“นักระบาดวิทยา” ส่งสัญญาณเตือนสัปดาห์หน้า ไทยเข้าสู่วิกฤตโควิด-19 อีกครั้ง

ผลตรวจ RT-PCR และ ATK รวมกันทะลุ 3 หมื่นคน คลัสเตอร์ผุดหลายแห่ง สถาบันการศึกษาต้องกลับไปเรียนออนไลน์ สธ. ย้ำ HI-CI first ทั่วประเทศ ยังเหลือเตียงมากกว่าครึ่ง ขณะบางจังหวัดเต็มแล้ว 

ตัวเลขติดเชื้อโควิด-19 ที่ทะลุหลักหมื่นมาอย่างต่อเนื่อง และทำสถิติใหม่เกือบทุกวัน โดยวันที่ 19 ก.พ. 2565 พบผู้ติดเชื้อใหม่อย่างเป็นทางการจากการตรวจ RT-PCR 18,885 คน ไม่นับกรณีเข้าข่ายจากการตรวจ ATK อีก 13,588 คน ทำให้ตัวเลขยอดติดเชื้อรวมกัน 32,473 คน ถือว่าเข้าสู่ฉากทัศน์ที่สาม ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเคยประมาณการณ์ไว้ 

ขณะที่จำนวนผู้ป่วยสะสมที่ยังอยู่ระหว่างรักษาตัวในระบบอยู่ที่  157,499 คน

  • โรงพยาบาลหลัก 74,697 คน
  • โรงพยาบาลสนาม 47,982 คน
  • แยกกักที่บ้าน 33,391 คน

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค บอกว่า นี่เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับที่กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ก่อนหน้า ว่าในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่อาจพุ่งขึ้นไปแตะที่ระดับ 30,000 คน

และคาดว่าสัปดาห์หน้า จะมีผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นบ้าง ขณะที่ในปลายเดือน ก.พ. ถึงต้นเดือน มี.ค. การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกดังกล่าวจะเข้าสู่จุดสูงสุด อาจติดเชื้อถึง 3 หมื่นคนต่อวัน กรณีไม่มีมาตรการอะไรเพิ่มขึ้น ส่วนตัวเลขนั้นจะอยู่นานเท่าไร ขึ้นอยู่กับการใช้มาตรการควบคุมโรค

โควิด นักระบาดวิทยา

ล่าสุดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเห็นว่าเริ่มพบคลัสเตอร์ใหม่ ๆ หลายแห่ง 

  • คลัสเตอร์ตลาด 
  • คลัสเตอร์พีธีกรรม งานบวช งานแต่งงาน โรงงาน  
  • คลัสเตอร์สถานศึกษา 
  • คลัสเตอร์สถานประกอบการ 
  • คลัสเตอร์ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
  • คลัสเตอร์แคมป์ก่อสร้าง 

โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครตัวเลขเพิ่มถึงเท่าตัว โดยเฉพาะคลัสเตอร์โรงเรียน สถานศึกษา พบรวม 13 แห่ง ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยม ซึ่งเฉพาะคลัสเตอร์โรงเรียนยังพบอีกหลายจังหวัด เช่นที่นครราชสีมา ทำให้ต้องมีการปิดเรียนแบบออนไซต์ตามมา

สธ. ย้ำ HI First 

สถานการณ์เตียงเต็มในหลายจังหวัดที่กลับมาระบาดหนัก กำลังสวนทางกับนโยบาย HI first ที่เน้นให้ผู้ติดเชื้อ ที่อาการไม่รุนแรงรักษาตัวที่บ้าน แต่ก็ต้องยอมรับว่า วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ อาจเป็นข้อจำกัด ให้การดูแลตัวเองที่บ้านทำได้ยาก ซึ่งเรื่องนี้ คือสิ่งที่แพทย์ในพื้นที่ยังคงต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชน

“ขณะนี้ เริ่มพบผู้ป่วยโรคอื่น เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจ ที่ควบคุมอาการไม่ได้ หรือมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร ที่ต้องนอนรับการรักษาในโรงพยาบาล เมื่อคัดกรองโควิดก่อนพบว่ามีการติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการของโควิด ซึ่งกลุ่มนี้จำเป็นต้องใช้เตียงโควิดระดับสีเขียวในโรงพยาบาล ดังนั้น จึงขอให้ผู้ติดเชื้ออาการสีเขียวที่ไม่มีโรคประจำตัวเข้าสู่ HI/CI ก่อน”

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ บอกอีกว่าตอนนี้มีการครองเตียงในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2564 เท่าตัว แต่ผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นไม่มาก คิดเป็นสัดส่วนแล้วยังไม่มีความแตกต่าง 

สำหรับภาพรวมทั้ง 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ

  • มีเตียงในโรงพยาบาลและฮอสพิเทลทั้งหมด 174,029 เตียง 
  • ใช้แล้ว 80,756 เตียง 
  • เหลือเตียงมากกว่าครึ่งหนึ่ง คือ 93,273 เตียง 

ขณะที่ กทม. มีเตียง 55,369 เตียง ใช้แล้ว 25,359 เตียง ยังว่างเกินครึ่งคือ 30,010 เตียง นพ.สมศักดิ์ บอกอีกว่า ขณะนี้เริ่มพบผู้ป่วยโรคอื่น เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจ ที่ควบคุมอาการไม่ได้ หรือมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร ที่ต้องนอนรับการรักษาในโรงพยาบาล เมื่อคัดกรองโควิดก่อนพบว่ามีการติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการของโควิด ซึ่งกลุ่มนี้จำเป็นต้องใช้เตียงโควิดระดับสีเขียวในโรงพยาบาล ดังนั้น จึงขอให้ผู้ติดเชื้ออาการสีเขียวที่ไม่มีโรคประจำตัวเข้าสู่ HI/CI ก่อน

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ตัวเลขการติดเชื้อโควิด-19 ในไทยที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงยอดเสียชีวิตก็เริ่มเพิ่มขึ้นเช่นกัน สำหรับการติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่เห็น 18,000-19,000 คน แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตอยู่ในหลัก 20 คน หากเราคิดตัวเลขเทียบกันว่า ติดเชื้อ 10,000 คน เสียชีวิต 20 คน ก็คิดเป็น 0.2% ซึ่งอยู่ในอัตราที่ยังต่ำ และสอดคล้องกับทั่วโลก เชื่อว่าหากติดเชื้อหลักหมื่นกว่ารายต่อวัน คนที่ติดเชื้อวันนี้อีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า ก็อาจจะมีตัวเลขเสียชีวิตเพิ่ม 40 กว่าคน ก็เป็นไปได้

นครราชสีมา – กระบี่ เตียงเต็ม 

อย่างไรก็ตาม บางจังหวัด เช่น นครราชสีมา เตียงระดับสีเขียวในโรงพยาบาลมีการครองเตียง 100% เช่นเดียวกับ จังหวัดกระบี่ สถานการณ์เตียงในโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลสนามที่มีประมาณ 4,900 เตียงเต็มหมดแล้ว

The Active คุยกับแพทย์ในพื้นที่ภาคใต้ นพ.สุวัฒน์ วิริยะพงษ์สุกิจ ผอ.รพ.สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวี จ.สงขลา ยอมรับว่า ระบบดูแลที่บ้าน หรือ HI first คือสิ่งจำเป็นที่ต้องทำให้ได้ แต่พอเอาเข้าจริง ก็ต้องดูด้วยว่า บ้าน เหมาะสมกับการดูแลตัวเองของผู้ป่วยหรือไม่ เพราะหากมีทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง อยู่ในครอบครัวเดียวกัน ก็เป็นเรื่องยาก แต่ถึงอย่างไรการระบาดโอมิครอน ถึงแม้จะเยอะ แต่ก็ยังไม่สาหัสเหมือนในช่วงเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม ปี 2564 กับการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ที่ผู้ป่วยอาการหนัก ต้องการใช้เตียงสูงกว่า

ดังนั้น หากทำความเข้าใจกับประชาชนได้ และพยายามใช้ประสบการณ์การระบาดที่เคยเกิดขึ้น มาจัดการระบบเพื่อดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ให้สอดคล้องกับความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่ด้วย

ด้าน นพ.จรัสพงษ์ สุขกรี สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช บอกว่า ปัจจัยหลักมาจากกลุ่มผู้เดินทางไปร่วมงานในอำเภอต่าง ๆ กลุ่มโรงงานและกลุ่มนักเรียนนักศึกษา เมื่อรับเชื้อแล้วไม่แสดงอาการ ก่อนจะนำไปติดกันในครอบครัว

กทม. เตรียม CI รองรับ 

สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระบบ HI สามารถรองรับผู้ป่วยรายใหม่ได้ 5,540 คนต่อวัน สะสม 43,075 คนต่อวัน ส่วน CI มีประมาณ 3,400 เตียง มีการครองเตียงครึ่งหนึ่งโดย พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะเปิด CI เพิ่มอีก 13 แห่งประมาณ 1 พันเตียง จะทำให้ CI มีเตียงรองรับทั้งหมดประมาณ 5 พันเตียง

อย่างไรก็ตาม เพื่อเตรียมแผนระยะต่อไปหากมีผู้ติดเชื้อมากขึ้น ได้ดำเนินการเตรียม Hotel Isolation สำหรับผู้ที่มีปัญหาไม่สามารถรับการรักษาใน HI/CI ได้ เช่น ผู้พักอาศัยในคอนโดฯ แต่นิติบุคคลไม่ให้กักตัวในคอนโดฯ และมีข้อจำกัดในการเข้า CI เป็นต้น และจัดทำ UCEP Plus เพื่อให้ผู้ติดเชื้ออาการสีเหลืองที่ต้องใช้ออกซิเจน และสีแดงที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ รวมถึงกลุ่มอาการสีเขียวที่มีโรคที่ควบคุมไม่ได้ สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพกำลังดำเนินการออกหลักเกณฑ์รวมทั้งมีการขยายเตียงเพิ่มขึ้นจากเตียงผู้ป่วยที่ไม่ใช่โควิด- 19

ทางด้านของ สปสช. ก็ยืนยันว่า ยังสนับสนุนให้หน่วยบริการ จัดระบบ HI อย่างเต็มที่ แม้ยังพบข้อจำกัดก็ตาม ที่สำคัญคือหน่วยบริการ โรงพยาบาล, รพ.สต. และท้องถิ่นเอง อาจต้องช่วยทำให้ประชาชนมั่นใจกับระบบมากขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS