“คณะรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.272” ผนึกกำลังเครือข่ายภาคประชาชน แถลงเปิดตัวเว็บไซต์เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ยกเลิก ส.ว.เลือกนายกฯ นัดยื่นสภาฯ 70,000 รายชื่อ 1 มีนาคมนี้
17 ม.ค. 2565 – ที่ มหาวิทยาลัยรังสิต “คณะรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.272” แถลงเปิดตัวเว็บไซต์ “NO 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว. โหวตนายก” เข้าชื่อเสนอกฎหมายอย่างเป็นทางการเพื่อยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ นำโดย รศ. สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ในฐานะผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายในนามคณะรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.272 กล่าวว่า คณะรณรงค์มีแผนจะเปิดให้ประชาชนร่วมลงชื่อออนไลน์ ตั้งแต่ 17 มกราคม 2565 ไปจนถึง 16 เมษายน 2565 รวมเป็นเวลา 3 เดือน โดยการส่งรายชื่อพร้อมหลักฐานการลงลายมือชื่อตามแบบที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกำหนด จำนวน 70,000 รายชื่อแรก จะกระทำในวันอังคารที่ 1 มีนาคม 2565 หลังจากการปิดประชุมสามัญสมัยที่สองของรัฐสภา เพื่อให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถบรรจุเป็นวาระการพิจารณาในสมัยประชุมแรกของปี 2565 คือเดือนพฤษภาคม 2565 และประเมินว่ากระบวนการพิจารณาทั้งสามวาระน่าจะเสร็จสิ้นไม่เกินเดือนกรกฎาคม 2565 จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันลงชื่อทำให้ขั้นตอนแรกผ่านไปได้อย่างราบรื่นและรวดเร็ว
ระหว่างนี้ทางคณะรณรงค์ฯ ได้ทำการเดินสายพบพรรคการเมืองต่าง ๆ เพื่อขอความสนับสนุนในการประชาสัมพันธ์ชักชวนประชาชนมามีส่วนร่วม โดยมีพรรคที่ได้พูดคุยและแสดงจุดยืนสนับสนุนกันไปบ้างแล้วได้แก่ พรรคกล้า พรรคเสรีรวมไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาชาติ และพรรคเพื่อไทย นอกจากนี้ยังได้พูดคุยกับสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคร่วมรัฐบาลอีกหลายพรรค โดยทางคณะรณรงค์ฯ ตั้งใจจะไปพบพรรคการเมืองให้ครบทุกพรรค รวมถึงจะพูดคุยกับกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีเสียงสนับสนุนอย่างเพียงพอในรัฐสภาด้วย ซึ่งที่ผ่านมาก็มีสมาชิกวุฒิสภาหลายท่านประกาศจุดยืนสนับสนุนหรือเคยร่วมโหวตให้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งอื่น ๆ ที่เคยมีการเสนอกันมาก่อนหน้านี้ ทั้งจากภาคประชาชน ฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล
รศ.สมชัย ยังได้สรุปแนวทางรณรงค์ต่อไป 10 ประเด็น เช่น เดินสายพบพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุน, เดินสายพบ ส.ว. ซึ่งที่ผ่านมามี ส.ว. สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญกว่า 56 คนแล้ว รวมถึงการเดินสายพบสื่อมวลชนและทำกิจกรรมรณรงค์ร่วมกับภาคประชาชนและภาคประชาสังคม โดยตั้งเป้าใช้เวลาในการรณรงค์ 3 เดือน และปิดเว็บไซต์ช่องทางการลงชื่อในเวลา 24.00 น. วันที่ 16 เมษายน 2565 จากนั้นจะนำส่งชื่อ 70,000 ชื่อแรกแก่สำนักงานสภาผู้แทนราษฎร ในวันอังคารที่ 1 มีนาคม 2565 เพื่อให้ทันการพิจารณาในสมัยประชุมแรกของรัฐสภา ในเดือนพฤษภาคม 2565 ต่อไป
เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า เครือข่ายภาคประชาชนหลายองค์กรจะเข้าร่วมรณรงค์ในนามคณะรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.272 ร่วมกัน เพราะเห็นว่านี่คือทางออกสุดท้ายของบ้านเมืองที่เหลือช่องทางอยู่ เพื่อแก้ไขวิกฤตการเมืองที่เกิดจากกับดักรัฐธรรมนูญที่ออกแบบไว้เพื่อสืบทอดอำนาจ โดยเฉพาะบทเฉพาะกาล ม.272 ซึ่งในการเสนอกฎหมายฉบับนี้ จะลบวรรคแรกนี้ออกทั้งหมด แต่ยังคงวรรคอื่นตามเดิมในรัฐธรรมนูญ 2560 ทุกประการ เพื่อขอความร่วมมือทุกฝ่ายเพื่อเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยในระบอบคณาธิปไตยให้เป็นประชาธิปไตย
“ปัจจุบันประชาชนยังไม่สามารถแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับได้ เพราะกับดักรัฐธรรมนูญถูกเขียนไว้ทำให้แก้ไขได้ยากยิ่ง แต่การแก้มาตราเดียวนี้อย่างน้อยจะทำให้เกิดประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาขึ้นมาบ้าง เพื่อให้นายกฯ มาจากเจตจำนงของประชาชน จากเสียงข้างมากในสภาฯ อย่างแท้จริง เพราะต้องยอมรับว่า วิกฤตการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง 2562 มาจากเรื่องนี้โดยตรง จึงขอเรียกร้องพรรคร่วมรัฐบาลสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และขอเรียกร้องไปยัง ส.ว.ทุกท่านด้วยความจริงใจ เพราะการแก้ไขมาตรานี้มาตราเดียวเป็นเรื่องที่บริสุทธ์ใจของทุกฝ่ายที่ต้องการให้การเมืองไทยกลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และลดความขัดแย้งทางการเมืองโดยตรงจากรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจที่เป็นพิษของ คสช.”
ด้าน ณัฏฐา มหัทธนา หนึ่งในคณะรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.272 เชื่อว่าการแก้ไขครั้งนี้มีความเป็นไปได้สูง ดูจากผลตอบรับการเข้าชื่อโดยประชาชนที่หลากหลายคือมาจากทุกฟากฝั่งทางการเมืองแล้ว ก็เห็นสัญญาณอันดีว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราเดียวในครั้งนี้น่าจะเป็นสิ่งที่สังคมมีฉันทามติร่วมกันได้ อย่างที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าการแก้ไขครั้งนี้มีเงื่อนไขน้อยที่สุดแล้ว เพราะเป็นการแก้ในสิ่งที่จำเป็นจริง ๆ ก่อน คือเพียงลดอำนาจ ส.ว. ในการร่วมโหวตนายกฯ เท่านั้น เป็นการทำกติกาให้เป็นปกติสากลให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งของผู้แทนที่ประชาชนเลือกมา ไม่ใช่นำเสียง ส.ส. 500 คนไปปะปนกับเสียง ส.ว. จากการแต่งตั้ง 250 คน ซึ่งเป็นสัดส่วนถึงหนึ่งในสามของรัฐสภาให้มาร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการแห่งความเสมอภาคของคะแนนเสียง ดังนั้น การแก้ ม.272 ในครั้งนี้จึงเป็นการแก้ไขกติกาให้มีความเป็นปกติและเป็นธรรม ซึ่งทุกฝ่ายพึงจะเห็นว่าเป็นประโยชน์ในการลดความขัดแย้ง และเชื่อว่าจะมาร่วมกันทำให้เป็นไปได้จริงแน่นอน ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปคราวหน้า โดยตนก็อยากกราบเรียนเชิญนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาร่วมลงชื่อด้วยกัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยกลไกรัฐสภาในครั้งนี้ด้วย
นอกจากนี้ ชายนริศ ผดุงกุล ผู้ออกแบบโปรแกรมลงชื่อในระบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเว็บไซต์ ได้สาธิตวิธีการใช้งานเว็บไซต์ www.nosenatevote.net สำหรับร่วมลงชื่อออนไลน์ ซึ่งได้ทำการเก็บข้อมูลตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 ที่เปิดช่องให้มีการเข้าชื่อออนไลน์สำหรับการเสนอกฎหมายได้ เพื่อนำเสนอต่อรัฐสภา โดยก่อนแถลงเปิดตัวมีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 38,000 คน
สำหรับการแถลงข่าวเปิดตัวเว็บไซต์ดังกล่าว มีตัวแทนภาคประชาชนและภาคประชาสังคมเข้าร่วมหลายกลุ่ม เช่น บุญส่ง ชเลธร อดีตผู้นำนักศึกษา 14 ตุลา, กาญจนี วัลยะเสวี แกนนำกลุ่มชาวไทยหัวใจรักสงบ, จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move), ณัฐวุฒิ อุปปะ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.), กรองทอง มณีสิน อดีตกรรมการศูนย์นักเรียนแห่งประเทศไทย และ รศ.เชฏฐเนติ ศรีสอ้าน รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ฯลฯ