เทียบแนวคิด 3 แคนดิเดต ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ แก้ปัญหาคนข้ามทางม้าลาย

เหตุสูญเสีย #หมอกระต่าย โจทย์ท้าทาย ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ แก้ปัญหารถไม่หยุดจอดทางม้าลาย “ชัชชาติ – สุชัชวีร์ – วิโรจน์“ เสนอแนวทางแก้ปัญหา ทั้งการบังคับใช้กฎหมาย ติดตั้งอุปกรณ์ ตลอดจนปลูกฝังจิตสำนึก

จากเหตุการณ์ความสูญเสียที่เกิดขึ้น ในกรณีอุบัติเหตุมีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ พุ่งชนประชาชนที่เดินข้ามทางม้าลาย เป็นเหตุให้เสียชีวิต บริเวณหน้าสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงความปลอดภัยของ ‘คนเดินเท้า’ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่มักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง แม้อาจไม่ใช่หน้าที่ของ กทม. เพียงหน่วยงานเดียว แต่สิ่งนี้ก็เป็นประเด็นท้าทายของ ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ คนต่อไป ว่าจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ได้หรือไม่

The Active รวบรวมแนวคิด และข้อเสนอของว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในการแก้ปัญหาดังกล่าวว่าเป็นอย่างไร

‘ชัชชาติ’ ซัดวินัยจราจรมีปัญหา ต้องลงโทษสถานหนัก

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล โดยระบุว่า ความสูญเสียดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่สำคัญของความปลอดภัยของการเดิน โดยเฉพาะการข้ามถนน ที่ทางม้าลายไม่ได้รับความสำคัญ เช่น หลายครั้งที่เราเห็นคนข้ามถนนบนทางม้าลาย ต้องขอบคุณรถที่หยุดรถให้ ทั้ง ๆ ที่เป็นสิทธิของคนข้ามถนนที่ทางข้าม

ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือเรื่องวินัยจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจร พ.ศ. 2522 ให้สิทธิ์คนข้ามถนนที่ทางม้าลายอย่างชัดเจน เช่น มาตรา 70 เมื่อเห็นทางม้าลาย ให้ชะลอความเร็วก่อนทุกครั้ง (บิ๊กไบค์ไม่ชะลอความเร็ว) สำหรับป้ายสัญญาณทางข้าม ที่ติดตั้งอยู่ด้านบนทางข้ามนั้น หมายความว่า ทางข้างหน้ามีทางสำหรับคนข้ามถนน ถ้ามีคนกำลังเดินข้ามถนนให้หยุดรถให้คนเดินข้ามถนนไปได้โดยปลอดภัย (บิ๊กไบค์ไม่หยุดรถให้คนเดินข้าม)

ต้องมีการกวดขันวินัยจราจรกันอย่างจริงจัง ลงโทษสถานหนัก จับ ปรับ จำ ยึดใบขับขี่ ในปัจจุบัน เราจะเห็นวินัยจราจรที่หย่อนยานทั่วไปหมด พอไฟแดง แต่รถว่าง ก็ฝ่าไฟแดงกันจนเป็นเรื่องปกติ เราเห็นรถจักรยานยนต์ขับย้อนศร ขับบนทางเท้า รถจอดซ้อนคัน พอมีคนไปตักเตือน ยังโดนด่ากลับมาอีก

นอกจากนี้ ลักษณะทางกายภาพของทางข้ามที่ต้องเร่งดำเนินการปรับปรุง

– ทาสีแถบทางข้ามมีความชัดเจน ไม่กระดำกระด่าง มีความกว้างมากขึ้น เหมือนในประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้คนที่ขับขี่รถยนต์สามารถเห็นได้ในระยะไกล

– มีการติดตั้งไฟแสงสว่างให้เพียงพอ และสัญญาณไฟกระพริบเตือน

– มีการติดตั้งป้ายเตือนทางข้ามไว้ล่วงหน้าก่อนถึง

– มีการติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อลงโทษผู้กระทำผิดที่ไม่หยุดให้คนข้าม

– ในจุดที่มีคนข้ามจำนวนมาก ติดตั้งสัญญาณไฟเขียวไฟแดง เพื่อให้ข้ามได้อย่างปลอดภัย

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ อย่าให้ทางม้าลาย เป็นแค่สิ่งที่ช่วยให้เราบาดเจ็บหรือตายได้อย่างถูกกฎหมายเท่านั้นครับ

‘สุชัชวีร์’ แนะตั้ง คกก. ถอดบทเรียน และปลูกจิตสำนึกเยาวชน

เช่นเดียวกับ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่อยากให้ครั้งนี้เป็น ‘ไฟไหม้ฟาง’ ที่ได้รับความสนใจเพียงไม่นาน เมื่อเวลาผ่านไปแล้วไม่ได้รับการแก้ไข ในฐานะวิศวกร อดีตนายกวิศวกรรมสถานฯ และอดีตนายกสภาวิศวกร จึงได้เสนอ 3 แนวทางแก้ปัญหา ดังนี้

1. ต้องไม่ยอมให้ผ่านไป เหมือนไฟไหม้ฟาง มีหน่วยงานหาความจริง

เมื่อมีอุบัติเหตุบนถนน เขาจะตั้งกรรมการผู้เชี่ยวชาญเพื่อถอดบนเรียนจริงจัง ไม่รอข่าวเงียบ เพื่อหาต้นตอปัญหา ไม่ใช่แค่รู้ว่าใครชน คนนั้นรับผิดชอบ เพราะมันอาจเกิดจากปัจจัยอื่นด้วย เช่น เกิดจากถนน และสิ่งแวดล้อม หรือเกิดจากยานพาหนะ ตลอดจนเกิดจากผู้ขับขี่ เพื่อนำไปแก้ไขที่ต้นเหตุ ลดความเสี่ยง หยุดการสูญเสียในอนาคต

กทม. จะต้องมีหน่วยงานกลาง เพื่อไต่สวนหาสาเหตุที่แท้จริง ถอดบทเรียนเพื่อนำมาดำเนินการลดความเสี่ยง หน่วยงานนี้ต้องมี ผู้เชี่ยวชาญด้านถนนและวิศวกรรมจราจร ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญอิสระภายนอก ดำเนินการเก็บข้อมูลหลังจากที่เกิดอุบัติเหตุอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ สามารถวิเคราะห์สาเหตุได้ถูกต้อง

แล้วเสนอทางแก้ไข ทั้งด้วยการเปลี่ยนกายภาพถนน ใช้เทคโนโลยี และใช้กฎหมายเข้มข้น เพราะ กทม. มีสำนักจราจร มีสำนักโยธา มีสำนักการแพทย์ มีคณะวิศวะ คณะแพทย์ มีคนเก่ง พร้อมครับ ต้องทำ #เราทำได้

2. ประชาชน ชุมชน ต้องร่วมตรวจประเมินถนน ฟุตบาท

การป้องกันดีกว่า การแก้ไขหลังสูญเสีย ในต่างประเทศ จะมี ‘การประเมินความปลอดภัยบนถนน’ หรือ Road Safety Audit เป็นประจำ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางถนน ที่ได้รับการอบรมและมีใบอนุญาตตรวจสอบถนน และมี ‘ตัวแทนประชาชนผู้ใช้ถนน’ มาเดินร่วมกันตรวจถนนและฟุตบาท ปีละสองครั้งก็ได้

ชุมชน เช่น หมู่บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล ต้องมีส่วนร่วมตรวจสอบ และปรับปรุงจุดเสี่ยงร่วมกัน เพราะลูกเขาข้ามถนน ใช้ทางเท้า หรือ บาทวิถี ไปโรงเรียนตรงนี้ทุกวัน เขามาทำงานเดินผ่านทางนี้ทุกวัน เขารู้ดี ว่าเขามีอันตราย ลูกเขาเสี่ยง ผมมั่นใจ ประชาชนพร้อมช่วยครับ หาก กทม. เปิดโอกาส

3. ปลูกฝังจิตสำนึกกฎจราจรแต่เด็ก ให้ลูกสอนพ่อแม่

เพราะต่อให้ถนนดีแค่ไหน เทคโนโลยีล้ำขนาดไหน ก็แค่ลดความเสี่ยง ยังไงไม่สู้ การมีจิตสำนึกของคนใช้ถนน จริงไหม ? ทุกชาติ เริ่มที่เด็กเล็ก ผมอยากทำโรงเรียนอนุบาล กทม. ที่สอนหน้าที่พลเมือง เรื่องกฎจราจร การขับรถ การข้ามถนน แม้ว่าวันนี้เขาขับขี่ยังไม่ได้ แต่เขาสอนพ่อแม่ “ไฟเหลืองนะคะ คุณพ่อหยุดนะคะ” หรือ “มีคนรอข้ามทางม้าลาย แม่หยุดนะครับ” ใครกล้าไม่เชื่อลูก? อายลูกและเมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่ กรุงเทพฯ ก็มีพลเมืองคุณภาพ เคารพกฎจราจรทุกคน ดีไหมครับ

‘วิโรจน์’ เน้นบังคับใช้กฎหมายจริงจัง ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันเหตุ

ในขณะที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่เพิ่งมีการเปิดตัวไปสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อวานนี้ ว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในนามพรรคก้าวไกล บนเวทีปราศรัยได้มีการกล่าวถึง ปัญหาความปลอดภัยในการข้ามทางม้าลายของคนกรุงเทพฯ ประกาศว่าหากตนเป็นผู้ว่าฯ กทม. “ต้องไม่มีคนตายขณะข้ามทางม้าลาย

และในวันนี้ (24 ม.ค. 2565) วิโรจน์ พร้อมด้วย ส.ส. จากพรรคก้าวไกล ลงพื้นที่ ณ จุดเกิดเหตุ ทางม้าลายข้ามถนน หน้าสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ เพื่อเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา 2 เรื่องใหญ่ คือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และการเพิ่มมาตรการป้องกัน

ผู้ว่า กทม.
รูปภาพ : พรรคก้าวไกล

1. ผู้ว่าฯ กทม. แม้ไม่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย แต่ต้องประสานกับตำรวจจราจร

วิโรจน์ กล่าวว่า หากตนเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะประสานและเจรจากับกองบังคับการตำรวจจราจร เพื่อให้บังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะ เรื่องเหล่านี้ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วตามกฎหมาย แต่ที่คนไม่ปฏิบัติตามเพราะเราไม่บังคับใช้อย่างจริงจัง

2. มาตรการป้องกัน ติดตั้งอุปกรณ์ที่ปลอดภัยและทันสมัย

บริเวณทางม้าลายที่มีมากกว่า 4,000 แห่งทั่วทั้งกรุงเทพฯ ต้องปลอดภัยสำหรับคนเดินข้ามถนนมากที่สุด ก่อนถึงทางม้าลาย ต้องมีสัญญาณไฟเตือน ป้ายชะลอความเร็ว มีการตีเส้นเพื่อชะลอความเร็วของรถ มีสัญญาณไฟแดงข้ามถนนที่ใช้งานได้จริง และจำเป็นต้องมีกล้องตรวจจับความเร็ว และกล้องวงจรปิดทุกที่

นี่จึงเป็นโจทย์ท้าทาย ของว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. นอกเหนือจากประเด็นเรื่องรถติด คงอาจต้องกลับมาให้ความสำคัญกับการเดินเท้าของประชาชน ที่ต้องปลอดภัยโดยเฉพาะหากเป็นพื้นที่อย่างทางม้าลาย ที่ไม่ควรต้องมีผู้สูญเสียอีกต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้