ภาคประชาชน คาดหวัง นายกฯ เร่งรับรอง “ร่างพ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฯ ฉบับประชาชน”

เชื่อจะเป็นการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศกว่า 60 กลุ่ม ประชากรกว่า 6.1ล้านคน ตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ แนวนโยบายรัฐและยุทธศาสตร์ชาติที่ระบุไว้

ชาติพันธุ์

หลังสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร ได้ส่งหนังสือความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง มายังตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ ) ในนามผู้เสนอร่างกฎหมาย  เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 ถึงผลการพิจารณาวินิจฉัยของประธานสภาผู้แทนราษฎร  โดยมีข้อความสำคัญสรุปว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว  มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองขึ้น เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ แต่มีหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการ ประสานหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานอื่น กำหนดให้รัฐมีหน้าที่จัดสรรงบประมาณอุดหนุนให้ตามความเหมาะสมประจำทุกปี ทำให้รัฐต้องจัดสรรงบประมาณแผ่นดินมาดำเนินการ และการกำหนดรายได้ของสำนักงานฯ ให้ถือว่าเป็นของสำนักงานฯ โดยไม่ต้องนำส่งคืนคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณ ทำให้รัฐขาดรายรับ จึงเข้าลักษณะเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 134 (2 ) ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะได้ส่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้คำรับรองต่อไป  

ชาติพันธุ์ สุริยันต์ ทองหนูเอียด

สุริยันต์ ทองหนูเอียด  ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือฟีมูฟ ยืนยันว่า “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(P-Move)” และเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ ต้องผลักดันให้นายกรัฐมนตรีลงนามกฎหมายเพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฏรพิจารณาเพราะร่างกฎหมายนี้ ที่เสนอโดยประชาชน ดำเนินตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 70 “ ที่รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดํารงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุขฯ “

ซึ่งหากดูตั้งแต่กระบวนการผลักดันในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา มติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง นำมาซึ่งการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ แต่เพื่อให้มีการคุ้มครองที่ชัดเจนต้องมีกฎหมาย ขณะที่รัฐบาลก็ได้ให้ความสำคัญในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อเรื่องนี้  ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับประชาชนไม่ใช่การสร้างภาระใหม่และข้อจำกัดใดๆให้กับรัฐบาล เพราะรัฐบาลเอง ก็เดินหน้าร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ของกระทรวงวัฒนธรรม โดยมอบหมายให้ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ( องค์การมหาชน) ยกร่าง และมีร่างที่เสนอโดยกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง ภาคการเมือง และชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยรวมอีก 3 ฉบับ ซึ่งสอดคล้องในทิศทางเดียวกัน นี่จึงเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ต้องให้การสนับสนุนเดินหน้าต่อตามแนวนโยบายแห่งรัฐและยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดเรื่องนี้ไว้  

“เราคิดว่ากฎหมายฉบับที่ประชาชนเสนอ เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องสนับสนุน เพราะการให้กฎหมายประชาชนไปปรากฎในการพิจารณาในสภาฯ คือการแสดงถึงความเป็นอารยะ ที่มีตัวแทนประชาชนที่หลากหลายเข้ามามีส่วนร่วม จึงไม่มีเหตุผลใด ที่นายกรัฐมนตรีจะไม่สนับสนุนหรือประวิงเวลาในการพิจารณารับรอง ในเชิงกระบวนการเมื่อประธานสภาฯส่งร่างกฎหมายฉบับนี้ไปถึงนายกรัฐมนตรี   จึงไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะล่าช้าควรต้องผลักดันโดยเร็ว ซึ่งเห็นว่าตามกระบวนการไม่เกิน 1 เดือน“ 

กฎหมาย ชาติพันธุ์

โดยร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองมีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 16,559 รายชื่อ  เสนอต่อประธานรัฐสภาไปเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564  ถือเป็นร่างกฎหมายฉบับที่ 4   โดยก่อนหน้านี้มีอีก 3 ฉบับที่เสนอแล้ว คือ 1. (ร่าง) พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เสนอโดยสภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ , 2. (ร่าง)พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เสนอโดย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นำโดยพรรคก้าวไกล และ 3. (ร่าง)พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เสนอโดยคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร  และที่กำลังผลักดันอีก 1 ฉบับ คือร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ของกระทรวงวัฒนธรรม โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน ) มีสถานะเป็นร่างกฏหมายของรัฐบาล  ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบของกฎหมายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี  


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ