กมธ.แก้จน-ลดเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา จับมือ ธกส. ผลักดัน “ทุ่งชมพูโมเดล”แหล่งน้ำขนาดเล็กแก้จน

เตรียมขยายต้นแบบแหล่งน้ำขนาดเล็กทั่วไทย หลัง”ทุ่งชมพูโมเดล” อ.ภูเวียงและอ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น ช่วยให้เกษตรกรกว่า 700 ครัวเรือนหลุดพ้นจากความยากจน

รศ.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำวุฒิสภา กล่าวว่า ยังมีเกษตรกรอีกเป็นจำนวนมากที่น่าจะสนใจแก้จนด้วยวิธีการจัดทำแหล่งน้ำขนาดเล็ก อย่างบ่อบาดาลน้ำตื้นที่ใช้โซลาร์เซลล์ คล้ายกับตำบลทุ่งชมพู อำเภอภูเวียง จ.ขอนแก่น แต่หลายพื้นที่อาจมีข้อจำกัดเรื่องเงินทุนที่จะใช้ลงทุนในระยะเริ่มต้นในการลงทุนจัดหาปัจจัยการผลิตจึงได้พูดคุยหารือกับผู้บริหารของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) และพร้อมที่จะสนับสนุนโครงการนี้เพื่อแก้จนให้เกษตรกร แต่ในระยะเริ่มต้นจะทำเป็นโครงการที่เน้นให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทานและอยู่ในจังหวัดขอนแก่น ก่อน ขยายทั่วทั้งภาคอีสาน และภาคอื่นๆของไทย เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรในพื้นที่นอกเขตชลประทานส่วนใหญ่มักยากจน และขาดแคลนแหล่งน้ำและมักอพยพไปขายแรงงานในเมืองใหญ่ ขณะที่ข้อมูลพบว่าไทยเอง มีพื้นที่ชลประทานเพียงร้อยละ 20 อีกร้อยละ 80 อยู่นอกเขตชลประทานที่ใช้เพียงน้ำฝนใน 1 ครั้งต่อปี แต่ถ้าส่งเสริมการจัดทำแหล่งน้ำขนาดเล็กจะทำให้มีน้ำใช้ตลอด 356 วัน เพิ่มรายได้ และไม่ไปทำงานต่างถิ่น ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและแก้จนได้

ขณะที่ข้อสรุปจากการหารือเบื้องต้น เมื่อวันที่ 24 มกราคม ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภาและ ธกส. จะเป็นเจ้าภาพร่วมกันในการจัดทำโครงการพิเศษก่อน โดยคณะกรรมาธิการฯ จะทำหน้าที่ให้ความรู้ และข้อแนะนำทางด้านวิชาการและเทคนิคต่างๆ ในเรื่องน้ำ ส่วน ธกส.จะรับผิดชอบงานด้านบริหารจัดการ เช่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ย เมล็ดพันธุ์ การยกระดับคุณภาพของสินค้า การทำงานร่วมกับชาวบ้าน การส่งเสริมการตลาด และการเชื่อมโยงกับตลาด การสร้างธุรกิจใหม่ และอื่นๆ เพื่อให้เป็นธุรกิจ การเกษตรอย่างครบวงจร ให้เป็นไปในหลักเกณฑ์ในการกู้เงินของเกษตรกรเป็นไปตามระเบียบของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรขณะที่การส่งเสริม “ทุ่งชมพูโมเดล” จะทำเป็นโครงการพิเศษ เริ่มต้นที่ทุ่งชมพู อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่นหากมีอำเภออื่นและจังหวัดอื่นๆ ที่สนใจจะทำโครงการในลักษณะเดียวกันนี้ หรือในประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน กรรมาธิการและ ธกส. จะหารือร่วมกันต่อไป

ส่วนการร่วมมือกันจะเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงสินเชื่อทั้งในระดับที่เป็นระดับปัจเจกบุคคล ครัวเรือน กลุ่ม เครือข่าย วิสาหกิจชุมชนทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ การร่วมมือกันระหว่างกรรมาธิการ กับ ธกส. จะเป็นการส่งเสริมเฉพาะการทำการเกษตรผสมผสานที่เป็นแบบอินทรีย์ การทำปศุสัตว์และประมง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของตัวเกษตรกรและผู้บริโภคโดยตรง

สำหรับเกษตรกรที่ติดภาระหนี้อยู่กับ ธกส. หรือเป็นหนี้ที่ยังชำระไม่หมด ธกส. ยินดีที่จะมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ใหม่ หรือทำการรีไฟแนนซ์ (ให้กู้ยืมเงินก้อนใหม่เพื่อใช้ทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานตามที่กำหนดไว้ในโครงการนี้) ทั้งนี้ให้เป็นไปตามระเบียบและหลักเกณฑ์ของ ธกส.

ขณะที่วันที่ 24-25 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการจัดสัมมนาทางวิชาการเรื่องทุ่งชมพูโมเดลที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นการหาแนวทางขับเคลื่อนเรื่องแหล่งน้ำขนาดเล็ก และการแก้ปัญหาความยากจนไปด้วย

ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ รองประธานคณะกรรมาธิการฯ และประธานคณะอนุกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพยากรน้ำและที่ดิน กล่าวว่า รับจะเป็นผู้ยกร่าง “ปฏิญญาทุ่งชมพูโมเดล” ที่จะให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่านได้ร่วมกันพิจารณาเพื่อจะประกาศปฏิญญาฉบับนี้ ร่วมกันในระหว่างวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2565 ที่จังหวัดขอนแก่นด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์