กรมศิลปากรยืนยัน โครงสร้างพระปรางค์วัดอรุณฯ ไม่มีปัญหา

หลังใช้เทคโนโลยี 3D เก็บข้อมูลโบราณสถาน พบมณฑปด้านทิศใต้เอียงเข้าหาองค์พระปรางค์ แจงเกิดได้หลายสาเหตุ อาจเอียงตั้งแต่แรกสร้าง หรือบูรณะภายหลัง รวมถึงชั้นดินในกทม. ขอเฝ้าระวัง 3 เดือน – 1 ปี ก่อนกำหนดแนวทางการอนุรักษ์อย่างเหมาะสม  

วันนี้ (21 มิ.ย. 2566)  พนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า จากกรณีที่กรมศิลปากรดำเนินการจัดเก็บข้อมูล 3D โบราณสถาน ด้วยวิธีสแกนภาพสามมิติ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ตามโครงการเก็บข้อมูลโบราณสถานโดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการดูแลโบราณสถานของชาติ ซึ่งผลการสแกนพบมณฑปด้านทิศใต้เอียงเข้าหาองค์พระปรางค์เล็กน้อยนั้น ยืนยันไม่มีเหตุบ่งชี้ว่าเป็นอันตรายต่อตัวโบราณสถาน เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับโบราณสถานที่มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงสูง อย่างไรก็ตามจะมีการเก็บข้อมูลเป็นระยะเพื่อเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ต่อไป

“กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการเอียงตั้งแต่แรกก่อสร้าง หรือการซ่อมแซมบูรณะในภายหลัง รวมถึงลักษณะโครงสร้างของดินในกรุงเทพมหานคร”

พมนบุตร กล่าว

ทั้งนี้ ที่ปรึกษาด้านการบูรณะโบราณสถานของกรมศิลปากร ได้เข้าหารือกับทางวัด พร้อมทั้งเสนอแนะให้ติดตามเฝ้าระวังและจัดเก็บข้อมูลทางวิศวกรรมโดยละเอียดและต่อเนื่อง โดยมีกรอบระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี เพื่อตรวจสอบแนวโน้มและวิเคราะห์ว่ามีการเคลื่อนตัวจริงหรือไม่ หากมีการเอียงเพิ่มเติมจะได้หาแนวทางอนุรักษ์อย่างเหมาะสมต่อไป 

อธิบดีกรมศิลปากร บอกอีกว่า การดำเนินการตรวจสอบสถานะลักษณะทางกายภาพของโบราณสถานไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นสิ่งที่กรมศิลปากรดำเนินการอยู่แล้ว โดยเฉพาะโบราณสถานที่มีความสำคัญ ตัวอย่างเช่น ในอดีตเจดีย์ที่วัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกิดการทรุดเอียง ทางกรมศิลปากรก็ได้เข้าไปตรวจสอบจนมั่นใจว่าไม่มีการเอียงมากไปกว่าเดิมและไม่เป็นอันตราย สิ่งที่แตกต่างคือเรื่องของเทคโนโลยีที่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สูงขึ้นโดยใช้ 3D สแกน แสดงให้เห็นภาพเปรียบเทียบในลักษณะไฟล์ดิจิทัลที่มีความแม่นยำสูงกว่าในอดีต 

การสำรวจโบราณสถานเป็นภารกิจที่กรมศิลปากรดำเนินการเป็น ประจำอยู่แล้วมีกระบวนการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวัง โดยนําเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ ซึ่งการเก็บข้อมูลด้วยเทคโนโลยี 3D นี้ จะช่วยเก็บรักษาข้อมูลสภาพโบราณสถานในรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้การอนุรักษ์โบราณสถานของกรมศิลปากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ประชาชนที่เที่ยวชมโบราณสถานมั่นใจในความปลอดภัยได้ หลังจากนี้จะมีการดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกันนี้กับโบราณสถานอื่น ๆ อีกด้วย 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active