าพรรคใดๆ นำเสนอนโยบายสำคัญจำนวนมากในการวางรากฐานประชาธิปไตยของบ้านเมืองให้เข้มแข็งขึ้น เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชน และทลายทุนผูกขาดเพื่อผลักดันให้เกิดสวัสดิการสังคมในทุกๆด้าน เพื่อให้มนุษย์ทุกๆคนได้ดำรงชีวิตอย่างเท่าเทียม มีคุณค่าและมีความหวัง และน่าจะเป็นพรรคที่มีสมาชิกอาศัยและทำมาหากินอยู่ในผืนดินที่เขตกฎหมายว่าด้วยป่าไม้และกฎหมายว่าด้วยที่ดินของรัฐฉบับต่างๆ ทับอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงเห็นว่าพรรคประชาชนควรเขียนกฎหมายต่อต้านโลกร้อนที่ไม่เอื้อให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบจอมปลอมด้วยคาร์บอนเครดิตและมาตรการทางการเงินอื่นๆ

จึงเรียนมาด้วยความเคารพ
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน
19 ตุลาคม 2567


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active