“อุดหนุนค่าเช่าห้อง – เติมอาชีพ” เพิ่มโอกาส “คนไร้บ้าน” สร้างคุณค่าที่มากกว่า “สงเคราะห์”

พม. รับ “ตัดเสื้อโหล ไม่ใช่สูตรสำเร็จ” ยอมปรับนโยบาย จับมือภาคี เครือข่ายภาคประชาชน อุดหนุนค่าเช่าห้อง ช่วยคนไร้บ้านเข้าถึงที่อยู่มั่นคง พร้อมสร้างอาชีพ สร้างรายได้ หวังขยายผลแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนไร้บ้าน คนจนเมืองทั่วประเทศ

คนไร้บ้าน

วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ปากท้อง คนตกงาน ขาดรายได้ หนึ่งในค่าใช้จ่ายสำคัญที่ต้องรับผิดชอบ อย่าง ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าห้อง กลายเป็นภาระที่ต้องแบกรับ จนในที่สุดทำให้บางคนตัดสินใจยอมทิ้งที่อยู่อาศัยที่เคยมี หันเหชีวิตตัวเองมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ กลายเป็นคนไร้บ้าน

จากสถานการณ์นี้ สอดคล้องกับข้อมูลที่สำรวจโดยเครือข่ายคนไร้บ้าน พบว่า เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ มีคนไร้บ้านไม่น้อยกว่า 1,300 คน ในจำนวนนี้เป็น “คนไร้บ้านหน้าใหม่” ที่เพิ่มขึ้นหลังการระบาดโควิดถึง 30% หรือ ประมาณ 400 คน

กู้ชีวิตขวบปีแรก อุ้มให้ไว ไม่ตกเป็น “คนไร้บ้านถาวร”

เพื่อไม่ทำให้คนไร้บ้านหน้าใหม่ ต้องกลายเป็นคนไร้บ้านถาวร  “ภรณี ภู่ประเสริฐ” ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ระบุว่า จำเป็นอย่างมากที่ต้องมีมาตรการเข้ามาหนุนเสริม เพื่อให้คนกลุ่มนี้สามารถกลับไปตั้งหลักชีวิต กลับไปมีที่อยู่ที่มั่นคง อยู่ในชุมชนเดิมของพวกเขา โดยต้องเร่งทำให้ได้ภายใน 1 ปีแรก เพราะถือเป็นห้วงเวลาสำคัญที่จะป้องกันไม่ให้กลายเป็นคนไร้บ้านถาวร ไม่เช่นนั้นการแก้ไขปัญหาจะยากขึ้น

ภรณี ภู่ประเสริฐ
ภรณี ภู่ประเสริฐ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส.

 “1 ปีแรก เป็น turning point หรือ จุดเปลี่ยนที่สำคัญ ถ้าไม่เร่งแก้ปัญหาช่วงนี้ คนไร้บ้านหน้าใหม่ จะกลายเป็นคนไร้บ้านถาวร นั่นจะทำให้แก้ไขปัญหาลำบากขึ้น  คำว่า ไร้บ้านถาวร มีลักษณะพิเศษเต็มไปหมด บางคนรู้สึกว่าเขาเป็นจิตเวชหรือเปล่า เรื่องการพูดคุยเขาจะเริ่มเข้ากับคนในสังคมไม่ได้ บางคนอาจไม่สามารถอยู่กับชุมชน ครอบครัว หรือมีปฏิสัมพันธ์ได้ดีเหมือนแต่ก่อน ปีแรกจึงเป็นปีสำคัญ ที่เราจะต้องเข้าไปหนุนเสริมมาตรการเข้าไปแทรกแซง หรือ อุ้มคนเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด”

สสส.จึงร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้ง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วยกันออกแบบกระบวนการพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน และศึกษาวิจัย เพื่อเดินหน้า “โครงการนวัตกรรมการจัดบริการที่อยู่อาศัยและการช่วยเหลือฉุกเฉิน บนฐานการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้าน”

“อุดหนุนค่าเช่าห้อง” ช่วยแบบมี “ส่วนร่วม”
คุณค่าที่มากกว่าการ “สงเคราะห์”

คนไร้บ้าน

โดยโครงการฯ จะช่วยอุดหนุนค่าเช่าห้อง ที่ไม่ใช่การออกให้ 100% แต่จะออกกันครึ่ง ๆ โดยโครงการฯ ช่วย  60%  คนไร้บ้านออกอีก 60%  ส่วนต่างที่เหลืออีก 20% ที่จ่ายเกินมา จะนำไปสมทบเข้ากองทุนเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย โดย สสส.เป็นหน่วยงานหลัก ช่วยอุดหนุนไปก่อนในช่วงที่ระเบียบทางราชการยังติดขัด โครงการฯ ยังสนับสนุนเรื่องการพัฒนาอาชีพควบคู่ไปด้วย เพื่อให้คนไร้บ้านมีรายได้ที่มั่นคง สามารถจ่ายค่าเช่าห้องได้เอง โดยตั้งเป้านำร่องระยะแรกไปก่อน 3 – 6 เดือน

สมพร หาญพรม  ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  ยอมรับว่า โครงการนี้ ช่วยให้การแก้ปัญหาคไร้บ้าน เริ่มต้นจากการมองไปให้ถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มองให้เห็นคุณค่าของพวกเขา จึงไม่ใช่แค่การช่วยเหลือเชิงสงเคราะห์ แต่ใช้หลักการมีส่วนร่วม ให้คนไร้บ้านได้พึ่งพาศักยภาพของตัวเองด้วย

“ห้องเช่าราคาถูกที่เราทำร่วมกับพี่น้องคนไร้บ้าน จึงเป็นการทำร่วมกัน การจ่ายค่าห้องของคนไร้บ้าน ก็จะมีเงินสมทบด้วย เพื่อมาพัฒนาที่อยู่อาศัยของเขาอย่างต่อเนื่อง เรามองว่า ไม่ได้ทำแค่ชั่วคราว แต่มองถึงความมั่นคงของพี่น้องคนไร้บ้านในอนาคต แน่นอนว่าไม่ใช่การสนับสนุนแค่ที่อยู่อาศัยเรื่องเดียว แต่เป็นการพัฒนาด้านอาชีพ เรื่องสิทธิ เรื่องความมั่นคงในอนาคตให้กับพวกเขา”

ห้องเช่าเล็ก ๆ เติมฝัน เปลี่ยนชีวิต ยุติเส้นทาง “คนไร้บ้านถาวร”

คนไร้บ้าน บ้านเช่า
สมโภชน์ ชมพิกุล หนึ่งในผู้ร่วมโครงการฯ นำร่องอุดหนุนค่าเช่าห้อง

สมโภชน์ ชมพิกุล คนไร้บ้าน วัย 52 ปี ก่อนหน้านี้เขาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ เป็นคนไร้บ้านมานานนับปี เนื่องจากวิกฤตโควิด ส่งผลกระทบต่องานรับจ้างใช้แรงงาน ทำให้มีรายได้ไม่เหมือนเดิม เขาจึงแบกรับภาระค่าเช่าห้องไม่ไหว จึงตัดสินใจทิ้งห้องเช่ามานอนข้างถนน


สมโภชน์ คือหนึ่งในคนไร้บ้านที่ได้รับโอกาสให้เข้าร่วมโครงการฯ นำร่อง ซึ่งขณะนี้เขาไม่ต้องใช้ชีวิตเป็นคนไร้บ้านอีกแล้ว เพราะมีห้องเช่า ที่เป็นเหมือนบ้านหลังใหม่ ให้ชีวิตใหม่กับเขาได้พักอาศัย อยู่ภายในซอยสลักหิน ย่านสถานีหัวลำโพง

“มีห้องแล้ว ช่วยคุ้มฟ้า คุ้มฝน นอนอย่างปลอดภัย ไม่ต้องกลัวของหาย ไม่ต้องหลบนักเลงเหมือนเมื่อก่อน สุขอนามัย การอาบน้ำ ซักผ้า ก็สะดวกขึ้น ที่สำคัญยังสะดวกต่อการประกอบอาชีพค้าขาย ที่เป็นอาชีพที่เขาใฝ่ฝันมาตลอดด้วย”

คนไร้บ้าน บ้านเช่า
สมโภชน์ ชมพิกุล กับโอกาสการเข้าถึงอาชีพค้าขายที่เขาใฝ่ฝัน

“ค้าขาย คืออาชีพในฝันของพี่เลยนะ ถ้าไม่มีห้องพักเป็นหลักแหล่ง จะทำอาชีพนี้เพื่อหารายได้เพิ่มไม่ได้เลย ลองคิดดูถ้าเราไม่มีห้อง ไม่มีที่เตรียมของ ไปนั่งเสียบลูกชิ้นข้างถนน ฝุ่นบ้างอะไรบ้าง ลูกค้ารู้ก็คงไม่มีใครอยากกิน แต่ตอนนี้เมื่อได้โอกาส มีห้องเช่า และรถเข็น ที่ทางกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ สนับสนุนให้ พี่ดีใจมาก ได้ขายลูกชิ้นทอด มีรายได้เพิ่ม แล้วไม่ใช่เราได้คนเดียวนะ พี่ยังแบ่งให้คนไร้บ้านอีกคนมาช่วยขาย เขาไม่ต้องลงทุน มีกำไรก็แบ่งให้เขาบ้าง พอพี่มีโอกาสแบบนี้ พี่ก็อยากส่งต่อให้เพื่อน ๆ มีรายได้ด้วย ส่วนงานประจำของพี่ อย่างงานก่อสร้าง พี่ก็ยังทำนะ ถ้าวันไหนมีงาน พี่ก็ให้น้องขายลูกชิ้นทอดให้ ถือเป็นโอกาสดีมาก ๆ เลย คราวนี้ก็จะตั้งใจเก็บเงิน จะได้ไม่ต้องไปนอนข้างถนนอีก”

รัฐต้องปรับตัวทางนโยบาย “ตัดเสื้อโหล” ไม่ใช่สูตรสำเร็จ

ขณะที่ อนุกูล ปีดแก้ว อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม. บอกว่า ขณะนี้มีคนไร้บ้านเข้าร่วมโครงการฯ นำร่อง 18 คน รวม 11 ห้อง นอกจากนำร่องแล้ว สิ่งนี้จะช่วยสื่อสารให้คนในสังคมเข้าใจคนไร้บ้านมากขึ้น ซึ่งทุกฝ่ายก็หวังให้พวกเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  และในระยะต่อไป คือการไปเสริมพลังทางเลือกให้กับพวกเขา ในเรื่องการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม หรือมีมาตรฐานมากขึ้น ควบคู่กับการมีรายได้ที่มั่นคง ซึ่งขณะนี้ได้ประสานผู้ประกอบการ 11 องค์กร เพื่อไว้รองรับให้พวกเขามีทางเลือกในอาชีพตามที่เขาถนัด ที่สำคัญรัฐเองต้องปรับตัวทางนโยบายมากขึ้น

อนุกูล ปีดแก้ว
อนุกูล ปีดแก้ว อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม.

“เราต้องทำบริการให้มีความสอดคล้อง คือเป็นการปรับตัวทางนโยบาย ที่ตอบสนองความต้องการของคนแต่ละกลุ่ม นั่นคือคนไร้บ้านมีพื้นที่ของเขา ก็ต้องปรับสภาพงานให้เข้ากับสิ่งที่เขาถนัด ลดค่าใช้จ่าย เพื่อไม่ให้เขาตกอยู่บนความเสี่ยงแบบเดิม ก็เป็นการปรับตัวทางนโยบายของรัฐ ไม่เช่นนั้นก็จะทำเป็นสูตรตายตัวของรัฐ แค่การสงเคราะห์  ที่ผ่านมาก็จะถูกวิพากวิจารณ์ลักษณะเสื้อโหล ซึ่งอาจไม่ตอบสนองทั้งหมด รัฐจึงจำเป็นต้องพยายามปรับตัว”

สำหรับ “โครงการนวัตกรรมการจัดบริการที่อยู่อาศัยและการช่วยเหลือฉุกเฉิน บนฐานการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้าน” จะนำร่องระยะแรก 3 – 6 เดือน ควบคู่กับการทำข้อมูล ศึกษาวิจัย หากทำสำเร็จ แล้วสามารถขยายผลได้มากขึ้น น่าจะเป็นก้าวใหม่ของการต่อยอดช่วยเหลือคนไร้บ้านให้เข้าถึงที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับพวกเขามากขึ้น และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับนโยบาย ช่วยให้คนจนเมืองทุกกลุ่มได้เข้าถึงที่อยู่อาศัยอย่างมั่นคงด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ