หลัง COP27 ชุมชนท้องถิ่น ต้องปรับตัวให้เข้มแข็ง ไทยถึงจะรอด

นักวิชาการ ย้ำต้องร่วมมือกันสร้างจุดเปลี่ยนลดผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจก แนะเพื่อลดความสูญเสีย ท้องถิ่นต้องปรับตัวเข้มแข็งก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นับวันจะยิ่งรุนแรง

นารีรัตน์ พันธุ์มณี ผู้อำนวยการกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (สผ.) กล่าวในเวทีเสวนา จากกลาสโกว์ถึงอียิปต์นัยยะต่อนโยบายโลกร้อนไทยและโลกว่า จาก COP26 สู่ COP 27 หลายประเทศมีการยกระดับไปสู่การลดผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ไทยเองก็เช่นกัน เพราะข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ จาก IPCC การที่จะต้องควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส แต่ถ้าจะให้ดีต้องไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพราะผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมันมีความรุนแรงและมีแนวโน้มความถี่ในการเกิดภัยพิบัติเพิ่มสูงขึ้น

อย่างในประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย น้ำท่วม ภัยแล้ง น้ำทะเลสูงขึ้น และการถูกกัดเซาะชายฝั่ง โดยเฉพาะปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมทำให้มีการวิเคราะห์ผลกระทบทางเศษฐกิจ และจัดอันดับให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงอันดับ 9 ที่มีความเปราะบางเรื่องความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประชุมครั้งนี้จึงเน้นไปที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีเป้าหมายร่วมกันให้ได้

ขณะที่ประเทศไทยเองก็มีการวางยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(LT-LEDS) ซึ่ง Action Plan ให้แต่ละภาคส่วน ทั้ง พลังงานและขนส่ง อุตสาหกรรม ของเสีย เกษตร ลดก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 40 ภายในปี 2030

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในการประชุม COP27 ได้มีข้อตกลงกลไกทางการเงินเพื่อรองรับกับการดูแลปัญหาถึงความสูญเสียจากผลกระทบของภัยที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจก

หากมองเวทีการประชุมรอบที่ผ่านมาจะเห็นว่า ช่องว่างในแต่ละประเทศจะมีปัญหาต่างกันออกไปเรื่องของการลดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นเรื่องที่ประเทศพัฒนาแล้วจะให้ประเทศอื่นเข้ามาร่วมมากขึ้น จากข้อมูลล่าสุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็มีการพูดถึงว่าประเทศกำลังพัฒนามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาก็ยังมีการพูดถึงสิ่งที่เป็นโลกร้อนเป็นผลของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีตของประเทศที่พัฒนาแล้ว

“เราก็เห็นจุดยืนที่ต่างฝ่ายต่างเรียกร้อง แต่ท้ายที่สุดคือสิ่งที่ต้องควบคุมให้อุณหภูมิไม่เกิน 1.5 องศาคือสิ่งที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกันส่วนกลไกทางการเงินก็เป็นข้อเรียกร้องของประเทศที่กำลังพัฒนา ให้ประเทศที่พัฒนาแล้วรับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตเพราะฉะนั้นเงินต้องมาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว”

สำหรับท่าทีของประเทศไทยนั้น ไทยต้องรับผิดชอบในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน ซึ่งเราก็มีแผนชัดเจนที่ส่งไปยังสหประชาชาติก็วางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างภาคพลังงานที่ปล่อยร้อยละ 70 จากทั้งหมด จากภาคพลังงานไฟฟ้า ภาคขนส่ง ภาคที่อยู่อาศัย แต่ละที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าใดในปริมาณเท่าใดก็อยู่ในแผนที่เสนอไปแล้วในองค์การสหประชาชาตินั้นหมายความว่าเรามีนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ชัดเจน ความท้าทายต่าง ๆ คือการลงมือปฎิบัติที่ต้องการงบประมาณ ที่ต้องการมากกว่ากระทรวงที่เกี่ยวข้องที่จะทำให้แผนนี้ไปสู่ความเป็นจริงนี่คือแผนประเทศไทย

แผนที่ว่านี้จะบรรลุเป้าได้มากน้อยแค่ไหน เป็นสิ่งที่หลายคนคาดหวัง แต่จริง ๆ แล้วประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงร้อยละ 1 ของก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก แต่ความสำคัญคือประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 1 ของทั้งโลกที่กำลังพัฒนารวมกัน คิดเป็นร้อยละ 40 ของก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก

รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต

รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ทางเดินที่จะไปสู่เป้าหมายของ COP27 มันแคบมาก เพราะ 8 ปีข้างหน้าทั้งโลกจะต้องลดให้ได้ร้อยละ 50 และ ปี 2050 ซึ่งต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ มันคือสิ่งที่เป็นไปได้ยาก แต่อันนั้นมันยังไม่สำคัญเท่ากับว่าเราต้องโดนภัยคุกคามจากน้ำท่วม ภัยแล้ง อยู่แล้ว รวมทั้งอากาศเป็นพิษ อันนี้เป็นผลรวมจากในอดีต

“ในอนาคตทำอย่างไรก็ตามมันก็ไม่สามารถที่จะลบล้างในอดีตได้เพราะมันปล่อยไปแล้ว เพราะฉะนั้นมันต้องกลับมาพูดถึงการปรับตัว คือสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ระบบป้องกันตัวระบบ เตือนภัย น้ำจะท่วมต้องทำอย่างไรต้องเอาน้ำไปไว้ที่ไหน เรื่องแล้งเป็นไง ฝนจะตกหนักในฤดูฝน รัฐได้ลงมือแก้หรือยัง นี่คือการปรับตัวทั้งนั้นเลย ถ้าไม่แก้ประเทศเราก็จะยังยากจน ยังเกิดปัญหาเหลื่อมล้ำสูงได้รับผลผระทบรุนแรง”

ประเทศมหาอำนาจทั้งหลายเขาจะเน้นไปที่การบรรเทาหรือ Mitigation เพราะอะไรเขามีเงินทุน มีเทคโนโลยี แล้วเขาลดไม่ได้เขาก็มาซื้อคาร์บอนเครดิตจากพวกประเทศอย่างเรา ให้เราลดแทน เราก็หลงกลเขา เราก็ลด ลด ๆ แต่ว่าบ้านเราต้องทำ แบบการปรับตัว หรือ adaptation เป็นหลัก หัวใจประเทศเรา ต้องเน้น Adaptation ไม่ใช้ Mitigation นะแต่ว่าสิ่งที่เราทำคือ เป้าหมายส่งออก สงครามการค้าเพราะเราต้องส่งออกไปให้เขา ถ้าเขาไม่รับเราก็แย่

นโยบายต่อจากนี้ต้องทำ

ขณะนี้ประเทศไทยมีคณะกรรมการหลายหน่วยงานที่เยอะมากเลย เช่น เราจะตั้งเป้าประเทศให้ไปถึงความยั่งยืน จะไปปรับตัว Resilient (การปรับตัว) แต่หนทางที่จะไปมันไม่รู้กัน มันจะไปได้อย่างไรเพราะฉะนั้นการเจอกันก็จะทำได้จากยากจากระบบราชการ การแก้ไขสิ่งเหล่านี้คือยกพวกนี้ไปให้ท้องถิ่นทำเลย เพราะท้องถิ่นจะดูแลทุกเรื่อง ท้องถิ่นจะต้องการเรื่องอะไร หน่วยงานกลางก็มีหน้าที่ต้องสนับสนุนความรู้เรื่องงบประมาณและท้องถิ่นจะสามารถบูรณาการทุกภาระกิจเพื่อไปสู่ความยั่งยืนและนำไปสู่ Resilient (การปรับตัว)ได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active