นักวิชาการ เสนอพัฒนาเทคโนโลยีองค์ความรู้ และเพิ่มแรงจูงใจนโยบายการทำประกันพืชผลให้สมบูรณ์แบบ ช่วยลดงบประมาณ ส่งเสริมให้ผลผลิตเกษตรกรไม่ตกต่ำอย่างปัจจุบัน
จากสถานการณ์น้ำท่วมพืชผลการเกษตรในกรณีที่ เกษตรกรรายนั้นเป็นลูกหนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ทำประกันภัยพืชผลอยู่ด้วย จะได้รับเงินชดเชย 2 ก้อนด้วยกัน ก้อนแรก ตามมติ ครม.ที่จะช่วยเหลือเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไร่ละ 1,340 บาท จำกัดไม่เกิน 30 ไร่ และได้รับเงินชดเชยจากบริษัทประกันอีก 1,190 บาทต่อไร่ แต่กลับพบว่า เวลานี้มีชาวนาไม่ถึงครึ่งที่ทำประกันภัยพืชผล
ขณะที่ทีมวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า 8 ปีที่ผ่านมา ครัวเรือนเกษตรกรไทยมีแนวโน้มที่จะตกอยู่ในภาวะระดับหนี้ที่สูงถึงร้อยละ 70 ของมูลค่าสินทรัพย์ พอเจอเข้ากับภัยพิบัติ หนี้เก่า ยังไม่ได้จ่าย หนี้ใหม่ ก็กำลังจะเพิ่มขึ้น
เกษตรกรหลายคนบอกว่า น้ำท่วมรอบนี้หนักจริง ๆ ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ และภัยธรรมชาติ ขณะที่ ครม.ได้เคาะมาตรการเยียวยาน้ำท่วมไปแล้ว แต่เกษตรกร รวมถึงชาวนาก็ยังคงรอคอยขั้นตอนการจ่ายเงินเยียวยา โดยเงินช่วยเหลือ ที่ชาวนาจะได้รับการโอนเงินเข้าบัญชีแน่ ๆ ในวันที่ 24 พ.ย.นี้ คือ เงินงวดแรก ตามโครงการประกันรายได้ ปีการผลิต 2565/2566 และมาตรการคู่ขนานตามนโยบายรัฐบาล เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก และยกระดับรายได้เกษตรกร วงเงินรวม ๆ มากกว่า 8 หมื่นล้าน
สำหรับมาตรการช่วยเหลือรอบนี้ จะมีทั้ง การสนับสนุนปัจจัยการผลิต การประกันรายได้ผู้ปลูกข้าว และมาตรการเสริม พร้อมวงเงินสินเชื่อ สำหรับชะลอการขายข้าวและเพิ่มมูลค่าผลผลิต โดยนายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานพิธีกดปุ่มจ่ายเงินสนับสนุนปัจจัยการผลิตไร่ละ 1 พันบาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน หรือไม่เกิน 2 หมื่นบาท พร้อมกับ จ่ายเงินส่วนต่างโครงการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าวงวดแรกในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ แต่ด้วยสถานการณ์ราคาข้าวในตลาดเวลานี้เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ระดับการจ่ายส่วนต่างราคาข้าว อาจไม่จำเป็น ซึ่งกระทรวงการคลัง คาดการณ์ว่า เฉพาะโครงการประกันรายได้ฯ จะใช้เงินไม่น้อยกว่า 3.9 หมื่นล้านบาท แต่ไม่กระทบฐานะทางการคลัง และคาดว่า จะมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 4.6 แสนครัวเรือน
โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ทีมวิจัยจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรไทยยังติดอยู่กับวังวนหนี้สิน จากปัญหาซ้ำเติมเรื่องรายได้ ภัยธรรมชาติ และนโยบายที่ยังออกแบบไม่ครอบคลุมต่อการแก้ปัญหาหนี้สิน
โดย 8 ปีที่ผ่านมา ครัวเรือนเกษตรกรไทยมีแนวโน้มที่จะตกอยู่ในภาวะของระดับหนี้ที่สูงถึงร้อยละ 70 ของมูลค่าสินทรัพย์ และหนี้เดิมยังไม่ได้ชำระ หนี้ใหม่ก็เพิ่มขึ้นเป็นวังวน ขณะที่หลายฝ่ายก็เริ่มมองหาแนวทางเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเกษตรกร หรือ ชาวนา เช่น การประกันภัยพืชผล อย่างน้อยก็เป็นภูมิคุ้มกันลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกร แต่ก็ดูเหมือนจะยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง ที่ยังไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกรเพื่อทำประกันภัยพืชผลทางการเกษตร
สำหรับเงินที่ฝั่งรัฐบาลจะทยอยให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม นอกจากเงินช่วยเหลือน้ำท่วมบ้านตั้งแต่ 5,000 จนถึง 7,000 บาทต่อครัวเรือนแล้ว ถ้าพืชผลเสียหาย รัฐก็จะช่วยจ่ายให้ กรณีนาข้าว คือเงินเยียวยาน้ำท่วม รัฐจะจ่ายให้ไร่ละ 1,340 บาท แต่ช่วยไม่เกิน 30 ไร่
คิดคร่าวๆ ถ้าเกษตรกรมีนา 30 ไร่ ชาวนาก็จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐ 1,340×30 ไร่ = 40,200 บาท
แต่สำหรับเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ ธ.ก.ส.สามาถทำประกันภัยพืชผลกับ ธ.ก.ส.ได้ โดยรัฐ และ ธ.ก.ส.จะสนับสนุนเบี้ยประกันให้ ถ้าผลผลิตเสียหายจากภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม ก็จะได้รับเงินชดเชยที่ไร่ละ 1,190 บาทต่อไร่ แต่สำหรับใครที่ไม่ได้เป็นหนี้กับ ธ.ก.ส.ทาง ธ.ก.ส.ก็เปิดให้ทำประกันภัยพืชผลได้ค่ะ แต่ว่า จะต้องจ่ายเบี้ยประกันเอง แบ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง จ่ายเบี้ย สูงสุดที่ 110 บาท 60 บาท และพื้นที่เสี่ยงต่ำสุด เบี้ยอยู่ที่ 27 บาทต่อไร่ แต่กรณีนี้จะได้รับเงินชดเชย หรือ วงเงินคุ้มครองที่ 240 บาทต่อไร่
The Active ลงไปสำรวจและสอบถามความคิดเห็นชาวนาในตำบลสนามชัย อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา หลายคน หลายคนมีความเห็นที่แตกต่าง
อำนวย เกิดลาภี ชาวนาใน ต.สนามชัย อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา บอกว่า ปีนี้ทำนา 43 ไร่ ถูกน้ำท่วมเสียหายเกือบทั้งหมด ที่ผ่านมาผลผลิตที่เขาประเมินว่าจะเก็บเกี่ยวได้ 60 ตัน เหลือเพียง 7 ตันเท่านั้น ปัจจุบันจึงเตรียมจะกู้เงินจาก ธ.ก.ส.เพิ่มเติม จากที่มีหนี้ค้างเก่าอยู่กว่า 1.5 แสนบาท แม้ธนาคารจะแนะนำให้ทำประกันภัยพืชผลภาคสมัครใจ เพื่อลดความเสี่ยง แต่เขาก็ปฏิเสธ เพราะนาที่ทำอยู่เป็นนาเช่า
ร้อยโทวัลลภ เนื่องประถม รองนายก อบต.สนามชัย อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา แม้เขาก็ประกอบอาชีพชาวนาด้วยเช่นกัน เขาบอกว่า ที่ผ่านมาพื้นที่นาที่นี่เสียหายค่อนข้างมาก แต่ส่วนใหญ่เกษตรกรไม่เลือกทำประกันภัยพืชผลกับ ธ.ก.ส.เพราะเห็นว่า ยุ่งยาก เพราะที่ผ่านมาต้องเจอกับเงื่อนไข เช่นเดียวกับตัวเขา ที่แม้จะมีนาเป็นของตัวเองก็ตาม
จะเด็จ สาสาร กำนันตำบลสนามชัย อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา บอกด้วยว่า ปีนี้ในพื้นที่น้ำท่วมหนักกว่าปีที่ผ่านมา มีนาข้าวในตำบลเสียหายกว่าร้อยละ 90 แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ ไม่เลือกทำประกันพืชผลทางการเกษตรเพื่อลดความเสี่ยง อาจเพราะที่ผ่านมา ชาวนามักคิดว่า อาจส่งผลกระทบกับการรับสิทธิเงินช่วยเหลือเช่น เงินประกันราคาข้าว ซึ่งสูงกว่า เงินที่จะได้รับหลังเคลมความเสียหายจากผลผลิตทางการเกษตรในการประกันภัยพืชผล เพราะใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน
ทาง ธ.ก.ส.ยืนยันกับเราว่า วงเงินคุ้มครองนี้ สามารถรับได้ควบคู่ไปกับ เงินชดเชยน้ำท่วมของรัฐ แต่อย่างที่ทีมข่าวลงพื้นที่ไป ดูเหมือนจะมีความเข้าใจของเกษตรกรว่า ถ้ารับเงินจากโครงการประกันภัยพืชผลแล้ว อาจจะไปกระทบกับการรับสิทธิเงินช่วยเหลือจากรัฐ นั่นก็เลยทำให้ข้อมูล พื้นที่เพาะปลูกข้าวปี 65/66 ที่มีอยู่ 66.2 ล้านไร่เวลานี้ ทาง ธ.ก.ส.พบตัวเลขว่า มีเพียง 29 ล้านไร่ กับเกษตรกร 1.9 ล้านคนเท่านั้น ที่ทำประกันภัยพืชผลกับ ธ.ก.ส.จากเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4.68 ล้านครัวเรือน
ด้าน รศ.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา (TDRI) เห็นว่า ชาวนาส่วนใหญ่ไม่ทำประกันภัยพืชผล เพราะการจ่ายเงินล่าช้า และมีเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องเป็นความเสียหายแบบสิ้นเชิง ซึ่งอาจส่งผลให้ชาวนาไม่สามารถรับสิทธิเงินส่วนต่างจากโครงการประกันรายได้ ซึ่งต้องมีผลผลิต เพราะอยู่บนฐานข้อมูลเดียวกันของกระทรวงมหาดไทย แต่เห็นว่า แนวโน้มหลังจากนี้ การประกันภัยพืชผล จะเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญเพื่อลดความเสี่ยงของเกษตรกร และช่วยลดงบประมาณของรัฐ
“โดยเฉพาะเงินช่วยเหลือปัจจัยการผลิต 1,000 บาทต่อไร่ ที่แต่ละปีรัฐต้องจ่ายเงินส่วนนี้หลายหมื่นล้านบาท โดยแนะให้ปรับเป็นเบี้ยสนับสนุนการทำประกันภัย และนำเงินส่วนที่เหลือไปใช้เพื่อสนับสนุนด้านเทคโนโลยี และการเพิ่มผลผลิตของเกษตรกรในระยะยาวแทน และคาดหวังว่า จะทำให้เกษตรกรหันมาปรับตัวและพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ผ่านการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิต ขณะที่ไทยกำลังเสียแชมป์ผลผลิตทางการเกษตร พร้อมกับลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสภาพอากาศแปรปรวน ที่เป็นปัจจัยซ้ำเติมชาวนาเวลานี้”