ชี้ จะสร้างผลกระทบเชิงลบต่อ “แพลงก์ตอนพืช” ได้มากกว่าน้ำมันดิบเพียงอย่างเดียว ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ทะเล ม.บูรพา ลุยเก็บตัวอย่างน้ำ ทราย และสำรวจสัตว์หน้าดินซ้ำ เพื่อเปรียบก่อนและหลังน้ำมันรั่วขึ้นฝั่ง ส่งไม้ต่อนักเศรษฐศาสตร์ คำนวณมูลค่าความเสียหาย
วันนี้ (29 ม.ค. 2565) ชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ประกาศปิดชายหาดแม่รำพึง เป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว หลังมีคราบน้ำมันทะลักขึ้นฝั่ง โดยห้ามผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้า-ออก เจ้าหน้าที่เร่งขจัดคราบน้ำมันขอความร่วมมือร้านค้าทุกแห่งริมหาดแม่รำพึง ปิดร้านชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ โดยขณะนี้ตัวเลขน้ำมันดิบรั่วไหลที่แท้จริงยังไม่ได้ข้อสรุป จึงมีการตั้งคณะกรรมการ และจะเริ่มประชุมเรื่องปริมาณน้ำมันในวันพรุ่งนี้ (30 ม.ค.)
ห่วงสุขภาพชาวบ้านทนสูดดมกลิ่นน้ำมัน
ขณะที่ นพ.สุนทร เหรียญภูมิการกิจ นายแพทย์สาธารณสุข จ.ระยอง บอกว่า ขณะนี้ได้ส่งหน่วยแพทย์ลงไปในพื้นที่ เพื่อช่วยรักษาให้กับผู้ที่มีอาการแพ้สารเคมีและกลิ่นของน้ำมัน พร้อมฝากเตือนประชาชนในพื้นที่ ไม่ควรอยู่ในพื้นที่คราบน้ำมันเกยหาด เพราะอาจจะเกิดอาการแพ้ได้ ควรอยู่ห่างจากจุดที่มีกลิ่นน้ำมันหากเกิดอาการแพ้ก็รีบเข้าพบแพทย์ทันที ล่าสุดเก็บคราบน้ำมันทะลักแม่รำพึงแล้ว 1.5 หมื่นลิตร
สกัดคราบน้ำมันไม่ให้ไปถึง อช.เขาแหลมหญ้า
สำหรับคราบน้ำมันที่ทะลักเข้าหาดแม่รำพึง พบ 2 จุดบริเวณลานหินดำ และหินขาว จุดละประมาณ 1 กิโลเมตร โดยเฉพาะจุดลานหินดำ มีคราบน้ำมันทยอยซัดเข้าฝั่งจนเห็นเป็นสีดำ การกำจัดมี 3 แนวทาง คือ ให้เจ้าหน้าที่ใช้กระดาษซับคราบน้ำมัน ใช้เครื่องดูดในจุดที่หนาแน่น และขุดร่องน้ำให้คราบน้ำมันไหลมารวมยังจุดเดียว เพื่อง่ายต่อการกำจัด ขณะเดียวกันกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก็พยายามสกัดคราบน้ำมันไม่ให้ไปถึงเขตอุทยานเขาแหลมหญ้า
นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลลงพื้นที่เก็บข้อมูล
ด้าน ไพฑูรย์ มกกงไผ่ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ม.บูรพา ระบุ สิ่งแรกที่สัมผัสได้ คือ กลิ่นน้ำมันที่ระเหยขึ้นมา รู้สึกแสบจมูกนิด ๆ สีของน้ำก็เปลี่ยนไปเป็นสีของน้ำมันเพราะเป็นมวลเดียวกับน้ำ เนื่องจากมีการใช้สาร Dispersant ประกอบกับชายฝั่งทะเลตื้นคลื่นตีวนตลอดเวลา
“อย่างที่บอกไปว่าบ้านเราชายหาดมันตื้น การใช้สารเคมีในการสลายคราบน้ำมัน ควรจะใช้เพื่อให้น้ำมันจมลงทะเลแล้วดูดขึ้นมานำไปกำจัด แต่พอไปใช้สารเคมีเพื่อละลายน้ำมันให้กลายเป็นเนื้อเดียวกับน้ำทะเล ทำให้เกิดเป็นโมเลกุลเล็ก ๆ เพิ่มมากขึ้นและแพร่กระจายไปตามผิวน้ำกว้างขึ้น และแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และเมื่อจมลงไปก็จะไปติดหน้าผิวดินในใต้ทะเลมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำ หรือหากไม่จม ก็จะถูกพัดขึ้นฝั่ง กระทบระบบนิเวศของชายหาด สัตว์น้ำที่หนีไม่ได้ เช่น หอยก็จะต้องตาย ขณะที่ปริมาณออกซิเจนในน้ำก็จะลดลง จำนวนสัตว์น้ำก็จะลดลงด้วย”
ภาพของชายหาดที่มีคราบน้ำมันจับตัวเป็นก้อนเล็ก ๆ กระจายอยู่นั้น เกิดจากน้ำมันที่แตกตัว และเปลี่ยนรูป น้ำมันมีองค์ประกอบมากมาย บางส่วนระเหยหายไป แต่บางส่วนที่ไม่สลายไปจะรวมตัวกันเป็นลักษณะคล้ายยางมะตอยเพราะโครงสร้างน้ำมันที่เปลี่ยนแปลงไป
“หากรวมตัวกันเป็นก้อน ๆ ก็ยังง่ายต่อการกำจัด แต่ส่วนที่น่ากังวลคือส่วนที่ละลายกลายเป็นมวลเดียวกับน้ำ อันนั้นจะเข้าไปอยู่ตามห่วงโซ่อาหาร”
สำหรับสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ม.บูรพา เริ่มเก็บข้อมูลสิ่งแวดล้อมบนชายหาดแม่รำพึงตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม ที่ผ่านมา และลงพื้นที่เก็บตัวอย่างซ้ำอีกครั้งหลังเกิดผลกระทบในวันนี้ (29 ม.ค.) โดยเก็บตัวอย่าง 3 ส่วน 1. น้ำทะเลเพื่อนำไปทดสอบดู น้ำมันและไขมัน (Oil and Grease) 2. เก็บตัวอย่างทราย เพื่อนำไปดูกลุ่มสารประกอบปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน และ 3. สำรวจสัตว์หน้าดิน ว่ามีจำนวนลดลงหรือไม่
ซึ่งผลวิจัยเปรียบเทียบก่อนและหลังผลกระทบ จะเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยยืนยันว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม เท่าใดเพื่อให้นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมนำไปประเมินมูลค่าความเสียหาย แต่การเก็บข้อมูลครั้งนี้ยังประเมินผลกระทบได้เพียงระยะเฉพาะหน้า หรือ ระยะสั้นเท่านั้นซึ่งระยะยาวจะต้องติดตามดูต่อไปอย่างต่อเนื่อง
แนะหาปริมาณน้ำมันดิบรั่วที่แท้จริง
ศ.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ระบุว่าต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าตกลงปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลลงสู่อ่าวไทยมีปริมาณเท่าไหร่
ตอนแรกบอก 400,000 ลิตร ต่อมาบอก 160,000 ลิตร ล่าสุดบอกเหลือแค่ 50,000 ลิตร ไม่ต้องไปฟังบริษัทที่รับผิดชอบอุบัติเหตุครั้งนี้แต่ต้องไปประสานกับศุลกากรเพื่อทราบให้ได้ว่าน้ำมันที่บรรทุกมาตอนแรกมีกี่ตัน
เท่าที่ทราบขั้นต่ำ 200,000 ตันเป็นอย่างน้อย จำนวนที่บรรทุกมาจริงอาจอยู่ระหว่าง 200,000-400,000 ตัน เสร็จแล้วเช็คกับปริมาณน้ำมันที่คงเหลือในเรือบรรทุก เอาปริมาณน้ำมันที่บรรทุกมาตอนแรกตั้งลบด้วยปริมาณน้ำมันคงเหลือคือ ปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลออกไปสู่อ่าวไทย
ชี้ Dispersant สร้างผลกระทบระยะยาว
ศ.ศิวัช ระบุอีกว่า จริงอยู่ว่าน้ำมันดิบที่รั่วไหลครั้งนี้จัดอยู่ในกลุ่ม Light Crude Oil ซึ่งเป็นน้ำมันดิบที่มีปรอทและกำมะถันต่ำ ส่วนหนึ่งสามารถย่อยสลายไปเองได้ตามธรรมชาติ แต่ใช่ว่าจะไม่มีอันตรายเลย
“ผมก็ไม่โอเคมาก ๆ กับความคิดที่ว่าเอา Oil Dispersant ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในการพ่นลงบนคราบน้ำมันในทะเลที่จะช่วยให้คราบน้ำมันแตกตัว เป็นหยดน้ำมันเล็ก ๆ เพื่อให้จุลชีพในทะเลสามารถย่อยสลายได้ (biodegrade) มาจัดการกับปัญหาแล้วทุกอย่างจะจบลง คือจริงอยู่คราบน้ำมันอาจไม่เหลืออยู่บนผิวน้ำ แต่ผลกระทบที่มีต่อระบบนิเวศใต้น้ำในระยะยาว มีอย่างแน่นอน”
ช่วงสองสามปีมานี้มีงานวิจัยเปรียบเทียบระหว่างการใช้ Oil Dispersant กับไม่ใช้เลย แบบไหนจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในระยะยาวมากกว่า ส่วนตัวมองว่าคำถามนี้น่าสนใจมาก เพราะประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและกระทบต่อสุขภาพของคนอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง
จากกรณีน้ำมันดิบรั่วไหลที่อ่าวเม็กซิโก หรือที่รู้จักกันในนาม Deepwater Horizon spill ผลงานวิจัยของ Nima Afshar-Mohaje และคณะซึ่งได้รับการตีพิมพ์ลงใน Science of the Total Environment พบว่าการใช้ Oil Dispersant ส่งผลให้สารก่อมะเร็งสามารถระเหยสู่อากาศในรูปแบบอนุภาคที่มีขนาดเล็ก (Fine Particulate Matter) ซึ่งส่วนใหญ่จะมีสารพิษ VOC ที่มีความเป็นพิษสูง งานวิจัยพบว่าการใช้ Oil Dispersant ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในการกำจัดคราบน้ำมันแบกรับความเสี่ยงในการสูดเอาสารพิษเข้าสู่ร่างกายมากกว่าไม่ใช้เลยถึง 10 เท่า
ส่วนผบกระทบต่อระบบห่วงโซ่อาหาร งานวิจัยล่าสุดซึ่งได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบผลกระทบจากน้ำมันดิบรั่วไหลที่อ่าวเม็กซิโก พบว่าส่วนผสมระหว่างน้ำมันดิบกับ Corexit ซึ่งเป็น Oil Dispersant ประเภทนี้พบว่า แม้ Corexit จะมีคุณูปการในการช่วยให้น้ำมันดิบแตกตัวและย่อยสลายได้ง่ายขึ้นแต่ส่วนผสมระหว่าง Corexit กับน้ำมันดิบกลับสร้างผลกระทบเชิงลบต่อ แพลงก์ตอนพืช หรือไฟโทแพลงก์ตอนได้มากกว่า น้ำมันดิบ เพียงอย่างเดียว
“บางครั้งความหวังดีที่อยากจะช่วยให้เหตุการณ์มันดีขึ้นกลับกลายเป็นการสร้างผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมก็เป็นได้ ที่สำคัญคือไม่ใช่ว่าพอเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลก็คิดว่าทุกอย่างสามารถจบลงได้ด้วยการเอา Oil Dispersant มาจัดการ พอเวลาผ่านไปทุกอย่างก็จะเงียบหายลงไปเอง เดี๋ยวก็มีข่าวใหม่มากลบข่าวเดิม หายนะเลยตกอยู่ที่ระบบนิเวศของประเทศอย่าลืมนะครับอ่าวไทยไม่ได้ลึกมากเหมือนอ่าวเม็กซิโก ผลกระทบต่อปะการังย่อมมีสูงมาก”