เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย ปักหลักหน้ากระทรวงการคลังกว่า 1 สัปดาห์ เรียกร้อง ครม. มีมติให้กองทุนฟื้นฟูฯ ช่วยเหลือเกษตรกร ที่เป็นลูกหนี้ธนาคารของรัฐ หลังผ่านไป 1 ปี ไร้ความคืบหน้า โควิด-19 ภัยแล้ง ซ้ำเติมเกษตรกรหนัก
แผงจราจร ถูกใช้เป็นราวตากผ้า ห้องอาบน้ำจำเป็น เนรมิตด้วยผ้าใบสีฟ้าหน้ารั้วกระทรวงการคลัง อาศัยสะพานลอย เป็นที่ร่มคอยหลบแดด และพื้นที่ริมคลอง ต้องเป็นที่นอนชั่วคราว สำหรับกลุ่มเกษตรกรจากเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย เดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศ รวมตัวกันเรียกร้องให้แก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร
The Active ไล่เรียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่นำมาสู่การเรียกร้องของเกษตรกรในครั้งนี้ ว่าอะไรทำให้พวกเขาต้องทิ้งนา ทิ้งบ้าน มาแสดงพลังในครั้งนี้
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนเมษายน 2563 คณะกรรมการกองทุนเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หรือ ‘กองทุนฟื้นฟูฯ’ ได้มีมติเห็นชอบโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ลูกหนี้ธนาคารของรัฐ ทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) ที่เป็นหนี้ NPLs เพื่อรักษาที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย ตลอดจนได้พักเรื่องหนี้สินและฟื้นฟูตนเองได้
ซึ่งโครงการนี้ กองทุนฟื้นฟูฯ จะเข้าไปซื้อหนี้ของเกษตรกรที่มีอยู่กับธนาคารของรัฐ โดยให้เกษตรกรมาผ่อนชำระต่อกับกองทุนฟื้นฟูฯ และปรับโครงสร้างหนี้โดยพักชำระเงินต้นครึ่งหนึ่ง และดอกเบี้ยทั้งหมดไว้ก่อน และให้เกษตรกรทำสัญญาผ่อนชำระหนี้เงินต้นครึ่งหนึ่ง ตามระยะเวลาที่ตกลงกัน และเมื่อเกษตรกรชำระคืนงวดสุดท้ายเสร็จสิ้น เงินต้นและดอกเบี้ยที่พักไว้จะได้รับการยกให้เกษตรกรทั้งหมด โดยสถาบันเจ้าหนี้จะได้รับการชดเชยเงินต้นจากรัฐบาล
การดำเนินการดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยมติคณะรัฐมนตรี แต่ขณะนี้เวลาผ่านไปเกือบ 2 ปีแล้ว ตั้งแต่ คณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีมติเห็นชอบโครงการดังกล่าว ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกองทุนฟื้นฟูฯ กลับไม่ดำเนินการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ส่งผลให้เกษตรกรรอการช่วยเหลือเป็นระยะเวลานาน ประกอบกับปัญหาการระบาดของโควิด-19 และภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น ทำให้เกษตรกรไม่มีความสามารถชำระเงินคืนเจ้าหนี้ได้ จึงมีความเสี่ยงที่จะถูกบังคับชำระหนี้ และสูญเสียหลักทรัพย์ประกัน อันหมายถึงที่ทำกินของตนเอง
มติของ ครม. จะส่งผลให้หนี้สินของเกษตรกรโอนเข้าสู่กระบวนการจัดการหนี้สินของกองทุน ที่เอื้อให้เกษตรกรชำระคืนได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังชะลอการดำเนินคดีของสถาบันเจ้าหนี้ ทั้ง การฟ้องบังคับคดี ยึดทรัพย์ ขายทอดตลาด นอกจากนี้เกษตรกรยังเรียกร้องให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร คือ กรณีที่สมาชิกกองทุนฯ ตาย ทุพพลภาพ ชราภาพ หรือเจ็บป่วย ต้องได้รับการปลดหนี้เหลือไม่เกินร้อยละ 25
ชรินทร์ ดวงดารา ที่ปรึกษาเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เกษตรกรเดินทางมาจากทั่วประเทศเพื่อเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม. โดยเร็วที่สุด เพราะ หากมีมติ ครม. ออกมา กองทุนฟื้นฟูฯ และสถาบันเจ้าหนี้ พร้อมที่จะช่วยเหลือเกษตรกรทันที หากปล่อยให้ยืดเยื้อต่อไปอาจทำให้เกษตรกรสูญเสียไปมากกว่านี้ อีกทั้งกองทุนฯ ยังได้มีการแบ่งกลุ่มของเกษตรที่ควรได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วนเอาไว้แล้ว ในรอบแรกกว่า 50,000 ราย รัฐบาลไม่ต้องช่วยครั้งเดียวทั้งหมด เมื่อพิจารณาถึงความพร้อมและโอกาสที่จะทำได้ จึงควรรีบดำเนินการ เพื่อไม่ให้เกษตรกรรู้สึกเป็นอย่างอื่น
โครงการดังกล่าว ไม่ใช่การที่รัฐบาลมาชำระหนี้แทนชาวนา แต่ในความเป็นจริง ชาวนา ต้องผ่อนชำระกับกองทุนฯ ด้วยตนเอง และหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันเอาไว้ ต้องตกเป็นของกองทุนตั้งแต่แรก หากมีความสามารถเพียงพอจึงจะสามารถไถ่ถอนคืนได้ เพียงแต่รัฐเข้ามาช่วยเหลือผ่านแบงก์ของรัฐเท่านั้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถรักษาที่ทำกินไว้ได้ และมีความสามารถในการผ่อนชำระต่อไป เพราะที่ผ่านมาดอกเบี้ยของแบงก์ คือ สิ่งที่เป็นภาระอันหนักอึ้ง ที่ทำให้เกษตรกรไม่สามารถลืมต้าอ้าปากได้
“สิ่งหนึ่ง ที่วันนี้สังคมเข้าใจมากขึ้น คือ หนี้สินของเกษตรกร ไม่ใช่ความผิดของเกษตรกรเท่านั้น เขาไม่ได้ขี้เกียจ จึงสร้างหนี้ แต่ที่ผ่านมารัฐไม่เคยดูแลต้นทุนการผลิต ให้เป็นธรรมกับเกษตรกรเลย และราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำลงทุกวัน การไม่คุ้มครองเกษตรกร จึงทำให้พวกเขาต้องพึ่งตนเอง”
ในขณะที่ ปิ่นแก้ว แก้วสุกแท้ เกษตรกรจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้พี่น้องเกษตรกรจากทั่วประเทศ อย่างน้อย 36 จังหวัดกำลังทยอยเดินทางมารวมตัวกันที่นี่ เพราะอยากทราบความชัดเจนจากรัฐบาล เพราะ เรารอมานานเหลือเกิน ทำไมจึงยังไม่มีช่วยจัดการหนี้สินให้กับเกษตรกร หากครั้งนี้ยังไม่มีอะไรคืบหน้า ทุกคนยืนยันว่าจะปักหลักต่อไปจนกว่าจะมีมติ ครม. ออกมา
“ตอนนี้พี่น้องเกษตรกรจากทั่วประเทศ กำลังเดินทางมาร่วมชุมนุมกันที่นี่ ก่อนมาก็ต้องเอาน้ำเข้านา เก็บเกี่ยวผลผลิต ดูแลพื้นที่ของตนเองให้เรียบร้อย แต่ถึงจะจัดการไว้แล้ว ก็ยังมาพร้อมความเป็นห่วง หลายคนถามเสมอว่ามาครั้งนี้ จะได้กลับเมื่อไหร่ แต่เราอยากกลับไปพร้อมความชัดเจน ว่าทุกคนจะได้รับการช่วยเหลือ”
ในขณะที่ The Active เดินสำรวจพื้นที่ด้านหน้าประตูกระทรวงการคลัง ฝั่งถนนพระราม 6 พบว่า เกษตรกรใช้พื้นที่ข้างทางในการปูเสื่อและเต็นท์เอาไว้หลับนอน ได้รับการอำนวยความสะดวกจากกรุงเทพมหานครในการจัดรถสุขาเคลื่อนที่ไว้ให้ 1 คัน การบริหารจัดการภายในเป็นการดูแลกันเองระหว่างเกษตรกร ทั้ง การประกอบอาหาร การดูแลความปลอดภัย และยังได้รับการบริจาคน้ำดื่ม ข่าวสาร อาหารแห้งบางส่วนจากประชาชนที่ทราบข่าว
เนื่องจากต้องนอนกันอยู่ริมคลอง จึงต้องเจอกับปัญหายุงกัด เกษตรกรจึงสะท้อนว่าสิ่งที่ต้องการอย่างมาก คือ ยากันยุง ทั้งแบบทา และแบบจุด เพราะกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ สำหรับผู้สูงอายุและเด็ก เนื่องจากบางรายไม่มีเต็นท์ หรือมุ้งคอยกันยุง ในขณะที่ห้องน้ำ ปัจจุบันก็ดำเนินการกันเองด้วยการใช้ผ้าใบมากั้นไว้ มีเพียงถังน้ำตั้งไว้เท่านั้น เพราะ หากต้องไปใช้ของร้านค้าในพื้นที่ใกล้เคียง ก็เสียค่าเข้าครั้งละ 15 บาท จึงเป็นความต้องการของเกษตรกร ที่ยังรอการสนับสนุน
เกษตรกรต่างกล่าวว่า หากนับตั้งแต่ปี 2553 ที่เคยมีการชุมนุมในครั้งนั้น อินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดียไม่ได้แพร่หลายมากนัก ครั้งนี้สิ่งที่สังเกตได้ชัด คือ มีคนนำของจำเป็น อาหาร และเครื่องดื่มมาสนับสนุนจำนวนมาก เพราะได้ข่าวผ่านกลุ่มออนไลน์ เช่น massmob2020 หรือมวลชนไปม็อบ และช่องทางอื่น ๆ โดยเกษตรกรได้ขอบคุณ และมีกำลังใจในการแสดงพลังต่อไป
เกษตรกรปักหลักชุมนุมหน้ากระทรวงการคลัง มาตั้งแต่วันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ต่อไป จนกว่าจะได้รับความชัดเจนจากรัฐบาล สำหรับความคืบหน้านั้น ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.30 น. จะมีการประชุมหารือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อชี้แจงและเปลี่ยนความคิดเห็นให้เกิดความเข้าใจตรงกันต่อโครงการดังกล่าว ซึ่งจะสามารถเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ได้ช่วงใด เรายังต้องติดตามกันต่อไป