‘ก๊กก๊วน ป่วนเกมการเมือง’ เขย่าเสถียรภาพรัฐบาล

‘ยุทธพร’ มอง ‘ธรรมนัส’ เป็นเซลส์แมนอิสระ ทุกก้าวเปลี่ยนสมการการเมืองได้ ‘สมชัย’ ชี้ท่าที ‘ประยุทธ์’ สำคัญ จะมองเป็นพันธมิตร หรือศัตรู ร่วมวิเคราะห์สัญญาณ ‘รัฐประหาร’ ไม่มีเหตุทางการเมืองเพียงพอ

สัญญาณความระส่ำระส่ายของรัฐบาลดังขึ้น จากกรณี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ พร้อมด้วย ส.ส. ในพรรคอีก 20 คน ถูกขับให้พ้นจากพรรคพลังประชารัฐไป ซึ่งอาจเป็นผลจากความขัดแย้งภายในพรรค และในรัฐบาลเอง สิ่งนี้สั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาล ว่าจะประคองสถานการณ์และบริหารประเทศให้ราบรื่นไปได้อย่างไร

The Active ชวนวิเคราะห์เรื่องนี้ มองความเป็นไปได้ และทางออกของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

เลือกตั้งซ่อมหลักสี่-จตุจักร เช็กเรตติ้ง พปชร.

รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า ผลการเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ – จตุจักร จะส่งผลต่อพรรคพลังประชารัฐอย่างแน่นอน เมื่อดูจากผลการเลือกตั้งซ่อมในภาคใต้ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งในความแตกร้าวของพรรคพลังประชารัฐ ถึงขั้นขับร้อยเอกธรรมนัส และ ส.ส. ออกจากพรรคไป แม้อาจมีการวางแผน หรือเล่นเกมทางการเมืองก็ตาม

เกมการเมือง

ต้องไม่ลืมว่าพรรคพลังประชารัฐ คือ พรรคที่เกิดจากการรวมตัวของนักการเมืองทุกฝักทุกฝ่าย เข้ามาเป็นพรรคหลักในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ได้มีเพียงกลุ่มของร้อยเอกธรรมนัส หรือพลเอกประวิตร เท่านั้น ยังไม่นับ ส.ส. อีกหลายคนที่คอยเฝ้าดูสถานการณ์ และตัดสินใจว่าจะไปร่วมกับใคร ความนิยมของพรรคจากสนามเลือกตั้งนี้อาจส่งผลต่อพรรคด้วยเช่นกัน

“เสถียรภาพทางการเมืองในสภามีปัญหา และผลการเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ – จตุจักร จะมีผลต่อพรรคพลังประชารัฐอย่างแน่นอน พลเอกประวิตรลงพื้นที่หาเสียงครั้งนี้ มีกลุ่มสามมิตรลงพื้นที่ไปด้วย การชี้วัดเรตติ้งทางการเมืองในสนามนี้อาจส่งผลต่อการตัดสินใจภายในพรรคว่าจะอยู่ หรือจะไป”

จับตาเปลี่ยนตัว ‘พ่อบ้าน’ พลังประชารัฐ

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์ว่า ความเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตามอง คือ การเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ โดยได้แต่งตั้ง ‘สันติ พร้อมพัฒน์’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้ทำหน้าที่รักษาการแทน โดยเป็นอำนาจของหัวหน้าพรรคที่สามารถแต่งตังได้เพื่อรอมติอย่างเป็นทางการจากกรรมการบริหารพรรค ภายใน 90 วันนับแต่ตำแหน่งว่างลง

“ตำแหน่งนี้นอกจากมีเกียรติแล้ว ยังมีภาระด้วย และภาระดังกล่าวเป็นภาระที่ไม่น้อย ยากจะหาคนมาแทนได้ เพราะหากฟังจากคุณธรรมนัส ที่บอกว่าต้องใช้เงินไม่น้อยในการดูแล ส.ส. จึงเป็นโจทย์ใหญ่ว่าใครก็ตามที่จะมาทำหน้าที่ในตำแหน่งนี้ จะสามารถดูแลในระดับที่ใกล้เคียงกับคุณธรรมนัสได้หรือไม่”

รศ.สมชัย ย้ำว่า สถานการณ์นี้เองที่ดูเหมือนพลังประชารัฐ ยังไม่สามารถหาคนที่เหมาะสมเข้ามารับหน้าที่นี้ได้ สันตินั้น แม้จะคาดหวังตำแหน่งนี้มานานแล้ว แต่สุดท้ายยังขึ้นอยู่กับหัวหน้าพรรค เพราะหากเลขาธิการพรรคไม่สามารถทำหน้าที่ดูแล ส.ส.ได้ การขับเคลื่อนพรรคการเมืองย่อมมีปัญหา และจะนำไปสู่การแตกสามัคคีภายในพรรคอยู่เสมอ

‘ธรรมนัส’ กับบทบาทเซลส์แมนอิสระ เปลี่ยนสมการการเมือง

รศ.ยุทธพร กล่าวว่า การขอให้พรรคมีมติขับออกเป็นการเดินเกมอันชาญฉลาดของร้อยเอกธรรมนัส เพราะถึงแม้ตนออกมาก็ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับพลเอกประวิตรอยู่ และยังมีสมาชิกพรรคอีกหลายคนที่มีความสนิทสนมกับร้อยเอกธรรมนัสด้วย อีกทั้งการออกไปจากพรรคยังไม่มีความชัดเจน เพราะยังไม่รู้ว่าจะไปที่ไหนดี ในทางกลับกันยังถามสังคมด้วยว่าควรไปอยู่ที่ใด สิ่งนี้เป็นกลยุทธ์ทางการเมืองที่มีชั้นเชิง และวางแผนล่วงหน้าไปไกลกว่าการขอเก้าอี้รัฐมนตรี

“คุณธรรมนัสเดินเกมเป็น เซลส์อิสระ ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวไปจุดไหน จะเป็นการเปลี่ยนแปลงสมการ หากสนับสนุนรัฐบาล ก็สามารถเดินต่อไปได้ หากเป็นกลาง ก็ต้องลุ้นกันไปเป็นรายกรณี กับการพิจารณากฎหมายสำคัญว่าจะผ่านหรือไม่ แต่ถ้าเป็นฝ่ายค้านอิสระไปเลย จะทำให้รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำทันที”

นอกจากนั้น รศ.ยุทธพร ยังกล่าวด้วยว่า ภารกิจย้ายค่ายครั้งนี้ จะสำเร็จหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ เพราะยังมีปัญหาเรื่องความถูกต้องของมติพรรคอยู่ จึงจำเป็นต้องส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. พิจารณาว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ถ้าหากไปสังกัดพรรคใหม่ตอนนี้ อาจจะส่งผลให้ขาดจากสมาชิกภาพ ส.ส. ทันที ตอนนี้มีคนยื่นร้องเรียนแล้ว จึงเป็นเส้นทางที่เราต้องจับตากันต่อว่าจะออกมาเป็นอย่างไร

ในขณะที่ รศ.สมชัย อธิบายว่า ในกระบวนการทางกฎหมาย ต้องมีการส่งมติพรรคไปให้ กกต. ตรวจสอบความถูกต้องของรายงาน ว่าได้มีการดำเนินการไปตามข้อบังคับของพรรคหรือไม่ คือ ต้องเป็นการประชุมร่วมกันระหว่าง ส.ส. และคณะกรรมการบริหารพรรค การประชุมนั้นต้องครบองค์ประชุม แล้วมีมีมติ 3 ใน 4 ของที่ประชุม หากครบถ้วนตามนี้ ให้ถือว่าสิ้นสุดความเป็นสมาชิกพรรค และต้องไปหาพรรคใหม่ ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่พรรคมีมติขับออก ไม่ใช่นับตั้งแต่วันที่ กกต. มีมติ แต่หากไม่สมบูรณ์ กกต. จะส่งเรื่องไปยังพรรคการเมือง ให้ดำเนินการให้ถูกต้อง ไม่ได้มีผลเป็นการยุบพรรคแต่อย่างใด

ท่าที ‘ประยุทธ์’ สำคัญว่าเกมจะเดินต่อไปทางไหน

รศ.สมชัย กล่าวว่า ถึงแม้ตอนนี้ที่ร้อยเอกธรรมนัส ยังไม่ได้ไปสังกัดพรรคใหม่ ก็มีความสนุกสนานเกิดขึ้นในการเมืองแล้ว เพราะสามารถเล่นเกมทุกอย่างได้ ว่าจะสนับสนุนหรือไม่ หรือจะลงมติในสภาอย่างไร หรืออาจเพียงแค่ขาดการประชุม ไม่จำเป็นต้องมีพรรคสังกัด สิ่งที่ชวนมองต่อไป คือ คุณธรรมนัสมี ส.ส. ในมือเพียงแค่ 21 คนจริงหรือไม่ ซึ่งชวนคิดว่าถ้ามีมากกว่านั้น ตอนนี้อยู่ตรงไหน หลบเป็นจอมยุทธ์ที่ซุ่มซ่อน ไปอยู่อีกฝ่ายหนึ่งก่อน แล้วรอดูจังหวะเวลา พร้อมประหัตประหารกันได้ทุกเมื่อหรือไม่

เกมการเมือง

“การมองเกมตอนนี้ อยู่ที่ท่าทีของพลเอกประยุทธ์เป็นหลัก ว่าจะมองกลุ่มธรรมนัสเป็นมิตร หรือศัตรู เพื่อนำไปสู่การเจรจาต่อรอง หรือขัดแย้งกันไปเลย ตอนนี้น่าจะยังคิดไม่ออก เลยเก็บตัวเอาไว้ก่อน”

รศ.สมชัย กล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญอยู่ที่ท่าทีของพลเอกประยุทธ์ ว่าจะมองกลุ่มนี้เป็นพันธมิตร หรือศัตรู การแสดงออกจะเป็นตัวชี้วัด คือ ถ้าหากเป็นมิตร ก็ต้องนำไปสู่การเจรจา ต่อรอง แต่ถ้ามองเป็นศัตรู เหมือนที่ ส.ส. หลายคนในพรรคทำอยู่ตอนนี้ ก็ไม่สามารถทำงานร่วมกันต่อไม่ได้ และท่าทีดังกล่าวจะทำให้ทีมของร้อยเอกธรรมนัส ประเมินว่า ต้องการเรียกร้องตำแหน่ง เพื่อเป็นข้ออ้างในการล้มรัฐบาลเท่านั้นหรือไม่ หรืออาจจะไม่ขออะไรเลย โดยแสดงว่าต้องการออกมา เพื่อความถูกต้อง ออกมาตรวจสอบรัฐบาล อาจจะกลายเป็นฮีโร่ก็ได้

ในขณะที่ รศ.ยุทธพร มองว่า เกมนี้อาจมีผลออกมาได้หลายทิศทาง หากจะอธิบายปรากฏการณ์นี้อาจใช้คำว่า ‘The begining of the end’ หรือ จุดเริ่มต้นของจุดจบ ไม่แน่ว่าจะจบลงตรงไหน แต่ตอนนี้มีจุดเริ่มต้นแล้ว และการชิงดำกันตรงนี้ ดำแรกเป็นของร้อยเอกธรรมนัสไปแล้ว สำคัญคือนายกฯ จะแก้เกมอย่างไร เพราะเชื่อว่าการเดิมเกมของร้อยเอกธรรมนัส อาจไม่จบแค่ตำแหน่งรัฐมนตรี เป้าหมายทางการเมืองตอนนี้ อาจไปถึงเกมล้มนายกฯ ก็เป็นได้ ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป จะเข้าสู่อีกรอบปีของสภา ที่ทำให้ฝ่ายค้านสามารถยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติได้ จะเห็นการเคลื่อนไหวที่มากขึ้นของกลุ่มร้อยเอกธรรมนัส

“สิ่งที่เป็นหอกข้างแคร่ของพลเอกประยุทธ์ มีมากกว่า 21 เล่ม ทั้งในพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาล และเมื่อมีสัญญาณการเลือกตั้งเมื่อไหร่ การเคลื่อนไหวในพรรคร่วมจะเกิดขึ้นมากเท่านั้น สัญญาณเปลี่ยนผู้นำทางการเมืองก็จะยิ่งชัดเจนขึ้นหลังเดือนมีนาคมนี้”

วิเคราะห์ความสัมพันธ์ 3 ป. แตกหัก หรือ เห็นไม่ตรงกัน ?

รศ.สมชัย กล่าวว่า ทหารเป็นองคาพยพหนึ่งที่เข้ามารวมตัวกัน และสร้างอำนาจทางการเมืองของตนเองเอาไว้ในทางการเมืองเสมอ ต้องยอมรับว่าทหารเกาะติดอำนาจมาอย่างต่อเนื่อง และต้องการที่จะรักษาอำนาจนั้นไว้ แต่ในอีกส่วนหนึ่งสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ทหารจะอยู่ในระบบทหารอย่างเดียวไม่ได้ ทหารจำเป็นต้องอาศัยนักการเมืองเข้ามาบริหาร และเป็นมือเป็นไม้คอยช่วยเหลือด้วย

ในความเป็นจริง ฝ่ายการเมืองของรัฐบาลตอนนี้ คือ พลเอกประวิตร ที่เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แล้วคอยประสานทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน ซึ่งพลเอกประวิตรรู้ว่าการทำพรรคการเมือง ไม่ใช่เรื่องง่าย ในขณะที่พลเอกประยุทธ์นั้นยังคงยึดติดกับความเป็นทหาร ที่มองว่าอยู่เหนือฝ่ายการเมืองทั้งหมด สามารถควบคุมได้ทั้งหมด ซึ่งไม่ตรงกับสิ่งที่พลเอกประวิตรกำลังทำอยู่ วิธีคิดและการบริหารที่ต่างกัน ย่อมนำไปสู่การปฏิบัติที่ต่างกันด้วย ความสัมพันธ์นี้จึงอาจไม่ใช่การแตกแยก แต่เป็นความคิดทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน

เช่นเดียวกับ รศ.ยุทธพร ที่มองว่า ความสัมพันธ์ของ 3 ป. ยากที่จะแตกหักกัน เนื่องจากความสัมพันธ์ในระดับบุคคลที่แนบแน่น การเติบโตมาในทางราชการ ความเป็นพี่น้องจึงเป็นเรื่องยากที่จะถึงขั้นแตกหักกัน แต่อย่างไรก็ตามเมื่อต้องเข้าสู่การเมือง 3 ป. ก็ไม่ได้อยู่กันแค่ 3 คนเท่านั้น ยังมีทีมของแต่ละคน สังเกตได้จากการลงพื้นที่เมื่อปลายปีที่แล้ว บรรดาทีมงานที่เป็นแรงส่งที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของทั้งพลเอกประวิตร และพลเอกประยุทธ์ และ 3 ป. เป็นหัวใจหลักของอำนาจ คสช. ถ้า 3 ป. แตกเหมื่อไหร่ คือ จุดสิ้นสุดอำนาจของ คสช. อย่างสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น ท้ายที่สุดจะมีกระบวนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเสมอ

สัญญาณ ‘รัฐประหาร’ ที่ไม่มีเหตุทางการเมืองเพียงพอ

รศ.สมชัย กล่าวว่า การรัฐประหารจะเกิดได้ ต่อเมื่อมีสาเหตุเพียงพอที่จะชี้แจงต่อประชาชนว่าเพราะอะไร เพราะ การบริหารประเทศขณะนั้นไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เกิดการทะเลาะกันระหว่างฝ่ายต่าง ๆ อย่างรุนแรง จนอาจทำให้ผู้คนบาดเจ็บ ล้มตาย ถ้าเป็นเหตุผลที่ประชาชนรู้สึกว่าจำเป็น อาจจะสนับสนุนให้กระทำได้ แต่ในความเป็นจริง มีหลายครั้งที่เป็นเรื่อง ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นด้วยตัวเอง แต่เป็นแผนการที่ตระเตรียมเอาไว้ ของกลุ่มผู้มีอำนาจด้วย

เหตุครั้งนี้ถ้าจะเกิด ส่วนตัวมองว่า จะโยนไปที่สภา ด้วยเหตุผลว่ามีการทะเลาะเบาะแว้งกันในฝ่ายการเมือง จนไม่สามารถใช้ระบบรัฐสภาแบบนี้ต่อไปไม่ได้ แต่เหตุผลนี้ยังมีน้ำหนักไม่มากพอ ที่จะทำให้ประชาชนเห็นด้วย ในทางกลับกันอาจทำให้คณะรัฐประหารถูกมองว่าต้องการเข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์เสียเอง

แต่ที่น่ากลัวมากกว่านั้น รศ.สมชัย กล่าวว่า หากจะเกิดขึ้นได้ อาจเป็นการรัฐประหารโดยทหารอีกกลุ่มหนึ่ง โจทย์ในครั้งนี้จะเปลี่ยนไป โดยพลเอกประยุทธ์ จะเป็นผู้ร้าย และเป็นเป้าทางการเมืองเสียเอง และขอยืนยันว่าที่พูดเช่นนี้ไม่ได้มองว่าจะต้องเกิดรัฐประหาร แต่หากจะเกิดขึ้น จะต้องมีใครคนใดคนหนึ่งเป็น ‘แพะ’ ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ทั้งสองแบบที่กล่าวมา

ในขณะที่ รศ.ยุทธพร กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทยนั้น เกิดขึ้นได้โดยตลอด ทั้ง การลาออก ยุบสภา วินิจฉัย 8 ปี หรือแม้แต่การรัฐประหาร ที่ผ่านมาข้ออ้างของการรัฐประหารมักจะมาเป็น ‘แพ็กเกจ’ หากไปดูคำแถลงของคณะรัฐประหารในช่วง 3 ครั้งที่ผ่านมา หนีไม่พ้นเรื่องสังคมแตกแยก ขัดแย้งรุนแรง สภาพเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพง ต้องมีการอ้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้น แต่ในปัจจุบันสถานการณ์และเงื่อนไขอาจต่างไปแล้ว แต่ก็เกิดขึ้นได้ทั้งหมด เพราะหลังปี 2534 ครั้งนั้น ก็ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีการรัฐประหารอีก จนได้รัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ก็ยังเกิดการรัฐประหารอีกในปี 2549 และ 2557

ตราบใดที่สังคมยังไม่ตั้งมั่น และกองทัพยังไม่ปฏิรูป ให้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนเอง โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับอำนาจทางการเมือง รัฐประหารยังอาจเกิดจากทหารกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งขึ้นอีกได้ แม้ขบวนการภาคประชาชนจะตื่นตัวมากแค่ไหนในเรื่องนี้ แต่หากเงื่อนไข และสภาพสังคมไม่เอื้ออำนวยให้ต่อต้านการรัฐประหารได้ อาจนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น … เราจึงต้องแก้ไขปัญหาทุกอย่างด้วยระบบประชาธิปไตยนั่นเอง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้