สำรวจความคืบหน้า ‘บ้านมั่นคง’ คลองลาดพร้าว-เปรมประชากร เคลียร์ทางน้ำ ยกระดับบ้านริมคลองขึ้นฝั่ง

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขปัญหาชุมชนขวางทางน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ และมลพิษทางน้ำ

วันนี้ 28 ก.พ. 65 The Active ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร ภายหลังจากที่รัฐบาลเดินหน้าโยบายปรับปรุงพื้นที่แหล่งน้ำแก้ปัญหาการระบายน้ำคลองสายหลักไม่คล่องตัว ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554

5 มิ.ย. 2555 คณะรัฐมนตรี มีมติให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือการแก้ไขปัญหาการรุกล้ำพื้นที่รับน้ำและทางระบายน้ำ ป้องกันไม่ให้มีการรุกล้ำพื้นที่แหล่งน้ำเพิ่มเติม หลังพบว่ามีชุมชนแออัดอาศัยอยู่ในพื้นที่แหล่งน้ำจำนวนมาก

5 มี.ค. 2558 นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ให้แก่ประชาชนที่รุกล้ำพื้นที่คลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับแนวทางการจัดระบบสาธารณูปโภคและผังเมือง

2 ม.ค. 2559 คณะรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงพม. ดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยให้เร่งรัดการดำเนินโครงการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลก่อน เช่น โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร

8 มี.ค. 2559 กระทรวงพม.ปรับระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (ปี 59-61) ซึ่งมีมติอนุมัติงบวงเงินประมาณ 4,061.44 ล้านบาท ดูแลกลุ่มเป้าหมาย 74 ชุมชน 11,004 ครัวเรือน

“บ้านมั่นคง” นับเป็นกลไกการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัย ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ด้วยการจัดสรรที่อยู่อาศัยใหม่ที่มีความมั่นคงทั้งในด้านของอาคารสถานที่ การเงิน และอาชีพ ตามที่รัฐบาลเห็นชอบโครงการและอนุมัติงบประมาณสนับสนุนจำนวน 147,000 บาทต่อครัวเรือน โดยเงินจำนวนนี้จัดสรรนำไปสนับสนุนการวางระบบสาธารณูปโภค 50,000 บาท อุดหนุนการสร้างบ้านใหม่ 25,000 บาท และเงินช่วยเหลือ 72,000 บาท ให้กับผู้เข้าร่วมที่โครงการบ้านมั่นคง

โครงการนี้เป็นไปตามความสมัครใจของผู้อยู่อาศัย โดยเริ่มต้นเจ้าหน้าที่ พอช. มาช่วยสร้างกระบวนการและทำงานร่วมกัน ตั้งแต่การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนด้วยการรวมกลุ่มชาวบ้าน ก่อตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ประจำชุมชน สร้างความเข้าใจและความเป็นไปได้ของการมีที่อยู่ใหม่ ทั้งในรูปแบบของอาคารสถานที่ และทำเลที่ตั้งของชุมชนทดแทน

จากนั้น พอช. จะดำเนินการจัดการเรื่องที่ดินที่อาศัย พร้อมออกแบบที่อาศัยตามความต้องการ ร่วมดูแลและบริหารงานก่อสร้างโดยจัดจ้างผู้รับเหมา ตลอดจนการก่อสร้างบ้าน การวางระบบสาธารณูปโภค รวมถึงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตครบมิติ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หลังจากบ้านก่อสร้างแล้วเสร็จ

ปัจจุบันพบว่า ในพื้นที่คลองลาดพร้าว ซึ่งเดิมมีชุมชนบุกรุกพื้นที่น้ำ 7,069 ครัวเรือน เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงและอาศัยเข้าอยู่บ้านใหม่เรียบร้อยแล้ว 3,536 ครัวเรือน

ในพื้นที่คลองเปรมประชากร เดิมมีชุมชนบุกรุกพื้นที่น้ำ 6,386 ครัวเรือน เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงแล้ว 779 ครัวเรือน แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ เข้าอยู่แล้ว 273 ครัวเรือน กำลังก่อสร้าง 503 ครัวเรือน  และเตรียมก่อสร้าง 3 ครัวเรือน

ในประเด็นเรื่องการผ่อนชำระผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้รับการอนุมัติวงเงินกู้ ในนามของสหกรณ์ชุมชนฯ 360,000 ต่อหลัง ทำให้สามารถซื้อบ้านได้ในราคาถูกสอดรับกับสถานะทางการเงิน ดังนี้

  • บ้านชั้นเดียว ราคาประมาณ 300,000 บาท ผ่อนชำระ 1,500-1,600 ต่อเดือน 
  • บ้านสองชั้น ราคาประมาณ 450,000 บาท ผ่อนชำระ  2,600 ต่อเดือน
  • บ้านแฝด ราคาประมาณ 430,000 สร้าง ผ่อนชำระ  2,600 ต่อเดือน 

บ้านเดี่ยว ขนาด 4*7 เมตร ราคาประมาณ 450,000 บาท ขนาด 6*7 เมตร (สองครอบครัว) ราคาประมาณ 550,000 บาท ผ่อนชำระ 2,600 ต่อเดือนทั้งนี้ ราคาของบ้านแต่ละแห่งจะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับบริบทพื้นที่ของชุมชน รวมทั้งช่วงเวลาของก่อสร้าง เนื่องจากราคาวัสดุราคาขึ้นเฉลี่ย 10% ต่อปี

ธนัช นฤพรพงศ์ รองผู้อำนวยการ พอช. ระบุว่า ในส่วนของครัวเรือนและชุมชนที่รุกล้ำลำน้ำแต่ยังไม่ได้ดำเนินการสร้างบ้านมั่นคงนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการใน 2 แนวทางคือ 1. รอดำเนินการพร้อมกับการสร้างเขื่อนริมตลิ่งโดยสำนักระบายน้ำ เนื่องจากบ้านมั่นคงต้องดำเนินการพร้อมกันกับการปรับปรุงตลิ่ง และ 2.ชาวบ้านบางกลุ่มยังไม่เห็นด้วยกับโครงการ

“ยังมีชาวบ้านที่ยังมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ยังไม่อยากเข้าร่วมโครงการ ระหว่างนี้ พอช.ต้องพยายามสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะบางครัวเรือนพบว่ามีความเข้าใจผิด เช่น รอการชดเชยจากทางภาครัฐในการให้รื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแหล่งน้ำ ส่วนที่ดำเนินการแล้วพบว่าพื้นที่คลองมีความสะอาดมากขึ้น สามารถจัดการขุดลอกและปรับปรุงภูมิทัศน์ได้ดีมากขึ้น”

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้