อาเซียนแลกเปลี่ยนแนวคิดลดโลกร้อนจากวิถีวัฒนธรรม

ภาคประชาชนสะท้อนวิถีชีวิตดั้งเดิม-ชนพื้นเมือง เป็นมิตรต่อธรรมชาติ เรียกร้องภาครัฐให้ความสำคัญ

วันนี้ (12 ม.ค. 2566) สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานเสวนา Culture Wisdom for Climate Action The Southeast Asian Contribution เพื่อเปิดพื้นที่สื่อสารเรื่องภาวะโลกร้อน และการปรับตัวอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ผ่านองค์ความรู้เชิงวัฒนธรรมท้องถิ่นของประเทศต่างๆ ของอาเซียน

โจชัว อานัค เบลายัน ผู้แทนเยาวชนจากประเทศบรูไน กล่าวว่า สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขาหันมาสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ คือปฏิทินกาลเวลาของคนพื้นเมือง ที่เล่าถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติในช่วงต่าง ๆ และเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมผ่านปรากฏการณ์เหล่านั้น ทำให้รู้ว่าคนพื้นเมืองมีวิถีชีวิตความเชื่ออย่างไร และเรื่องผลผลิตตามฤดูกาล ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบันแล้วพบว่ามันแตกต่าง หลังจากนั้นจึงได้ใช้ความรู้ทางชีววิทยา ข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ประกอบกันเพื่อที่จะอธิบายให้กับคนอื่นๆ เข้าใจเช่นกัน

“ตัวผมเองเป็นนักวิจัย นำพืชพันธุ์ที่ใกล้สูญไปอนุรักษ์ไว้โดยใช้เทคโนโลยีทันสมัยและทำงานร่วมกับวิศวกร ซึ่งตัวผมทำงานเป็นผู้อำนวยการร่วมที่เครือข่ายเยาวชนบรูไนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระหว่างที่บรูไนเป็นประธานอาเซียน จึงได้ตั้งการประชุมสนทนาเพื่อพูดคุย หารือเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเรื่องนี้กับเครือข่ายเยาวชนประเทศต่าง ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้บรูไนไม่มี หลังจากนั้นยังได้เอาบทสรุปสนทนาส่งถึงรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศอาเซียนทั้งสิบประเทศ ทั้งเรื่องของการหันมาพัฒนาบนฐานของธรรมชาติ การละเลิกใช้พลังงานถ่านหิน การเปลี่ยนวิถีการใช้พลังงาน การให้ความสำคัญกับชนเผ่าพื้นเมืองเนื่องจากมีวิถีชีวิตอยู่ร่วมกันธรรมชาติ และการเปิดโอกาสให้ผู้คนได้ทำความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศในวงกว้าง สุดท้ายคือต้องพยายามทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีก่อน จึงอยากจะส่งต่อเรื่องนี้ไปถึงประธานอาเซียนคนปัจจุบันในการรับช่วงต่อด้วย”

ศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ กล่าวว่า ปรากฏการณ์ในสังคมนี้สามารถวิเคราะห์ได้ในหลายระดับ เริ่มจากระดับที่มนุษย์ทำงาน พฤติกรรมโดยทั่วไป รองลงมาคือชั้นโครงสร้าง เช่น การศึกษา เศรษฐกิจ การเงิน รัฐบาล แต่ลึกกว่านั้นคือชั้นวัฒนธรรม ซึ่งแต่ละระดับชั้น มีการทำงานไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมจึงสำคัญมาก ทั้งเป็นตัวตัดสินถึงความชอบธรรมกับโครงสร้าง ตัวละคร และปรากฏการณ์ต่าง ๆ

“ถ้าเราจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมก็ทำได้ 3 อย่างเช่นกัน สมมติว่าเรากำลังจะเลือกตั้ง เราก็อาจจะต้องถามผู้สมัครว่ามีใครสนใจกับเรื่องสิ่งแวดล้อมบ้าง ทั้งในระดับชุมชน และในระดับชาติ ขั้นต่อไปคือการเอาจริงกับเรื่องนี้แค่ไหน จะมีการจัดสรรงบประมาณสำหรับการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมอย่างไร และที่สำคัญยิ่งกว่าคือวัฒนธรรม หมายความว่า ถ้าเรารู้สึกว่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศไม่สำคัญ มองว่าเศรษฐกิจปากท้องต้องมีกินก่อน การระบุว่าอะไรสำคัญหรือไม่สำคัญ เป็นการให้ความชอบธรรมกับวัฒนธรรมบางอย่าง เราก็ต้องตรวจสอบกระบวนการให้ความสำคัญเชิงวัฒนธรรมด้วย”

ปัจจุบันผู้คนอาจจะคิดเรื่องวัฒนธรรมเบาเกินไป อาจเข้าใจว่าคือละคร ศิลปะ แต่มองไม่เห็นความสำคัญของสิ่งนั้นอย่างลุ่มลึก ทั้งในแง่การให้ความชอบธรรมกับกิจกรรมของสังคม กับนโยบายการปกครอง ซึ่งจริง ๆ วัฒนธรรมทำหน้าที่พวกนั้นมหาศาล เช่น พิธีการบวชต้นไม้ เพื่อรักษาผืนป่าเอาไว้ อาจช่วยทำให้คนที่คิดจะตัดไม้ยั้งคิดสักหน่อยหรืออาจจะล้มเลิกความคิดเลยก็ได้ นี่เป็นตัวอย่างของศาสนาพุทธ หรือในศาสนาอิสลาม ให้ความสำคัญกับการใช้น้ำทำความสะอาดสิ่งต่าง ๆ ด้วยความเชื่อถึงความบริสุทธิ์ ทำให้มัสยิดใช้น้ำในปริมาณมาก ซึ่งปัจจุบันมีมัสยิดบางแห่งเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการนี้ ประหยัดน้ำเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับความพยายามรักษ์โลก ซึ่งศาสนาก็คือส่วนประกอบของวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง

ผศ.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ อ.ประจำโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ชนเผ่าพื้นเมืองปกาเกอะญอมีการดำรงชีวิตด้วยแนวคิดของการอยู่รอดทั้งคนและป่า ทำให้การทำลายหรือขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติเกิดขึ้นไม่มากนัก ทำให้โลกร้อนช้าลง ซึ่งเขามองว่า ในขณะที่รัฐเองก็อยากจะเพิ่มพื้นที่สีเขียว และในปัจจุบันจะพบว่าพื้นที่เหล่านั้นมีชนเผ่าพื้นเมืองอาศัยอยู่ ซึ่งพวกเขาเป็นมีส่วนร่วมในการดูแลป่าด้วยเช่นกัน

ตั้งแต่เรื่องของการแจ้งเกิด ชาวปกาเกอะญอจะไปแจ้งเกิดกับต้นไม้ คนหนึ่งคนเท่ากับต้นไม้หนึ่งต้น ตอนมีชีวิตอยู่จะมีปราชญ์ความเชื่อในพื้นที่ บางพื้นที่เรียกว่า พื้นที่ต้นน้ำหรือพื้นที่เปราะบางจะไม่ให้ไปบุกรุกหรือทำลายได้ เมื่อตายแล้วก็จะมีการจัดสรรพื้นที่เพื่อคนตาย โดยการฝังดินให้ร่างคืนสู่ดิน เท่ากับว่าทุกหมู่บ้านมีพื้นที่ป่าที่ต้องดูแลไปพร้อมกับการดำรงอยู่กับความเชื่อเหล่านั้น

ซึ่งชาวปกาเกอะญอมีหมู่บ้าน 1,993 ชุมชน 5,000 ย่อมบ้าน พื้นที่ป่าจิตวิญญาณหรือป่าความเชื่อที่ชาวปกาเกอะญอรักษาไว้ มีขนาดใหญ่มากกว่าป่าแก่งกระจาน ถึง 7 เท่า ถ้าเราเคารพ ยอมรับความหลากหลา และอาจจะไม่จำเป็นต้องไประกาศพื้นที่อนุรักษ์ หรือเอาคนออกจากป่าเลย เพราะอาจทำแบบนั้นจะทำให้วิถีชีวิตของการอยู่ร่วมกับป่าเหล่านี้หายไป และถ้าคนกระโจนเข้าสู่ระบบบริโภคนิยม กระแสหลัก ก็จะทำให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติหายไปด้วย

“เรามีพื้นที่ มีวัฒนธรรมในการอนุรักษ์ทรัพยากร และสัตว์ป่า ด้วยหลักการ 3S คือ S แรกคือ Space มี 2 รูปแบบ คือพื้นที่ต้นน้ำ สัตว์บางชนิดเราจะไม่ล่าในพื้นที่ต้นน้ำ เพื่อลดผลกระทบต่อคนสัตว์แม่น้ำ เช่น ปลาไหล และพื้นที่ชุมชน สัตว์บางชนิดในชุมชนก็ห้ามกินห้ามล่า เช่น เก้ง กวาง เสือ เป็นการกำหนดเพื่อปกป้องสัตว์ S ที่สองคือ Season สัตว์บางชนิด กินได้แค่บางฤดู ไม่กินในฤดูวางไข่ มีความเชื่อว่าถ้ากินจะแท้งลูก เช่น ไม่กินกระรอกในหน้าหนาว S ที่ 3 คือ Specific species หรือการพิจารณาชนิดของสัตว์บางชนิด ไม่กินเด็ดขาด เช่น นกเงือก ชะนี ช้างห้ามฆ่า ถ้าเรายังเคารพวิถีชีวิต สนับสนุน ยอมรับ วิถีวัฒนธรรมของคนพื้นเมือง ก็จะทำให้สัตว์ในฤดูกาล พื้นที่ ตามความเชื่อยังอยู่ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร ป่า 1,000 กว่าไร่ของชุมชนยังอยู่แน่นอน”

ผศ.สุวิชาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์เช่นนี้เป็นโจทย์ที่ยากและสร้างความท้าทาย เมื่อรัฐและชาวบ้านก็มีเป้าหมายในการอนุรักษ์ป่า รักษาสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องใช้องค์ความรู้ สหวิทยาการ พหุวัฒนธรรม พหุวิทยาการมาจัดการร่วมกัน เพื่ออยู่รอด อยู่รวม อย่างมีศักดิ์ศรีร่วมกันอย่างสมดุล

สำหรับงานเสวนา Culture Wisdom for Climate Action The Southeast Asian Contribution จัดขึ้นตั้งแต่วันนี้-14 มกราคม 2566 ณ สยามสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active