โควิด-19 เตียงเต็ม เหตุประกันไม่รับเคลม​ HI ?

ศบค. ชี้ อัตราติดเชื้อไม่เกิน 3% ยังอยู่ในขีดรองรับของระบบสาธารณสุข ยัน ไม่ปิดประเทศ ไม่ล็อกดาวน์ ‘นักระบาดฯ’ แนะ เสริมศักยภาพระบบสาธารณสุขในชุมชนรับโควิด-19 ขาขึ้น ‘นักไวรัสวิทยา’ จับตาโอมิครอน BA.2 แยกเป็นสายพันธุ์พาย

วันนี้ (21 ก.พ. 2565) สถานการณ์โควิด-19 ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18,883 คน ส่วนผู้ที่มีผลตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท หรือ ATK เป็นบวก จำนวน 15,010 คน พบผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่​ เป็นกลุ่มวัยทำงาน วัยรุ่น และกลุ่มนักเรียน ซึ่งส่วนใหญ่มีอาการน้อย สามารถรักษาตัวอยู่ที่บ้าน​ หรือ Home Isolation (HI) แม้​ระบบสาธารณสุขจะรับผู้ติดเชื้อได้ถึง 5​ หมื่นคนต่อวัน แต่ขณะนี้แม้ผู้ติดเชื้อยังอยู่ระหว่าง 2-3  หมื่นคน เริ่มเกิดภาวะเตียงเต็ม 

The Active พูดคุยกับอดีตผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลายคน ให้ข้อมูลตรงกันว่าคนที่ทำประกันสุขภาพเมื่อติดโควิด-19 แม้มีอาการน้อย แต่ก็จำเป็นต้องเข้าไปรักษาตัวอยู่ใน​ Hospitel (หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ) หรือ​โรงพยาบาล จึงจะสามารถเคลมประกันภัยได้ ในขณะที่การรักษาตัวที่บ้านจะเบิกประกัน​ไม่ได้

ก่อนหน้านี้ (15 ก.พ.) สมาคมประกันชีวิตไทย ออกข้อปฏิบัติเคลมประกันโควิด สำหรับผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อ โดยจะไม่จ่ายชดเชยให้กับการกักตัวรักษาที่บ้าน หรือ HI​ ซึ่งยังเป็นแนวทางที่สับสน แม้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จะยืนยันว่า กรณี HI​ จะอ้างเป็นเหตุไม่จ่ายสินไหมไม่ได้ ส่วน กรมการแพทย์ ก็ยืนยันว่า​ HI​ ถือเป็นผู้ป่วยใน ตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนด​ จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่า นี่อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์เตียงเต็ม โดยเฉพาะกับ Hospitel ในกรุงเทพมหานคร ที่​เต็ม​ 100% แล้ว

ผศ. นพ.เฉลิมชัย​ บุญยะลีพรรณ​ รองประธาน​กรรมาธิการ​ การสาธารณสุข​ วุฒิสภา​ บอกกับ The Active ว่าหากผู้ติดเชื้อโอมิครอน​มีอาการน้อยก็ได้รับการรักษาฟรีจากรัฐอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่มีอาการหนักต้องเข้าโรงพยาบาลก็มีเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งบริษัทประกันที่กำลังไปไม่รอดจากการตรวจเจอจ่ายจบ ก็ปรับตัวจากสถานการณ์การระบาดของโอมิครอน โดยต้องยอมรับว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้วมีอาการน้อย ก็เหมือนได้รับโบนัสไปพร้อมกัน

แต่สำหรับ สภาองค์กรผู้บริโภค เน้นย้ำเตือนเรื่องนี้ขอผู้ที่ซื้อประกันภัยเจอแล้วจ่าย ไม่ว่าจะรักษาตัวที่ใด โดยเฉพาะการรักษาตัวที่บ้าน ก็ยังควรที่จะได้รับสินไหมทดแทนตามสิทธิทำไว้กับประกันก่อนหน้านี้ 

ศบค. ยัน ระบบสาธารณสุขยังรับได้ 

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ รองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ระบุว่า ขณะนี้พบอัตราการติดเชื้อไม่เกิน 3% และยังไม่คิดที่จะประกาศล็อกดาวน์ ไม่มีการยกเลิกมาตรการเข้าประเทศแบบ Test&Go เนื่องจากในกลุ่มผู้เดินทางเข้าประเทศที่พบการติดเชื้อยังอยู่ในขีดความสามารถที่ระบบสาธารณสุขรับได้

ส่วนการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ศบค. ไม่ได้ประเมินจากยอดผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยในโรงพยาบาล และผู้ป่วยอาการหนัก เท่านั้น แต่จะพิจารณาถึงเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และความเป็นอยู่ของประชาชนร่วมด้วย 

โดยในวันที่ 23 ก.พ. นี้ ขอให้จับตาการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ของ ศบค. ชุดใหญ่ ทั้งนี้ เมื่อไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ และยังคงนโยบายเปิดประเทศ อาจต้องมีมาตรการที่เข้มงวด ส่วนจะเป็นอย่างไรขอให้ติดตามจากผลการประชุม ศบค. ชุดใหญ่ นอกจากนี้ ยังต้องขอความร่วมมือนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ที่ออกมาให้ความเห็น ขอให้ระบุด้วยว่าเป็นเพียงความเห็นส่วนตัว

นักระบาด แนะเสริมศักยภาพ รพ.ชุมชน 

ด้าน ผศ.ธวัชชัย อภิเดชกุล​ คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง​ มองว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการเข้าถึงชุดตรวจ ATK ที่ง่ายขึ้น​ ยิ่งตรวจเยอะก็ยิ่งเจอมาก​ ขณะเดียวกันในช่วง 2​ เดือนที่ผ่านมา​ มีมาตรการ​ผ่อน​คลาย​ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตปกติ​ ทั้งนี้ หากสังเกต​ดูผู้ติดเชื้อรายใหม่​ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม​นักเรียน​ ซึ่งมีลำดับการฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มสุดท้าย​ และอีกกลุ่มก็เป็นกลุ่มวัยรุ่นวัยทำงานซึ่งยังมีร่างกายแข็งแรง เมื่อติดเชื้อก็มีอาการไม่มากนัก ควรจะเข้าสู่ระบบการรักษาตัวแบบ Home Isolation​ 

ในระยะเฉพาะ​หน้า ผศ.ธวัชชัย เชื่อว่า​ การล็อกดาวน์จะยังไม่ใช่ทางเลือกของกระทรวงสาธารณสุขในตอนนี้​ แต่ทางออกน่าจะคือการเสริมศักยภาพของระบบสาธารณสุขชุมชน โรงพยาบาลชุมชน ซึ่งกระจายกำลังรับมือกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น​ แต่อาการไม่รุนแรง​ ต่างจากการระบาดของสายพันธุ์​เดลตา

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาปัจจัยร่วมทั้งยอดการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมไปถึง 70% และจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมหายป่วย​ที่เพิ่มมากขึ้น เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ คาดว่าอีก 1 เดือนจากนี้​ การระบาดรอบนี้จะเข้าสู่ช่วงขา​ลง​ แต่การกลายพันธุ์ของไวรัสก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามว่าจะไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่นในปลายปีนี้ได้จริงหรือไม่

จับตา BA.2 ยกระดับเป็นสายพันธุ์พาย

จากกรณีหนูทดลองในห้องปฏิบัติการของนักวิจัยชาวญี่ปุ่น​ ที่ไม่ได้รับวัคซีน แยกติดเชื้อสายพันธุ์​โอมิครอน​ BA.1 มีอาการไม่รุนแรง แต่หนูทดลองที่ติดเชื้อ BA.2​ กลับมีอาการรุนแรงเหมือนสายพันธุ์เดลตา สร้างความกังวลว่าการกลายพันธุ์​ จนเกิดสายพันธุ์ย่อย อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ของมนุษยชาติอีกครั้ง ซึ่งยังคงต้องรอดูความชัดเจน​จากยอดผู้ป่วยหนัก ว่าจะเพิ่มขึ้นหลังจาก BA.2 ครองสัดส่วนการระบาดแทน BA.1 หรือไม่

อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผอ.กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค​ สวทช. ประเมินว่า แม้ลักษณะการก่อโรครุนแรง​ของ​ BA.2​ จะยังคงถกเถียงอยู่ในวงวิชาการ​ แต่ที่ชัดเจนแล้ว คือสามารถแพร่ได้ไวกว่าสายพันธุ์โอมิครอน 30-40% และการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนหนามที่มากถึง​ 30 ตำแหน่ง​ ก็ทำให้นักวิทยาศาสตร์​ มองว่าอาจต้องเปลี่ยนชื่อเป็น สายพันธุ์พาย ซึ่งเป็นตัวอักษรกรีกตัวถัดไป​จาก โอมิครอน

เมื่อถามถึงประสิทธิภาพวัคซีน​ นักไวรัสวิทยา ยืนยันว่า​ วัคซีนชนิด​ mRNA​ กรณีเข็มกระตุ้นเข็ม 3 ยังพอจะรับได้​ และจำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรมากที่สุด​ เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่จะหยุดการกลายพันธุ์ของไวรัส ซึ่งหากผู้ติดเชื้อหลักหมื่นคนต่อวัน ไวรัสก็จะมีความสามารถกลายพันธุ์ต่อไปได้เรื่อย ๆ ซึ่งยากที่จะไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่นหรือสิ้นสุดการระบาด

เขาวิเคราะห์อีกว่า หากสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ประเทศไทยยังไม่พ้นจุดสูงสุดของการติดเชื้อ รัฐบาลต้องมีมาตรการ เพื่อลดการติดเชื้อ เพราะถ้าปล่อยไปจนถึงเดือนมีนาคม อาจไปกระทบกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งหากมีมาตรการเข้มข้นช่วงนั้น อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่าในเวลานี้ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS