ต้องพัฒนาระบบเตือนภัย “สึนามิ” หลังแผ่นดินไหว-ภูเขาไฟระเบิด

“ทั่วโลกยังขาดระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว” ผู้เชี่ยวชาญ ย้ำ จำเป็นต้องพัฒนาระบบเตือนภัย “สึนามิ” หลังแผ่นดินไหว หรือ ภูเขาไฟระเบิดอย่างทันท่วงที เหตุ เป็นภัยพิบัติที่คาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้

แม้ “ศูนย์แจ้งเตือนคลื่นสึนามิแปซิฟิก” (Pacific Tsunami Warning Center) หรือ PTWC จะเปิดเผยว่า ภัยพิบัติจากคลื่นสึนามิหลังการปะทุของภูเขาไฟใต้น้ำที่ตองกา มหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ลดระดับลงแล้ว แต่ยังคงคำเตือนให้พื้นที่ชายฝั่งเฝ้าระวังกระแสน้ำในทะเลที่ผิดปกติ ส่วนไทยมีคำยืนยันอย่างเป็นทางการ จากกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ว่าไทยไม่ได้รับผลกระทบ แต่ก็ยังต้องติดตามข่าวสาร และเตรียมความพร้อมเรื่องระบบเตือนภัยให้ได้มากที่สุด เพราะแผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่ทั่วโลกยังไม่สามารถเตือนภัยได้ มีเพียงระบบเตือนภัยสึนามิที่เกิดขึ้นหลังแผ่นดินไหว หรือภูเขาไฟระเบิดเท่านั้น

โดยภาพดาวเทียม GOES West ขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ จับภาพการระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเลครั้งใหญ่ ตามรายงานพบการปะทุครั้งนี้กินรัศมี 260 กิโลเมตร และส่งผลให้ละอองเถ้า ไอน้ำ และก๊าซลอยขึ้นไปในอากาศถึง 20 กิโลเมตร การปะทุครั้งล่าสุด ยังมีพลังมากกว่าการปะทุครั้งก่อน ประมาณ 7 เท่า ส่งผลให้เมืองนูกูอาโลฟา เมืองหลวงของตองกาเกิดคลื่นสึนามิหลังเกิดการระเบิด ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบ เช่น ญี่ปุ่น ที่ออกคำเตือนสึนามิและสัญญาณเมืองชายฝั่ง, สหรัฐอเมริกา เกิดคลื่นสึนามิ 80 เซนติเมตร บริเวณชายฝั่งฮาวาย, แคนาดา เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออกประกาศเตือนและเกิดสึนามิขนาดเล็กสูง 1.5 เมตร ขณะที่ไทยไม่ได้รับผลกระทบ

รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต ระบุ สาเหตการเกิดสึนามิว่า 90% มาจากแผ่นดินไหว มีน้อยกว่า 5% ที่มาจากภูเขาไฟระเบิด และการระเบิดภูเขาไฟใต้น้ำ โดยทั้งโลกยังไม่มีประสบการณ์เตือนภัยแผ่นดินไหว นั่นหมายความว่าเวลานี้มีเพียง 2 เครื่องมือที่จะช่วยเตือนภัยก่อนเกิดสึนามิได้ คือ ทุ่นเตือนภัยและระบบฐานข้อมูล

ภาพอธิบายจุดวางทุ่นเตือนภัยสึนามิและผลการวิเคราะห์จากทุ่นเตือนภัย
ที่มา : ศูนย์เตือนภัยสึนามิของแปซิฟิก

2 ระบบเตือนภัย สึนามิ ในประเทศไทย

รศ.เสรี อธิบายเพิ่มเติมข้อมูลจากศูนย์เตือนภัยสึนามิของแปซิฟิก จะเห็นจุดสีเหลือง คือทุ่นที่มีอยู่ทั่วโลก ตามจุดวงแหวนแห่งไฟ หรือ จุดที่มีรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหว และมีการแจ้งเตือนแบบนี้หากเป็นสีเขียวและแดง ก็จะถือว่าได้รับผลกระทบต้องเตือนภัย

จากข้อมูลพบว่า ไทยมีทุ่นเตือนภัยสึนามิ 8 ทุ่น ปัจจุบันเสียเกือบทั้งหมด เหลือ 2 ตัว คือ ทุ่นของไทยอยู่ใกล้ จ.ภูเก็ต และทุ่นใน มหาสมุทรอินเดีย รศ.เสรี อธิบายเพิ่มเติมว่า ทุ่นแต่ละทุ่นจะมีราคาแพง รักษายาก อย่างทุ่นที่อยู่ใกล้ จ.ภูเก็ต (160 กิโลเมตร) เฉพาะตัวทุนราคาสูงถึง 2 ล้านเหรียญสหรัฐ (70-80 ล้านบาท), ค่าบำรุงรักษาประมาณปีละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯลฯ ค่าบำรุงที่สูง ระยะทางที่ไกลทำให้การดูแลรักษาทุ่นเป็นเรื่องยาก หากเสียก็จะลำบาก จึงจำเป็นต้องใช้ระบบเตือนภัยด้วยฐานข้อมูล ว่า หากเกิดแผ่นดินไหวจุดใดแล้วจะต้องรู้ได้ว่า ไทยได้รับผลกระทบหรือไม่

นอกจากนี้ รศ.เสรี ยังย้ำความสำคัญของระบบเตือนภัย เพราะ ทุก ๆ ครั้งที่เกิดแผ่นดินไหว ทุก ๆ รอยเลื่อนแผ่นดินไหวจะเชื่อมต่อกัน คล้ายกระจก หรือเปลือกไข่ และไม่สามารถคาดเดาได้ว่า แผ่นดินไหวจะเกิดจุดไหน และเมื่อไหร่ จึงจำเป็นต้องตระหนักถึงความสำคัญของเครื่องมือเตือนภัย

“แผ่นดินไหว คาดการณ์ไม่ได้ เราไม่รู้จะเกิดเมื่อไหร่
จุดที่ระเบิดไม่รู้ แต่หลังระเบิดต้องรู้ว่าจะมี สึนามิหรือไม่
ให้มีระบบเตือนภัยให้ทันเท่านั้นเอง”

ภาพอธิบายรอยเลื่อน และแผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้นใกล้กับประเทศไทย

อ่าวไทยจะมีโอกาสเกิด สึนามิ หรือไม่ ?

ส่วนคำถามยอดฮิตจะมีโอกาสเกิดสึนามิอ่าวไทยหรือไม่ รศ.เสรี ระบุว่าอาจจะได้รับผลกระทบได้หากเกิดแผ่นดินไหวในฟิลิปปินส์ เขาย้ำว่า แผ่นดินไหวคาดการณ์ไม่ได้ แต่เพียงต้องรู้ว่าคลื่นจะมาถึงเราภายในเวลาเท่าไหร่ และสูงเท่าไหร่ โดยจากภาพแผนที่ความเสี่ยงประเทศไทยระบุเลยว่า จุดกำเนิดแผ่นดินไหวไทยมี 3 แหล่ง คือ

  1. รอยเลื่อนสะแกง บนบกผ่ากลางประเทศเมียนมา ซึ่งในอดีตเคยเกิดแผ่นดินไหวความรุนแรง 8.2

2. ถัดมา คือ รอยเลื่อนซุนดา ที่เคยเกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเลรุนแรงขนาด 9.1-9.3 บริเวณเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย แรงสั่นสะเทือนส่งผลถึง จ.ภูเก็ต และจังหวัดชายฝั่งอันดามันของไทย ในปี 2547

3. รอยเลื่อนฟิลิปปินส์ ไทยจะได้รับผลกระทบ อ่าวไทยจะได้รับผลกระทบจากรอยเลื่อนฟิลิปปินส์ แผ่นดินไหวคาดการณ์ไม่ได้แต่เพียงต้องรู้ว่า คลื่นจะมาถึงเราภายในเวลาเท่าไหร่ และสูงเท่าไหร่ ใช้เวลา 20 ชั่วโมง

ภาพอธิบายวงรอบพลังงานดวงอาทิตย์

รศ.เสรี อธิบายเพิ่มเติมจากภาพวงรอบพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ Solar cycle ที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ซึ่งมักจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในช่วงที่พลังงานแสงอาทิตย์ถึงจุดต่ำสุดและกำลังจะผงกหัวขึ้น ความหมาย คือ ระหว่างทางที่พลังงานแสงอาทิตย์กำลังเปลี่ยนจากจุดต่ำสุดไปสูงสุด พลังงานตรงนี้จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ ซึ่งไม่รู้จะใช้เวลานานเท่าไหร่ ถึงจะไปถึงจุดที่เกิดแผ่นดินไหว โดยมากแล้ว พลังงานแสงอาทิตย์ต่ำสุดกำลังจะไปสูงสุดมักจะเกิดแผ่นดินไหว และสึนามิ หากดูจากภาพที่องค์การนาซา (NASA) คาดการณ์ว่าก่อนถึงช่วงกึ่งกลางระหว่างปี 2019 – 2031 คือช่วงที่จำเป็นต้องเฝ้าระวังการเกิดแผ่นดินไหว

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน