‘นักเรียนเลว’ ชวน ปชช. เข้าชื่อเสนอ “กฎหมายคุ้มครองนักเรียน”

เครือข่าย ‘นักเรียนเลว’ ผุดแคมเปญ “รื้อระบอบอำนาจนิยม” ชวนประชาชนลงชื่อเสนอร่าง “พ.ร.บ. ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้เรียน” หวังสร้างหลักประกันป้องกันการละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนในโรงเรียน

กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า นักเรียนเลว ได้เปิดแคมเปญ รื้อระบอบอำนาจนิยม เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2565 เชิญชวนนักเรียนและประชาชน ร่วมลงชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้เรียน ผ่านทางเว็บไซต์ นักเรียนเลว ระบุ กฎหมายนี้จะช่วยปกป้องสิทธิมนุษยชนนักเรียนไม่ให้ถูกละเมิด

ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ นักเรียนเลว

ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้เรียน ฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ถูกยกร่างโดยนักเรียน เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดำเนินการออกกฎกระทรวงและระเบียบเพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.บ. นี้ โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญแบ่งออกเป็น 3 หมวด

หมวด 1 ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้เรียน กล่าวถึงการประกันสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย และเสรีภาพการแสดงออกของผู้เรียน โดยจะต้องไม่มีผู้ใดเข้าไปแทรกแซงหรือชักนำจนทำให้เกิดการลิดรอนหรือเสียไปซึ่งสิทธิทางเสรีภาพนั้น

หมวด 2 ว่าด้วยสภาพแวดล้อมและเสรีภาพของสถานศึกษา กล่าวถึงแนวทางการจัดการด้านความปลอดภัยที่ผู้เรียนพึงมีและความเหมาะสมต่อสภาวะแวดล้อมในการเรียนรู้และการเติบโตของผู้เรียน รวมไปถึงความเหมาะสมด้านระยะเวลาการพักผ่อนที่ผู้เรียนควรได้รับ

หมวด 3 ว่าด้วยการมีส่วนร่วมของผู้เรียน กล่าวถึงการเรียกร้องด้านสิทธิในการเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นของผู้เรียน และการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนของตัวผู้เรียนเอง หรือการสนับสนุนให้มีการชุมนุมได้อย่างเสรีในสถานศึกษาเพื่อเป็นการเปิดกว้างการแสดงออกทางความคิด ตลอดจนการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของผู้เรียนในระเบียบการบริหาร ตลอดจนหลักสูตรที่ผู้เรียนมีความสนใจ

เฟซบุ๊ก นักเรียนเลว ระบุว่า  ตลอดหลายสิบปี การลงโทษนักเรียนด้วยวิธีการตี กลายเป็นเรื่องที่เห็นได้ทั่วไป ไม้เรียว กลายเป็นเครื่องหมายของความมีอำนาจ ความเป็นใหญ่ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม ‘อำนาจนิยม’ ถึงได้เบ่งบานในสถานศึกษา

“การใช้ความรุนแรงของคุณครูเพื่อลงโทษนักเรียนกลายเป็นสิ่งที่ถูกยอมรับในสังคม ถึงกับมีสุภาษิตไทยที่ว่า รักวัวให้ผูก รักลูก(ศิษย์)ให้ตี ตอกย้ำความเชื่อว่าการลงโทษด้วยการตีจะทำให้เด็กจำและกลัวที่จะกระทำผิดซ้ำอีก การที่สังคมไทยมองการลงโทษด้วยความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมดา จึงเป็นที่น่าตั้งคำถามว่าเรากำลังสนับสนุนให้ความรุนแรงในสถานศึกษาเป็นเรื่องปกติหรือไม่”

ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ นักเรียนเลว

เฟซบุ๊ก นักเรียนเลว ระบุต่อไปว่า ปัญหาการใช้ความรุนแรงในสถานศึกษา ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากระบอบอำนาจนิยมที่ฝังรากลึกอยู่ในระบบการศึกษาไทย เพราะการศึกษาไทยสอนให้เด็กต้อง ‘เชื่อฟัง’ ผู้ใหญ่ หมายความว่าเด็กต้อง ‘เชื่อ’ และต้อง ‘ฟัง’ การคิดหรือการกระทำที่ต่างไปจากนั้นจะถือเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้ ทัศนคติเหล่านี้ที่ถูกปลูกฝังจากกรุ่นสู่รุ่น ทำให้คุณครูส่วนใหญ่ยังแสดงพฤติกรรมใช้อำนาจกับนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรงต่อร่างกายหรือการใช้วาจาทำร้ายจิตใจ โดยที่นักเรียนไม่กล้าที่จะขัดขืนหรือต่อต้านการกระทำเหล่านั้นของครู ซึ่งแสดงให้เห็นว่าระบอบอำนาจนิยมในรั้วโรงเรียนไทยไม่เคยหมดไปเสียที

“พฤติกรรมการใช้ความรุนแรงของคุณครูในการลงโทษนักเรียนนั้นไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงระบอบอำนาจนิยมในระบบการศึกษาไทย แต่ยังเป็นการแสดงตัวอย่างแก่นักเรียนคนอื่นว่าการใช้ความรุนแรงนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ถึงแม้คุณครูหลายท่านจะเชื่อว่าการลงโทษนักเรียนด้วยการตีนั้นจะเป็นทางออกของปัญหาที่ดีที่สุด เพราะเด็กจะกลัวการทำผิดและไม่ทำซ้ำ แต่ในความเป็นจริงแล้วการลงโทษด้วยความรุนแรงนั้น จะไม่ทำให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจ มีแต่จะทำให้เกิดความหวาดกลัว และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดสิทธิทางร่างกาย ซึ่งมีแต่จะทิ้งบาดแผลในใจให้แก่เด็กนักเรียน”

กลุ่ม นักเรียนเลว มองว่า การลงโทษเหล่านี้ถูกยกย่องว่าเป็นความหวังดีของครูที่มีต่อศิษย์ แต่ความหวังดีไม่ควรถูกนำมาเป็นข้ออ้างของการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะการลงโทษด้วยความรุนแรงไม่ได้เป็นทางออกของการปรับพฤติกรรมนักเรียน ซึ่งหลายครั้งการลงโทษก็ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับนักเรียนที่ทำผิดตามบรรทัดฐานของสังคม แต่เป็นนักเรียนที่แค่ทำผิดตามบรรทัดฐานของครูเท่านั้น จะดีกว่าไหมหากนักเรียนและครูสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังซึ่งกันและกันได้ คงเป็นเรื่องที่น่ายินดีไม่น้อยหากปัญหาสามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องใช้อำนาจและความรุนแรง

ทั้งนี้กลุ่ม นักเรียนเลว เชื่อว่าเรื่องนี้จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วย ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้เรียน โดยกฎหมายนี้จะช่วยยุติความเชื่อที่ทำให้ความรุนแรงในสถานศึกษากลายเป็นเรื่องธรรมดา ยุติการใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา มีการเปิดพื้นที่รับฟังกัน เพื่อรื้อระบอบอำนาจนิยม สร้างสังคมโรงเรียนใหม่ต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม