อยากเห็นแผนพื้นฟูทะเลมากกว่าการจ่ายค่าชดเชย โยงโครงการ EEC จะซ้ำเติมสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมรุมเร้า ด้านรัฐจัดเวทีรับฟังผลกระทบชาวบ้าน ยันพร้อมรับข้อเสนอ พิสูจน์ความจริงใจแก้ปัญหาน้ำมันรั่วซ้ำซาก
28 ม.ค. 2565 The Active ติดตามชาวประมงพื้นบ้าน จ.ระยอง ออกทะเลไปเจอกับกลุ่มคราบน้ำมันที่กำลังพัดเข้าชายฝั่ง สำหรับชาวประมงพื้นบ้าน ที่มีชีวิตเติบโตและทำมาหากินอยู่กับทะเล นอกจากความรู้สึกเจ็บปวดที่ต้องเจอกับปัญหาซ้ำแล้วซ้ำอีก พวกเขายังมองไปถึงความยากลำบากในการฟื้นฟูเยียวยาธรรมชาติหลังจากนี้
“เชื่อว่านี่จะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย”
สุวิน สิงห์กุล ชาวประมงพื้นบ้านหาดแหลมรุ่งเรือง จ.ระยอง บ่นไปพลาง พร้อมกับออกเรือประมง ไปสำรวจอวนปลาหมึก และปูม้าที่วางดักไว้กลางทะเล ในวันที่คราบน้ำมันดิบที่รั่วไหล กำลังพัดเข้าหาชายฝั่ง
จุดนี้อยู่ห่างจากฝั่ง 3 ไมค์ทะเลหรือประมาณ 5 กิโลเมตร เริ่มพบเห็นคราบน้ำมันเป็นแผ่นฟิล์มบางๆ ลอยสะท้อนกับแสงอาทิตย์ตอนเย็น แม้จะไม่ใช่ภาพทะเลสีดำ เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพราะเป็นน้ำมันคนละชนิดแต่ สุวิน สิงห์กุล เชื่อว่าผลกระทบจะไม่ต่างกัน
สุวิน บอกว่า เหตุการณ์น้ำมันรั่วจะสร้างความผิดปกติให้กับทะเลระยอง จากครั้งที่แล้วที่เกิดน้ำมันรั่วก็ยังไม่ได้รับการฟื้นฟูอย่างเก่า มาซ้ำเติมอีกรอบนี้ เขาเชื่อว่า ผลกระทบจะหนักกว่าเดิม และเป็นห่วงผลกระทบระยะยาว
ในระหว่างที่ออกทะเลด้านหลังของเขา คือปฏิบัติการเก็บกู้ซากน้ำมัน สุวินหันกลับไปมองด้วยความสิ้นหวัง เพราะบทเรียนจากน้ำมันรั่วในอดีต บอกให้รู้ว่าการชดเชย ในระยะสั้นไม่คุ้มกับผลกระทบในระยะยาว
“น้ำมันรั่วรอบแรกแทบจะไม่เห็นบทลงโทษจากรัฐ มีแต่ให้ภาคประชาชนฟ้องค่าเสียหายเอง ค่าชดเชยก็แค่ 30,000 บาท คิดวันละ 1,000 บาทเป็นเวลา 1 เดือน นอกนั้นก็ฟ้องร้องเอา คนที่ไม่ฟ้องก็จบไป ตอนนี้ฟ้องถึงศาลฎีกาแล้วคาดว่าน่าจะตัดสินปีนี้ ส่วนรอบนี้ ต้องดูแผนของบริษัทก่อน ถ้าตกลงกันได้ หรือผลกระทบจะเกิดขึ้นแค่ไหน บริษัทจะเยียวยาหรือไม่ ก็คงเป็นไปในแบบเดิมคือฟ้องศาล ค่าชดเชยเป็นแค่เศษเงิน เพราะประมงเขาพึ่งพาตัวเองได้ประมงเรือเล็กหาเงินวันละ 3-4 พัน อยากฟื้นฟูทรัพยากรมากกว่า”
สำหรับสุวิน ทำอาชีพประมงพื้นบ้านมาแล้ว 30 ปี เรียกว่าเกือบจะทั้งชีวิตไม่เคยทำอาชีพอื่น แม้ที่ผ่านมาจะพยายามปรับตัวให้อยู่ร่วม กับนิคมอุตสาหกรรมให้ได้ แต่สิ่งที่เขาสัมผัสได้คือ บริษัท ที่เข้ามาตั้ง ในภายหลัง ไม่เคยเป็นฝ่ายที่ปรับตัวอยู่ร่วมกับชาวประมง และทะเล
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชาวประมงจะเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดหน่วยงานภาครัฐได้ลงไปรับฟังเสียงสะท้อนของผู้ที่จะได้รับผลกระทบ ขณะที่ชาวประมงก็คาดหวังว่ารัฐจะรับฟังปัญหาด้วยความจริงใจ
เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2565 ที่สมาคมประมงจังหวัดระยองมีการรวมตัวกันของหน่วยงานราชการหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมประมง และ หน่วยศรชลของกองทัพเรือ เพื่อรับฟังปัญหาของชาวประมงที่อยู่ในพื้นที่ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เบื้องต้นหน่วยงานต่าง ๆ ชี้แจงว่า ปัญหาสถานการณ์น้ำมันรั่วรอบนี้มีความต่างจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพราะประเภทของน้ำมันเป็นน้ำมันดิบเบา ซึ่งสามารถจัดการได้ง่ายกว่า
ขณะที่ บรรเจิด ล่วงพ้น รองนายกสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยอง ตั้งข้อสังเกตถึงสารเคมีที่ใช้ในการขจัดคราบน้ำมันกลางทะเล ในปริมาณมาก แม้จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่จะส่งผลกระทบให้เกิดสารปนเปื้อนในทะเล เข้าไปในห่วงโซ่อาหารทะเล ด้วยก้อนน้ำมันที่จมทะเลไปเกือบทั้งหมดคือระเบิดเวลาของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ที่จะอยู่ระยะยาว
“สิ่งที่กังวลรอบนี้คือสารเคมีที่สลายคราบน้ำมันจนกลายเป็นอณู ที่ละลายไปไม่ได้หมายความว่าหายไป ไม่ใช่การจัดเก็บเป็นการพยายามกำจัดคราบน้ำมันดิบ บทเรียนจากน้ำมันรั่วครั้งก่อน ยังส่งผลมาถึงปัจจุบัน ไม่มีปลาให้หาแล้ว”
ชาวประมงบางคนยังสะท้อนว่า ผลกระทบจากน้ำมันรั่วครั้งนี้เป็นเรื่องเดียวกันกับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ที่เชื่อว่าในอนาคตภัยพิบัติทางทะเลที่เกิดจากอุตสาหกรรมจะเกิดซ้ำอีก ดังนั้นข้อกฎหมายและบทลงโทษควรเข้มข้นมากขึ้น ขณะที่โครงการขนาดใหญ่ที่จะมีการถมทะเล สร้างเขื่อน สร้างถนนเลียบชายทะเลในพื้นที่ ก็จะกระทบกับวิถีชีวิตของชาวประมงซ้ำอีก
ขณะที่ เสรี เรือนหล้า ประมงจังหวัดระยอง เป็นตัวแทนของหน่วยงานภาครัฐชี้แจงกับชาวบ้านว่าจะนำข้อเสนอ และเสียงสะท้อนที่ได้ เข้าสู่คณะกรรมการ ที่สามารถตัดสินใจ รวมทั้ง ตลอดสัปดาห์นี้ จะมีการสำรวจทรัพยากรทางทะเลของศูนย์วิจัยประมงเพื่อเป็นข้อมูลที่จะใช้อ้างอิงด้านผลกระทบของสัตว์น้ำ โดยเชื่อว่าธรรมชาติจะสามารถฟื้นฟูตัวเองได้