‘ชัชชาติ’ เปิดตัว 200 นโยบายให้กรุงเทพฯ น่าอยู่สำหรับทุกคน

‘ชัชชาติ’ จัดงานนำเสนอนโยบาย สร้างกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้น 9 มิติ ขนนักวิชาการ ทีมงาน อาสาสมัคร คนดังการเมืองร่วมงานคับคั่ง ดึงร้านค้าชุมชน ขายอาหาร ผลิตภัณฑ์ชุมชน สะท้อนนโยบายที่คิดขึ้นจากฐานราก

วันนี้ (28 ก.พ. 2565) ที่ มิวเซียมสยาม ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จัดงาน “ชัชชาติ อาสา ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ: 200 นโยบาย กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” เพื่อเปิดตัวนโยบาย และนำเสนอความคิดเห็นเชิงนโยบายที่ได้จากการระดมความคิดร่วมกันจากเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนอาสาสมัครชุมชน และภาคประชาสังคม สู่ 200 นโยบาย ชิงศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในครั้งนี้

มีการเปิดตัวทีม ‘เพื่อนชัชชาติ’ ที่ระบุว่าเป็นกระบวนการจัดทำนโยบาย ที่ผ่านการทำงานมากว่า 1,000 วัน โดยเริ่มจากการกำหนดประเด็น (agenda setting) ข้อมูลด้านปัญหาความต้องการและสิ่งที่สามารถต่อยอดได้ เพื่อนำมากำหนดนโยบาย (policy formulation) โดยปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อร่างเป็นแนวทางและแนวคิดนโยบาย โดยปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญที่เป็นทั้งนักวิชาการและเครือข่ายภาคประชาสังคมหลายกลุ่มที่ทำงานในประเด็นทั้ง 9 มิติ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การศึกษา ความปลอดภัย การบริการจัดการ และการเดินทาง

ต่อมา คือ การเลือกนโยบาย (policy selection) โดยยึดประโยชน์ของประชาชนและความเป็นไปได้บนกรอบอำนาจหน้าที่ งบประมาณ และทรัพยากรของ กทม. และสุดท้าย คือ ประเมินประสิทธิภาพนโยบาย (policy assessment) เพื่อให้มั่นใจว่าทิศทางนโยบายที่เลือกทำสอดคล้องกับสภาพปัญหา ความต้องการ และความจำเป็นของประชาชน ยกตัวอย่างเช่น นโยบาย จราจรไม่จลาจล: การจราจรคล่องตัวขึ้น จากการบริหารทั้งโครงข่าย โดยมีแผนจะยกระดับศูนย์สั่งการกลาง (Command Center) ที่บูรณาการการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงาน เพื่อประโยชน์หลายอย่าง เช่น หากไม่จ่ายค่าปรับใบสั่งจะต่อทะเบียนรถไม่ได้ ควบคู่ไปกับการนำโครงการบริหารจัดการจราจรด้วยระบบอัจฉริยะ (Intelligent Traffic Management System: ITMS) มาใช้งาน

ชัชชาติ

นอกจากนั้นยังจัดการนำเสนอนโยบายผ่านสภาพปัญหาของ กทม. ทั้ง การจราจร ขนส่งสาธารณะ สภาพอากาศ สุขภาพ อนามัย และที่อยู่อาศัยเป็นต้น โดยภายในงาน ยังได้มีการจัดร้านอาหาร และผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อสะท้อนถึงการออกแบบนโยบายหาบเร่แผงลอย และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยรับฟังความคิดเห็นของพ่อค้า แม่ขาย และออกแบบนโยบายตามความต้องการของประชาชนภายในงานได้รับความสนใจจากนักวิชาการ และนักการเมือง อย่าง รศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธุ์ จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ทวิดา กมลเวชช คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ดวงฤทธิ์ บุนนาค, พวงเพ็ชร ชุนละเอียด และประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ เป็นต้น

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กล่าวขอบคุณผู้มีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายทุกคน พร้อมระบุว่าตนไม่สามารถคิดทั้งหมดนี้ออกมาได้ ปัญหาใน กทม. มีมากมาย ต้องถอดแว่นตาของคนเป็นวิศวกร แล้วมารับฟัง เพื่อให้เข้าใจมิติการแก้ปัญหาอื่น ๆ แรกเริ่มทีมชัชชาติมาจากทีมเล็ก ๆ เริ่มต้นด้วยการมองไม่เห็นเส้นทาง และยังไม่มีนโยบายอะไร มีความเหนื่อย และล้าอยู่ตลอดเส้นทาง แต่พอเริ่มลงชุมชน และพูดคุยกับคนในชุมชน เริ่มมีคนเข้ามาร่วมทีมเยอะขึ้น

“จากวันนั้นจนถึงวันนี้ นับได้ 1,000 วัน นี่คือพลังที่จะเปลี่ยนกรุงเทพฯ มาจากพวกเราร่วมมือกัน 1,000 วัน เราคิดนโยบายมาตลอด จนนำมาสู่ 200 นโยบาย ที่จะเป็นคำตอบให้กรุงเทพฯ ถามว่าเยอะไปหรือไม่ ผมว่ายังน้อยไปเลย กรุงเทพฯ จะมีแค่ 10 นโยบายไม่ได้ ทุกอย่างต้องเริ่มไปพร้อมกัน และจะเปลี่ยนไปตามข้อมูลที่ได้มาทุกวัน”

ชัชชาติ

ผศ.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ทีมนโยบายของทีมชัชชาติ กล่าวว่า ทีมชัชชาติเริ่มทำงานนโยบายมาแล้วกว่า 1,000 วัน ผ่านการรับฟังปัญหาจากคนในชุมชน สิ่งที่โดดเด่นสำหรับนโยบายชุดนี้ เป็นนโยบายที่เข้าใจประชาชนมากที่สุด ตรงกับความต้องการของประชาชนมากที่สุด ภายใต้แนวคิดที่จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ตอนนี้กรุงเทพฯ ได้กลายเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับบางคนไปแล้ว มีคนตกงานจากโควิด-19 ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย และคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีเท่ากันทุกคน

“รู้จักอาจารย์ชัชชาติ มา 20 ปี การเปิดตัว ตั้งใจทำงาน โดยไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ นี่คือ การตัดสินใจครั้งใหญ่ ที่วัดความตั้งใจจริง และเรามองเห็นความตั้งใจนั้น…”

เมื่อถามว่าเหตุผลที่ ชัชชาติ เปิดตัวการร่วมงานกับตนอย่างเป็นทางการ หมายความถึงการวางตัวเพื่อทำหน้าที่ รองผู้ว่าฯ กทม. ด้วยหรือไม่ เกษรา กล่าวว่า ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนั้น เพียงแต่เข้ามาทำหน้าที่ในการดูแลนโยบายร่วมกันเท่านั้น

ภายในงานได้จัดการแสดงดนตรี ผ่านเยาวชนเครือข่าย ‘คลองเตยดีจัง’ ร้านค้าชุมชน และผลิตภัณฑ์ชุมชนของกรุงเทพมหานคร ที่สะท้อนวิถีชีวิต และอัตลักษณ์ของคนในชุมชน


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้