ขยะเสื้อผ้า 4 ตัน กองท่วมมิวเซียมสยาม

มิวเซียมสยาม x wishulada จัดนิทรรศการ “Fast Fashion ช็อปล้างโลก” ชวนเหล่านักช็อป ตั้งคำถามกับการตัดสินใจเลือกซื้อเสื้อผ้าทุกครั้ง พร้อมสำรวจปัญหาจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ

วันนี้ (5 ส.ค.2566) มิวเซียมสยาม ร่วมกับ wishulada ศิลปินสายสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนขยะให้เป็นงานศิลปะ จัดแสดงนิทรรศการ “Fast Fashion ช็อปล้างโลก” ชวนผู้ชมตั้งคำถามและจุดประกายความคิด ‘เริ่มที่ตัวเรา เปลี่ยนที่ตัวเรา คุณพร้อมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงนี้หรือไม่?’

วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินสายสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนขยะให้เป็นงานศิลปะ กล่าวว่า art installation ‘ท่วมท้น ล้นหลาม over flow’ เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ ช็อปล้างโลก สะท้อนปัญหาจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพราะตอนนี้ขยะที่เกิดจากแฟชันเสื้อผ้ามันท่วมท้น ล้นหลามจริงๆ ไม่แพ้ขยะพลาสติกเลย เดิมคนเราต้องสวมเสื้อผ้ากันอยู่แล้ว เมื่อมีเรื่องของแฟชันเข้ามาเกี่ยวข้อง คนเราก็ชอบเปลี่ยนเสื้อผ้ากันอยู่บ่อยครั้ง พอมันเก่าไม่นำเทรนด์ก็อาจจะคิดว่าเอาไปบริจาคแล้วกัน เพราะคาดหวังว่าอาจจะช่วยลดปัญหาขยะ และใช้งานได้ต่อ ซึ่งเสื้อผ้าทุกชิ้นที่นำมาจัดแสดง art installation ครั้งนี้ ก็มาจากเสื้อผ้าบริจาคที่คนส่งมาให้มูลนิธิกระจกเงา แต่เมื่อคัดเลือกแล้วพบว่าไม่สามารถใช้งานต่อได้จริง ส่วนที่ใช้งานได้มีจำนวนน้อยมาก บางทีไม่ได้คุณภาพ มาตรฐาน เก่า ผุ ใช้งานต่อไม่ได้ ในแง่หนึ่งเท่ากับว่าย้ายขยะจากบ้านตัวเองไปที่มูลนิธิ

“ความคาดหวังคือยากให้คนทุกคนได้เห็นคุณค่าของทรัพยากรที่มีในบ้านของตัวเอง สามารถหมุนเวียนใช้ซ้ำทรัพยากรที่มี เราไม่จำเป็นต้องนำเทรนด์ตลอดเวลา เราสามารถสร้างเทรนด์ใหม่ได้ด้วยการ mix and match เสื้อผ้าของเราให้เกิดประโยชน์ใหม่ เราเอามา DIY ตัดต่อให้มันกลายเป็นของชิ้นใหม่ โดยเริ่มจากตัวเอง เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมทุกคนจะบอกว่า มันอาจจะต้องเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องจัดการอย่างเดียว แต่จริงๆ ต้องร่วมกัน ตั้งแต่ตัวเรา รวมถึงภาคธุรกิจเองด้วยว่าเราจะผลิตสินค้ายังไงให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ใช่ผลิต ใช้ แล้วทิ้ง แต่จะทำอย่างไรให้มีการหมุนเวียนทรัพยากรได้อีก เช่นเดียวกันกับผู้บริโภค ช็อปอย่างมีสติ คิดสักนิดว่าปลายทางมันจะกลับไปไหนบ้าง การบริจาคทำได้เหมือนเดิมแต่ควรจะส่งต่อในสิ่งที่ผู้รับนำไปใช้ต่อได้จริง”

วิชชุลดา อธิบายเพิ่มเติมว่า อย่างนิทรรศการ over flow ครั้งนี้ขยะแฟชันมาจากมูลนิธิกระจกเงา รวมราวๆ 4 ตัน สุดท้ายจบงาน ขยะทั้งหมดก็จะถูกส่งไปทำเป็น เชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel: RDF) เพื่อทำให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากร ซึ่งหากว่าไม่มีกระบวนการนี้หากการทิ้งถูกนำไปฝังกลบก็จะกลายเป็นขยะมหาศาลที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

พาฉัตร ทิพทัส ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการและกิจกรรม (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า ความตั้งใจของการจัดทำนิทรรศการช็อปล้างโลกคือ อยากให้สาวกแบรนด์ต่างๆ ได้คิดกันว่า การซื้อของแต่ละครั้งจะทำอย่างไรให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลงหรือช่วยโลกได้บ้าง จึงได้แบ่งนิทรรศการออกเป็น 2 ห้อง ห้องแรกคือ ห้องช็อปล้างโลกเพื่ออธิบายว่า การช็อปปิ้งส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ส่วนห้องที่ 2 คือห้องช็อปช่วยโลก โดยมีการนำเสนอวิธีการว่าจะทำอย่างไรให้การช็อปช่วยโลกได้ มีวิธีอย่างไรได้บ้างที่จะลดการปล่อยคาร์บอนได้ โดยหวังว่าจะช่วยกระตุ้นความคิดและทำให้ผู้ชมเปลี่ยนพฤติกรรมได้บ้างแม้เล็กน้อย โดยห้องทั้งสองก็จะมีรายละเอียด ดังนี้

โซนที่ 1 ห้องช็อปล้างโลก จำลองหน้าร้าน “มิวส์มอลล์” ของแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นตามห้าง เพื่อให้คุณได้ตระหนักถึงพฤติกรรมช่างช็อปของพวกเรา โดยเราจะชวนให้ชั่งน้ำหนักให้ความสำคัญกับอะไร ระหว่าง “เรา” หรือ “โลก”  ผ่าน ตู้ตาชั่งกลางห้อง เราจะเลือกอะไร ระหว่างการแสดง “ตัวตน” ด้วยเสื้อผ้าสุดทันสมัย กับการช่วยลด “โลกร้อน” รักษาสิ่งแวดล้อมให้พวกเราได้อยู่กันอย่างสุขสบายต่อไป เราจะให้ค่า “โลก” ของเรา มากกว่าเสื้อผ้าสวยๆ ในตู้ ที่ใช้แสดงตัวตนของเรามั้ย ? ตาชั่งจะสมดุลที่ตรงไหน เราทุกคนมีส่วนในการกำหนดชะตากรรมนี้ร่วมกัน

“เราจะได้เข้าใจและเห็นถึงปัญหาของ Fast Fashion ไม่ว่าจะเป็น ความเฟื่องฟูของธุรกิจแฟชั่น อุตสาหกรรมแฟชั่น กับ ภาวะโลกร้อน ส่งผลให้เกิดก๊าซเรือนกระจก  พาไปดูการจำลองรางเลื่อน แบรนด์เสื้อผ้าต่างพากันออกคอลเล็กชั่นใหม่ ได้ตลอดทั้งปี กระแสแฟชั่นจึงปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แฟชั่นจานด่วนที่ว่า จะด่วนขนาดไหน? หรือประเด็นอย่างการใช้แรงงาน เสื้อผ้าที่กว่าจะมาถึงมือเรา ผ่านการเดินทางมาอย่างไร? การกดขี่ค่าแรง คุณภาพชีวิตที่ไม่ได้มาตรฐาน และจะชวนไปสำรวจว่า ฝ้าย VS โพลีเอสเตอร์ เส้นใยธรรมชาติ กับเสื้อใยสังเคราะห์จากพลาสติก ใครรักษ์โลกกว่ากัน?”

โซนที่ 2 ห้อง Slow Fashion ซ็อปช่วยโลกแบ่งออกเป็น

  • แฟชั่นที่ยั่งยืน (Sustainable Fashion)  การผลิตเสื้อผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ ฝ้าย ลินิน หรือกัญชง ล้วนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะย่อยสลายได้ง่ายตามธรรมชาติ อย่างเช่น ทุ่ง “ฝ้ายอินทรีย์” ไม่ผ่านการตัดต่อทางพันธุกรรม ไม่ใช้สารเคมี หรือยาฆ่าแมลงใดๆ ในการปลูก ให้ผลผลิตน้อยกว่า แต่ดีต่อผู้ปลูก ดีต่อ “เรา” ดีต่อ “โลก” 

เช่น FolkCharm แบรนด์ใช้ฝ้ายท้องถิ่นจากจังหวัดเลย (Loei) ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ติดชายแดนประเทศลาว ซึ่งปลูกในหน้าฝน เพื่อไม่ต้องรดน้ำเพิ่ม เป็นผ้าฝ้ายเข็นมือทอมือ (hand spun / hand spun) โดยน้ำพักน้ำแรงของช่างฝีมือพื้นถิ่น

แบรนด์ Karma.Local แบรนด์เสื้อผ้าใยกัญชงจากจังหวัดเชียงใหม่ กัญชงถือเป็นพืชวิเศษที่เป็นมิตรกับธรรมชาติที่สุด เพราะใช้น้ำในการปลูกน้อยมาก ใช้พื้นที่ปลูกก็น้อย แถมให้ผลผลิตมากกว่าฝ้ายถึง 2 เท่า แล้วยังไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงอีกด้วย แบรนด์น้องใหม่อย่าง Karma.Local ร่วมพัฒนาการทอเส้นใยกัญชงร่วมกับแม่อุ๊ยในชุมชน ถ้าใช้เส้นใยดิบ ที่มีเนื้อจะหยาบ จะทอเป็นพวกหมวก หรือกระเป๋า หากเป็นเสื้อผ้า จะใช้เส้นใยจากม้ง หรือกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศลาว

รวมไปถึงการนำเสนอแนวทางการหมุนเวียนทรัพยากร ในรูปแบบต่างๆ เช่น

  • ReWEAR การใส่เสื้อซ้ำ ใช่ทำเรื่องผิด #wearวนไป “มิกซ์แอนด์แมทช์” เสื้อผ้าชิ้นต่างๆ เข้าด้วยกัน ใส่ของที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด ปฏิรูปวัฒนธรรมช้อปปิ้งเสียใหม่ ลดพฤติกรรมการซื้อเสื้อใหม่ให้น้อยลง และให้การซื้อเสื้อผ้าใหม่เป็นทางเลือกสุดท้าย 
  • RePAIR ต่อชีวิตใหม่ ให้กับเสื้อของคุณ ให้การซ่อมแซมเสื้อผ้า เป็นตัวเลือกแรกก่อนที่คิดจะทิ้งและซื้อใหม่ ดีต่อโลก ดีต่อใจ การยืดอายุเสื้อผ้าออกไปอีกปี ก็ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนจากการผลิตเสื้อผ้าตัวใหม่ลงไปได้ถึง 24% 
  • ZEROWaste ของเหลืออย่าทิ้ง การนำผ้าเหลือ ผ้าค้างสต็อกจากโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูป มาใช้ทำประโยชน์ต่อจึงเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด 

เช่น Eaggamon เอกมล แบรนด์ผ้าไทยก็มีพื้นที่สำหรับความยั่งยืนเช่นกัน ห้องเสื้อ “เอกมล” โดดเด่นเรื่องการนำผ้าไทยมาตัดเย็บให้ดูร่วมสมัย มีลูกค้าขาประจำที่ชื่นชอบสไตล์มาใช้บริการยาวนานร่วมทศวรรษ ทำให้มีเศษผ้าไทยที่เหลือจากการตัดเย็บสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้ามัดหมี่ ผ้าจก ขิด  โดย คุณ เอกมล อรรถกมล นำเศษผ้าไทยมาลองวางเรียงต่อกัน จัดองค์ประกอบของสีและลายให้เข้าท่า ก่อนส่งต่อให้ช่างตัดเย็บเป็นกางเกงฮาเร็มที่มีหนึ่งเดียวในโลก เพราะกางเกงแต่ละตัวจะมีลวดลายที่ไม่ซ้ำกันเลย

More Loop มอร์ลูป ยั่งยืนอย่างย่อมเยา คือธุรกิจสร้างสรรค์ที่ขายผ้าค้างสต็อกจากโรงงาน นางลอยนางลูป เสื้อยืดหลากหลายสีที่จัดแสดงในนิทรรศการฯ เป็นงานสร้างสรรค์ร่วมกันระหว่าง มอร์ลูป x น้ำอบนางลอย ใช้ผ้ายืดที่เหลือจากการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป แต่ละสี ผลิตออกมาในจำนวนที่ไม่เท่ากัน ราวสีละ 30-40 ตัวเท่านั้น ขึ้นอยู่กับว่า จะเหลือผ้าสีนั้นอยู่เท่าไหร่ จำหน่ายในราคาย่อมเยา

Standard Archives (SXA) ตัดตามของเหลือ เป็นโรงงานผลิตเสื้อผ้าส่งออก มีโรงทอที่ผลิตผ้ายืดเป็นหลัก เรื่องราวของ “ตัดตามของเหลือ” จึงเกิดขึ้นใน 2 มิติ ทับซ้อนกัน

มิติแรก ออกแบบลาย ตามด้ายที่เหลือ เสื้อที่ ถักทอจากเส้นด้ายที่เหลือจากการผลิตผ้าให้กับกางเกงในแบรนด์นอกยี่ห้อหนึ่ง ด้ายแต่ละสีมีเหลืออยู่เพียงไม่กี่ม้วน โดย มี Lig Goods (แบรนด์สินค้าของนักวาดภาพประกอบรุ่นใหม่) มาช่วยออกแบบลายผ้าให้ ตามจำนวนสีของด้ายปั่นที่เหลืออยู่ แล้วนำไปผลิตเป็นผ้า ตัดเย็บเป็นเสื้อโปโลลายเท่ ได้ถึง 70-80 ตัว

มิติที่สอง กางเกงตัวเก่ง จากผ้าผิดสเป็ก เป็นผ้ายืดลายตารางตามใบสั่งของเสื้อผ้าแบรนด์เนมชื่อก้องโลกจากอิตาลี ที่ค้างสต็อก เพราะโดนยกเลิกไป ใช้ไม่ได้ทั้งล็อต เสื้อผ้าของ SXA จึงไม่มีกำหนดวันออกคอลเล็กชั่นที่แน่นอน เพราะขึ้นอยู่กับผ้าที่เหลืออยู่ ไม่ได้ออกตามฤดูกาล หรือตามเทรนด์ของวงการแฟชั่นแต่อย่างใด

  • คืนชีวิตใหม่ ให้กับเสื้อเก่า UpCycle ก็คือการหมุนเวียน (Cycle) เสื้อมือสองตัวเก่า ให้มีคุณค่ามากขึ้น (Up) โดยใช้เทคนิคอันหลากหลาย บ้างปักลายเพิ่ม ตัดต่อใหม่ หรือตกแต่งโดยใช้งานฝีมือ ช่วยเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น ทั้งทางใจ ทางกาย และทางราคา 

เช่น Dry Clean Only ทำเสื้อยืด ให้เป็นเสื้อสูท (แจ็กเก็ต) แบรนด์ที่โดดเด่นจากการใช้เสื้อผ้ามือสองเป็นวัตถุดิบหลัก ในการดัดแปลงให้เป็นเสื้อชุดใหม่ โดยการ “Deconstruct” โครงสร้างของเสื้อผ้าชุดเก่า จนเกิดเป็นรูปทรงใหม่ (Silhouette)ความคิดสร้างสรรค์มีได้ไม่จำกัด ทำเสื้อยืด ให้เป็นแจ็กเกต  ทำเสื้อเชิ้ต หรือกางเกงเก่า ให้กลายเป็นกระโปรง ปัจจุบันแบรนด์ Dry Clean Only มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ขายได้ในราคาพรีเมียม

Renim Project คืนชีวิตใหม่ให้กับเดนิมมือสอง ชื่อแบรนด์ Renim มาจากคำว่า Denim (เดนิม ผ้ายีนส์) เนื่องจากใช้กางเกงยีนส์มือสองเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต  ส่วน Re ก็มาจาก Reuse/Rewear ด้วยนำยีนส์เก่าเหล่านี้กลับมาใส่ซ้ำ เพราะเสื้อผ้าที่ถูกทิ้งในหลุมฝังกลบเป็นจำนวนมากอย่างหนึ่ง ก็คือ กางเกงยีนส์

Farmer Rangers แบรนด์ Upcycle ตัวพ่อจากเชียงคาน (Chiang Khan) โดดเด่นด้วยการนำเศษผ้าที่เหลือจากการตัดเย็บเสื้อผ้าแบรนด์อื่นในเครือ ผสมผสานกับเศษผ้าพวกเสื้อเปื่อยๆ ขาดๆ เอาผ้าเศษเล็กเศษน้อยเหล่านี้มาปะติดปะต่อกันด้วยการด้น ปะซ้อนทับกันไปเรื่อยๆ หลายๆ ชั้น ประกอบสร้างเป็นผ้าผืนใหม่ขึ้นมา ก่อนจะนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าให้สวมใส่ในลำดับต่อไป

เสื้อมือสอง กับโอกาสที่สองของชีวิต มูลนิธิโอกาสที่สองแห่งชีวิต (Second Chance Bangkok) ก่อตั้งขึ้นโดยคู่สามีภรรยาจากออสเตรเลีย ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย มีจุดประสงค์ที่ต้องการจะสร้าง “โอกาสที่สอง” ให้กับคนในชุมชนคลองเตย ชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดของไทย ช่องทางหนึ่งในการสร้างโอกาสที่สองก็คือ การนำเสื้อผ้าที่ใช้แล้ว มาดัดแปลงตัดเย็บใหม่ให้เป็นกระเป๋า และของที่ระลึกแบบต่างๆ ออกแบบและตัดเย็บโดยคุณป้า ในชุมชนที่มีประสบการณ์ในโรงงานเย็บผ้ามานาน ร่วมกันสร้างผลิตภัณฑ์ สร้างงาน และสร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวคลองเตย

เช่น Wishulada เครื่องแบบเก่ายังมีค่า เกินกว่าจะทิ้ง ศิลปินรักษ์โลกตัวแม่ วิชชุลดา ผนึกกำลังร่วมกับธนาคาร ยูโอบี ประเทศไทย ผลักดันโครงการอย่าง Waste to Wonder: Turning trash to treasure art เมื่อธนาคารมีนโยบายจะเปลี่ยนเครื่องแบบพนักงานเสียใหม่ ด้วยชุดเดิมที่ใช้งานมาร่วมสิบปีแล้ว เรียกคืนเครื่องแบบชุดเก่าที่ใช้แล้ว จาก 60 สาขาทั่วประเทศจำนวน 4,903 ชุด มาปฏิบัติการแปลงโฉมเพิ่มมูลค่าให้เป็นกระเป๋า ถึง 8 แบบด้วยกัน โดยการเลาะทุกอย่างเป็นชิ้นๆ และใช้เวลาตัดเย็บร่วม 3 เดือน

  • บริจาค – แบ่งปัน – ระดมทุน แหล่งรับบริจาคเสื้อผ้าใช้แล้วแหล่งใหญ่ ก็คือ มูลนิธิกระจกเงา แต่ละวัน จะมีผู้บริจาคเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว เป็นจำนวนมากมายมหาศาล ก่อนจะนำมาคัดแยก เพื่อนำไปขายต่อ เรียก “เสื้อผ้าระดมทุน” มีพ่อค้าแม่ขายคนกลาง เข้ามาซื้อหาไปขายต่ออีกทอด เสื้อผ้ามือสองตามตลาดปัฐวิกรณ์ หรือตลาดนัดทั่วประเทศ ก็มาจากตลาดระดมทุนของมูลนิธิกระจกเงาแทบทั้งสิ้น
  • ReCYCLE ทั่วทั้งโลก เสื้อผ้าที่ทิ้งแล้ว ถูกนำไปรีไซเคิลเป็นเสื้อตัวใหม่ได้เพียง 1% เท่านั้น กระบวนการรีไซเคิลมันซับซ้อนยุ่งยาก ต้องย่อยผ้าจนเป็นปุย แล้วปั่นเป็นเส้นด้ายใหม่จากเส้นใยเหล่านั้น ก่อนจะนำมาทอเป็นผืนผ้าอีกครั้ง ใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และมีต้นทุนในการผลิตที่สูง รีไซเคิล ยาก แต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้

เช่น แบรนด์ แสงเจริญแกรนด์ SC Grand  หนึ่งเดียวของไทย ที่มีเทคโนโลยีในการรีไซเคิลผ้า มีประสบการณ์ในแวดวงรีไซเคิลสิ่งทอมาร่วม 6 ทศวรรษ แถมเป็นฮับในย่านอาเซียนของเราอีกด้วย

“ตอนจบของนิทรรศการเราจะสนุกมาก เราจะมีการสำรวจความคิดเห็นเล็กๆ ว่าคุณรับชมแล้วอยากจะเปลี่ยนนิทรรศการอะไรบ้าง เราไม่ได้หวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่ทุกคนตื่นมารุ่งขึ้นแล้วจะไม่ซื้อเสื้ออีกแล้ว เพราะคนก็ต้องอยากซื้อความสวยงามบ้าง มีกิเลสตามธรรมชาติ แต่อาจจะคิดนิดนึงจากปกติที่อาจจะซื้อของออนไลน์ทุกอาทิตย์เลย ก็อาจจะเปลี่ยนปรับมาซื้อน้อยลง หรือซื้อมือสองดีไหม เพื่อลดการผลิต ที่ใส่ได้ก็ใส่ต่อไป เมื่อเปลี่ยนทุกคนแล้ว ทุกหน่วยในสังคมก็จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เป็นรูปธรรมในเชิงองค์รวมที่ชัดเจนมากขึ้น”

นิทรรศการ ช็อปล้างโลก จัดขึ้นตั้งแต่ วันที่ 3 สิงหาคม – 3 ธันวาคม 2566 เปิดให้บริการเข้าชม (ไม่เสียค่าใช้จ่าย) วันอังคาร-วันอาทิตย์เวลา 10.00-18.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์) ณ ห้องนิทรรศการชั่วคราว ชั้น 1 อาคารนิทรรศการ มิวเซียมสยาม MRT สถานีสนามไชย (ทางออกที่1) กรุงเทพฯ สามารถติดต่อข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/museumsiamfan และ www.museumsiam.org  หรือสอบถามโทร.0 2225 2777  

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active