มองอนาคตอโยธยา ถกรถไฟความเร็วสูงผ่านพื้นที่มรดกโลก

“อโยธยา: ความสำคัญและอนาคต” นักวิชาการ ชี้ ไม่ได้ปฏิเสธความเจริญ ห่วง หากไม่ทำตามคำแนะนำอนุฯ มรดกโลกทางวัฒนธรรม อาจถูกถอดถอน

7 มิ.ย. 2566 เวทีศิลป์เสวนา “อโยธยา: ความสำคัญและอนาคต” จัดโดยคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และสมาคมศิษย์เก่าคณะโบราณคดี เกิดขึ้นภายหลังกระแสการคัดค้านโครงการรถไฟความเร็วสูงผ่านพื้นที่มรดกโลกในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จนเกิดเป็นกระแส #Saveอโยธยา

เวทีเริ่มต้นด้วยการบรรยายประวัติศาสตร์ในพื้นที่อโยธยาและความสำคัญของพื้นที่ตั้งแต่อดีต โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยา สาระสำคัญระบุว่า อยุธยาไม่ใช่เมืองที่เกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยว แต่เป็นเมืองร่วมสมัยและมีวิวัฒนาการร่วมกับเมืองอื่น ๆ เช่น เพชรบุรี สะท้อนความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมือง และกลุ่มชาติพันธ์ุ ส่วนกรณีข้อห่วงกังวลเรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่อโยธยาศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร อธิบายว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการทำถนนผ่ากลางเข้าไปในเมืองนครปฐมและลพบุรี ส่งผลเสียหายยับเยิน ส่วนอโยธาไม่ได้ทำถนนผ่ากลางเมือง แต่อยู่ริมคูเมือง หากจะมีการเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง อาจเลี่ยงเส้นทางในลักษณะเดียวกัน รวมถึงตัวสถานีรถไฟควรตั้งอยู่รอบนอก

สำหรับหลักเกณฑ์การประเมินก่อนเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง ทั้งการศึกษา EIA(การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม) และ HIA(การศึกษาผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรมต่อแหล่งมรดกโลก) บวรเวท รุ่งรุจี นายกสมาคมอิโคโมสไทย และอดีตอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากร ตั้งแต่ปี 2536 มีการสำรวจและทำแผนแม่บท ที่ตั้งใจว่าจะเข้ามาอนุรักษ์และพัฒนาอยุธยา ซึ่งในระดับประเทศไทย ต้องคำนึงถึงการรักษามรดกของไทยไว้ โดยสำรวจพบว่ามีโบราณสถาน 450 แห่ง โดยยกตัวอย่างว่าหากพื้นที่ 1,810 ไร่ ถูกนำเสนอให้ขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก แล้วจะมีการสร้างทางรถไฟที่ห่างจากพื้นที่นี้ประมาณ 10 กิโลเมตร อาจทำให้เกิดความเสียหายได้

บวรเวท ยังยกตัวอย่างพื้นที่ที่มีความสำคัญในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งกรมศิลปากรกำหนดไว้ เช่น เขตพระราชวังจันทน์ วัดขุนแสน วัดมเหยงคซ์ วัดอยุธยา วัดชัยวัฒนาราม วัดวรเชษฐ์นอก นอกจากนี้ ยังมีชุมชนชาวต่างชาติที่เคยเข้ามาอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นโปรตุเกส ฮอลันดา ญี่ปุ่น อังกฤษ ซึ่งทั้งหมดกระจายตัวอยู่ทั้งในและนอกเขตเมือง รวมถึงพื้นที่ของโบราณสถาน เช่น ปราสาทนครหลวง ที่สร้างสมัยพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งอยู่ไกลออกไปจากเขตเมือง

“พื้นที่ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือสิ่งที่ตั้งใจว่าจะพัฒนาความเป็นนครประวัติศาสตร์อยุธยา ไม่ใช่แค่การเป็นมรดกโลกหรือไม่ แต่ในฐานะที่เป็นคนไทย สิ่งที่ต้องคำนึงคือเราจะต้องรักษามรดกทางด้านวัฒนธรรมของเราไว้”

บวรเวท รุ่งรุจี

เขายังย้ำว่าไม่ได้ปฏิเสธความเจริญ แต่กังวลว่ามรดกของชาติอาจเกิดความเสียหายได้ หากไม่มีการประเมินผลกระทบอย่างครอบคลุม

ด้าน ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ นักวิชาการอิสระและคอลัมนิสต์มติชน หนึ่งในกลุ่ม #Saveอโยธยา กล่าวถึงที่มาของโครงการรถไฟความเร็วสูงว่า มีการเริ่มคิดมาตั้งแต่ปี 2553 ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และถูกพัฒนาต่อมาในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กระทั่ง รัฐบาล คสช. เข้ามาบริหารประเทศในปี 2557 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตัดสินใจดำเนินการต่อจากรัฐบาลก่อนหน้า โดย พลเอก ประยุทธ์ ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558 – 2565 แต่ปรากฏว่าพบปัญหาในการใช้งบประมาณตามข้อกฎหมาย และที่สำคัญ คือ ทางรถไฟตัดผ่านพื้นที่ป่าสงวน และพื้นที่ ส.ป.ก.

จากนั้น ช่วงปี 2563 กรมศิลปากร ได้พูดคุยหารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย และกระทรวงคมนาคม ในบันทึกการประชุมรายงานการประชุมหารือ กรณีสถานีอยุธยาของโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา มีมติการประชุมว่า ให้กรมศิลปากร เสนอเรื่องนี้สู่คณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม และคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยเรื่องอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก และนำไปสู่การศึกษา HIA

ซึ่งคณะกรรมการแห่งชาติฯ มองว่าอาจเกิดผลกระทบ จึงเสนอทางเลือก 2 แนวทาง คือ 1) การขุดทำอุโมงค์ลอดผ่านใต้ดิน แทนการยกรางรถไฟขึ้นบนดิน 2) เปลี่ยนเส้นทางใหม่โดยอ้อมพื้นที่มรดกโลก โดยเบี่ยงไปเส้นทางอื่น

แม้จะอยู่ระหว่างกระบวนการทำ HIA แต่ข้อเสนอทั้ง 2 แนวทาง ยังไม่มีการดำเนินการ จึงห่วงว่าอาจถูกถอดถอน หากไม่ทำตามที่คณะกรรมการแห่งชาติฯ มีข้อกังวล

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

นอกจากนี้ ศิริพจน์ ยังได้ยกตัวอย่างมรดกโลกที่ถูกถอดถอน ซึ่งตอนนี้ทั่วโลกมีอยู่ 4 แห่ง ได้แก่ Arabian Oryx Sanctuary ประเทศโอมาน เป็นป่าสงวนที่อนุรักษ์สัตว์, Dresden Elbe Valley ประเทศเยอรมนี เป็นพื้นราบลุ่มแม่น้ำ Elbe, Liverpool-Maritime Mercantile City ตรงบริเวณปากน้ำเมอร์ซีย์ ประเทศอังกฤษ และ Bagrati Cathedral โบสถ์ในยุคกลางตอนปลาย ประเทศจอร์เจีย

“การสร้างทางรถไฟก็สะดวกดี แต่ตอหม้อทุกตอหม้อที่ขุดลงไป มันทำลายหลักฐานโบราณคดี”

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เวทีเสวนายังเปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมฟังเสวนาได้ถามคำถามนักวิชาการ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวประวัติศาสตร์และอนาคตของพื้นที่อโยธยาอีกด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active