กรมศิลป์ฯ แจงใช้ งบฯ ฉุกเฉิน ซ่อม ‘วัดช่องนนทรี’ รอ งบฯ เหลือจ่ายปลายปี เล็งบูรณะใหญ่

ระบุ โบราณสถานใน กทม. 587 แห่ง ขึ้นทะเบียนแล้ว 201 แห่ง รับถ่ายโอนไปที่ กทม. 333 แห่ง รองอธิบดีกรมศิลป์ฯ ยัน หากพบชำรุด ทรุดโทรม ต้องแจ้งก่อน ห้ามบูรณะเอง ยอมรับอาจล่าช้า เพราะงบฯ น้อย

ตามที่ The Active นำเสนอปัญหาโบราณสถานในวัดหลายแห่ง พื้นที่กรุงเทพมหานคร ทรุดโทรม ไร้การดูแลนั้น พนมบุตร จันทรโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยกับ The Active ว่า ปัจจุบันโบราณสถานใน กทม. มีทั้งหมด 587 แห่ง ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว 201 แห่ง และยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีก 386 แห่ง โดยมีโบราณสถานที่ถ่ายโอนไปยัง กทม. 333 แห่ง ประกอบด้วย สะพานต่าง ๆ ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 6 รวมถึงป้อมต่าง ๆ อาทิ ป้อมพระสุเมรุ, ป้อมพระกาฬ และ คูคลอง อาทิ คลองผดุงกรุงเกษม, คลองหลอด เป็นต้น  

พนมบุตร จันทรโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร

รองอธิบดีกรมศิลปากร บอกอีกว่า สำหรับโบราณสถาณเมื่อขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรแล้ว การจะซ่อมแซม บูรณะต้องทำหนังสือขออนุญาตจากกรมศิลป์ฯ เพื่อให้คำปรึกษาเชิงวิชาการเพื่อบูรณะให้คงความงามแบบดั้งเดิม ซึ่งโบราณสถานมี 2 กรณี คือ เป็นโบราณสถานที่มีเจ้าของ เช่น อยู่ภายในวัดซึ่งเป็นนิติบุคคล วัดสามารถใช้เงินของวัดร่วมบูรณะได้ แต่ต้องทำหนังสือมาถึงกรมศิลป์ฯ เพื่อให้เข้าไปสำรวจออกแบบ แล้วจะกำหนดวงเงินออกมา ส่วนวัดที่ไม่มีงบประมาณเพียงพอ กรมศิลป์ฯ มีงบฯ อุดหนุน หากประเมินแล้วพบว่าต้องบูรณะอย่างเร่งด่วน ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลเชิงโครงสร้างของโบราณสถาน ก็จะใช้งบฯ ฉุกเฉิน เช่น ทำเสาค้ำยันไปก่อน เพื่อรอการจัดสรรงบฯ บูรณะครั้งใหญ่

“ต้องยอมรับว่ากรมศิลปากร อาจจะไม่สามารถเนรมิตขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว แต่การแจ้งกรมศิลปากร ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของการบูรณะ เราเป็นหน่วยงานเป็นส่วนราชการ เงินที่ใช้ในการบูรณะคืองบประมาณแผ่นดิน เราขอไปไม่แน่ใจว่าจะได้ทั้งหมดตามที่ขอหรือไม่ ขณะที่โบราณสถาน มีมากมายเพราะบ้านเรารุ่มรวยด้วยอารยธรรม แต่งบประมาณมีน้อย เราจึงต้องมีการจัดคิวให้ความสำคัญป่วยหนักรักษาก่อน อาการน้อย ปฐมพยาบาล” 

พนมบุตร จันทรโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร

สำหรับการโอนย้ายโบราณสถานให้ กทม.ดูแลนั้น ก่อนจะโอนย้ายกรมศิลปากร ได้ซ่อมแซมไปหมดแล้ว โดยจากข้อเสนอของชุมชนที่ต้องการให้ผู้ว่าฯ กทม.ใส่ใจ ฟื้นฟูโบราณสถานมากขึ้น รองอธิบดีกรมศิลปากร มองว่า รายได้ กทม.มาจากการท่องเที่ยว และก็มาจากการท่องเที่ยวโบราณสถาน ดังนั้นการดูแลรักษาจึงเป็นหน้าที่ของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นกรมศิลปากร หรือหน่วยงานท้องถิ่น อย่าง กทม. รวมถึงประชาชนทุกคน 

“การโอนย้าย โอนได้เฉพาะโบราณสถานที่ไม่มีเจ้าของเท่านั้น เช่น ถ้าจะถ่ายโอนโบราณสถานในวัดสุทัศน์ฯ วัดบวรฯ ก็คงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งถ้าหากถ่ายโอนมากเกินไป ก็อาจจะดูแลไม่ไหว การถ่ายโอนต้องคำนึงถึงความพร้อมและต้องทำให้ถูกฝาถูกตัวด้วย”

พนมบุตร จันทรโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร
กรมศิลปากรใช้งบฉุกเฉินสร้างนั่งร้านค้ำยันเสาพระอุโบสถ วัดช่องนนทรี เพื่อรอการบูรณะใหญ่

ส่วนกรณี วัดช่องนนทรี เขตยานนาวา ที่ The Active นำเสนอไปก่อนหน้านี้ ทางกรมศิลปากร ได้ใช้งบฯ ฉุกเฉิน สร้างนั่งร้านค้ำยัน เพื่อไม่ให้โครงสร้างบริเวณหลังคาถล่มลงมา โดยมีเจ้าหน้าที่จากกองโบราณคดี เข้าไปตรวจสอบหาสาเหตุการชำรุดแล้ว และคาดว่าจะใช้งบประมาณเหลือจ่ายปลายปีงบประมาณ เข้าซ่อมแซมในส่วนที่จำเป็นก่อนเดือนตุลาคมปีนี้ 

ก่อนหน้านี้ชาวชุมชน หลายพื้นที่ใน กทม. ซึ่งอยู่ใกล้ชิด และมีโบราณสถานอยู่ในชุมชน พยายามแสวงหาความร่วมมือจากทั้งกรมศิลปากร และ กทม. โดยเห็นว่า การเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดี ที่จะผลักดันให้การดูแลโบราณสถานเก่าแก่นั้น เป็นหนึ่งในนโยบายของผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ เพื่อปกป้อง ฟื้นฟูโบราณสถาน โดยเฉพาะบางแห่งเก่าแก่ มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งถือเป็นศูนย์รวมจิตใจ ของคนในชุมชน  

อ่านเพิ่มเติม : พบโบราณสถาน ยุคกรุงศรีฯ ถูกทิ้ง ทรุดโทรม ไร้การดูแล – เสนอ ‘กรมศิลป์’ จับมือ ‘กทม.’ บูรณะด่วน

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS