“พีมูฟ” จับตาวงประชุมร่วม รมต.ประจำสำนักนายกฯ และหน่วยงานรัฐวันนี้ เชื่อ ชี้วัดความจริงใจ

ผนึกกำลัง “จะนะรักษ์ถิ่น” เรียกร้องหยุด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีทางนโยบาย ปิดกั้นการมีส่วนร่วมประชาชน

26 ม.ค. 2565 – กลุ่มแกนนำขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)หรือพีมูฟ ที่เรียกตัวเองว่า กลุ่ม 18 อรหันต์ เข้าประชุมร่วมกับตัวแทนรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องทั้ง 15 ข้อ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงนโยบายต่าง ๆ เช่น ที่ดิน การจัดการทรัพยากร คดีทางนโยบาย และชาติพันธุ์  โดยในการประชุมได้มีการมอบหมายให้ เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ดำเนินการประชุม ตั้งแต่ 9.30 น.

พีมูฟ

ภายหลังการประชุม กลุ่มพีมูฟได้ร่วมกันแถลงข่าว โดยระบุว่า นับเป็นวันที่ 7 ที่ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ ปักหลักชุมนุมอยู่ในกรุงเทพมหานคร เพื่อทวงสิทธิในนามประชาชนในการกำหนดชีวิตตัวเอง เรามีแนวร่วมเครือข่ายประชาชนหลายกลุ่มให้การสนับสนุน โดยเฉพาะขบวนการของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งทำให้วันนี้เริ่มมีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา 

และตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมได้รับการประสานงานจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายจากนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ตัวแทนของพีมูฟ เข้าประชุมเพื่อวางกรอบแนวทางการหารือแก้ไขปัญหากรณีข้อเรียกร้อง 15 ข้อ ณ สำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ก่อนการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ ในวันที่ 31 ม.ค.นี้ ผ่านระบบ Video Conference โดยในการประชุมวานนี้ได้มีการมอบหมายให้ ดร.เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี และ รศ.ดร.ธนพร ศรียางกูร กรรมการกระจายอำนาจ ดำเนินการประชุม โดยมีหลักการว่าให้แต่ละข้อต้องระบุหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ แล้วเชิญมาประชุมแก้ไขปัญหาในช่วงเวลาที่เหลือก่อนการประชุมในครั้งต่อไป โดยในวันที่ 27 ม.ค. นี้ จะเป็นวันแรกของการเปิดประชุมร่วมกับพีมูฟ อย่างเป็นทางการ โดยมีนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในที่ประชุม ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 31 ธ.ค. นี้

แต่วันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ความหวังที่จะเกิดการพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหาของพวกเรากลับถูกตัดตอนลง ด้วยข้ออ้างของฝ่ายประสานงานรัฐบาล ที่กล่าวว่าไม่สามารถประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงได้ จึงไม่มีอะไรคืบหน้าแล้วมีความหวังเลย จากการเฝ้าสังเกตการณ์ท่าทีของข้าราชการประจำและฝ่ายการเมือง ในการชุมนุมครั้งล่าสุดของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move ซึ่งยังคงดำเนินอยู่เป็นวันที่ 7 แล้วพบว่า

1. รัฐบาลและ ครม.ทั้งคณะ ไม่มีใครที่มีท่าทีสนใจและคิดที่จะแก้ปัญหาประชาชนอย่างจริงจัง ครม.ทุกคนและทุกพรรค ดำรงอยู่เพื่อรักษาอำนาจไปวันๆ  รัฐมนตรีส่วนใหญ่ให้ความเคารพ เกรงกลัวและเกรงใจ พลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตร มากกว่าเกรงใจ เกรงกลัวและเคารพประชาชนซึ่งเป็นผู้ลงคะแนนเลือกพวกเขาให้เข้ามาเป็นรัฐบาล ทั้งนี้เพราะพลเอกประยุทธ์มีอำนาจชี้เป็นชี้ตาย จะปรับใครออกจากตำแหน่งตามอำเภอใจเมื่อไหร่ก็ได้ ที่สำคัญที่สุดคือ พลเอกประยุทธ์ ไม่ได้ยึดโยงและอยู่ในโครงสร้างอะไรของพรรคการเมืองเลย ไม่เป็นสมาชิกพรรค ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค ไม่ได้เป็นแม้แต่ ส.ส.ที่ประชาชนเลือกมา การตัดสินใจต่างๆจึงไม่จำเป็นต้องสนใจประชาชน

2.รัฐมนตรีบางคนในรัฐบาลนี้ขาดความรู้ ความเข้าใจปัญหาของประชาชน รวมทั้งความสามารถ และประสบการณ์ ในการบริหารงาน จึงถูกข้าราชการชี้นำและครอบงำการตัดสินใจ โดยไม่เปิดหูเปิดตารับฟังและเรียนรู้ปัญหาจากประชาชนบ้างจนทำให้ประชาชนที่เขามาร้องเรียนให้รัฐมนตรีช่วยแก้ปัญหา แต่ไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ จนเขารู้สึกว่า กระทรวงบางกระทรวงนั้นปล่อยให้ปลัดกระทรวงฯกับอธิบดีกรมต่างๆบริหารราชการไปแต่เพียงลำพังก็พอไม่จำเป็นต้องมีรัฐมนตรี, เลขานุการ ,ผู้ช่วยรัฐมนตรี เเละที่ปรึกษาให้เปลืองภาษีของประชาชนก็ได้ 

และ 3.ทีมงานที่เข้ามานั่งรับตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตั้งแต่เลขาธิการ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี(ฝ่ายการเมือง) ผู้ช่วยรัฐมนตรี หรือทีมงาน ส่วนใหญ่เป็นอดีตข้าราชการ ทหาร ตำรวจที่เกษียณอายุแล้ว ตั้งแต่อดีตปลัดกระทรวงฯ อดีตอธิบดี รองอธิบดี อดีตข้าราชการที่อกหักจากตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณ เพราะนอกจากจะไม่เป็นประโยชน์ใดๆแล้ว ยังเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมการทำงานแบบรัฐราชการ ที่มีระบบอุปถัมภ์และการรวมศูนย์อำนาจสั่งการแบบท๊อปดาวน์ เวลาจะแก้ไขปัญหาประชาชนก็มักจะยึดถือกฎหมายและระเบียบราชการเป็นหลักไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก เราคงจะต้องพูดคุยกัน แล้วยกระดับการเคลื่อนไหวให้บรรลุข้อเรียกร้องต่อไป เพราะผ่านมาสองวันนี้เป็นเพียงกระบวนการเตรียมที่ดูไม่มีความหวัง 

“อย่างวันนี้มีเพียงตัวแทนการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ที่เข้ามา นอกนั้นไม่มีตัวแทนหน่วยงานรับผิดชอบอื่นๆเลย ดังนั้นจึงต้องจับตาในการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่จะนั่งเป็นประธานในวันนี้เวลา14.30 น. เพราะจะเป็นตัวชี้วัดถึงความจริงใจของรัฐบาล ว่าจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากอนุกรรมการทั้ง 10 ชุด  8 กระทรวงมาร่วมประชุมด้วยหรือไม่ และการวางกรอบจะเข้าใจและตรงตามข้อเรียกร้องทั้ง 15 ข้อของผู้ชุมนุม เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่”

จำนงค์ หนูพันธ์  ประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
พีมูฟ
จะนะรักษ์ถิ่น

ขณะที่กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น 37 คน ที่เข้ารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาจากการชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 ที่สถานีตำรวจนครบาลดุสิตวานนี้  ได้เดินทางไปให้กำลังใจกลุ่มพีมูฟที่ปักหลักหน้าทำเนียบรัฐบาล ฝั่งถนนพิษณุโลก หลังจากที่กลุ่มพีมูฟก็ได้เคลื่อนขบวนไปให้กำลังใจกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ที่ สน.ดุสิต และได้ร่วมกันแถลงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยพวกเขาเห็นพ้องกันว่าทั้งกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น และประชาชนหลายพื้นที่ที่ออกมาเคลื่อนไหวในนามกลุ่มพีมูฟต่างประสบปัญหาชะตากรรมเดียวกัน และถือเป็นคดีทางนโยบายเหมือนกัน คือเป็นนโยบายที่จะควบคุม ไม่ให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจอนาคตของตัวเอง เช่นคดีของจะนะ ซึ่งจริงๆอาจจะไม่ต้องโดนคดี ถ้ารัฐทำตามข้อตกลง SEA แต่หนึ่งปีรัฐไม่ได้ทำ และใช้พรก.ฉุกเฉินมาดำเนินคดีกับพวกเขา 

“ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่เฉพาะจะนะ แต่มีอีกหลายพื้นที่ที่โดนคดี ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมในกรุงเทพฯ หรือการเรียกร้องในที่อื่นๆ เราพบว่ากรณีแบบนี้ ถ้าเราเรียกกัน คือเป็นเรื่อง slapp โดยรัฐ หรือการฟ้องปิดปากโดยรัฐ  เพื่อไม่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ  ในการที่จะมามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วคนเหล่านั้นเป็นเจ้าของทรัพยากรในพื้นที่เหล่านั้น“ 

 ส.รัตนมณี พลกล้า  ทนายความ-ผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ยังเปิดเผยว่า ไม่คาดหวังต่อสู้ในชั้นของพนักงานสอบสวน เพราะเชื่อว่าต้องถูกสั่งฟ้องแน่นอน แต่ในชั้นอัยการต้องเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้กับประชาชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ