สมรภูมิเลือกตั้งซ่อม กับภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลง

‘ยุทธพร’ วิเคราะห์พรรคการเมืองขับเคี่ยวสนามเลือกตั้งซ่อม เหตุใกล้เลือกตั้งทั่วไป หวังประเมินคะแนนนิยมทางการเมือง มองพรรคเจ้าถิ่นอาจไม่สามารถรั้งตำแหน่งได้ เพราะโครงสร้างสังคมที่เปลี่ยนไป และการปักธงใหม่ของพรรคอื่น

บรรยากาศสนามเลือกตั้งซ่อมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 9 หลักสี่ – จตุจักร ที่เป็นไปอย่างคึกคัก อย่างที่ไม่เคยเห็นมานานในสนามเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เราได้เห็นผู้ลงสมัครที่น่าสนใจ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขววาง และการสนับสนุนที่แข็งขันของแต่ละพรรคการเมือง อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ทุกพรรคลงทุนลงแรง กับการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ ทั้งที่ยังเหลือเวลาในสภาอีกเพียง 1 ปีกว่า ๆ เท่านั้น The Active ชวนวิเคราะห์เรื่องนี้ไปกับ รศ.ยุทธพร อิสรชัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

“การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้จะสะท้อนการเมืองภาพใหญ่ได้ในระดับหนึ่ง และสามารถวัดความนิยมในกรุงเทพมหานครได้ด้วย”

รศ.ยุทธพร กล่าวถึงเหตุผลที่การเลือกตั้งซ่อมช่วงนี้ ทั้งสนามเลือกตั้งใน กทม. และการเลือกตั้งซ่อมในภาคใต้ ทั้งในจังหวัดชุมพร เขต 1 แทนนายชุมพล จุลใส จากพรรคประชาธิปัตย์ และจังหวัดสงขลา เขต 6 แทนนายถาวร เสนเนียม พรรคประชาธิปัตย์ มีความคึกคักและเห็นถึงการให้ความสำคัญของพรรคการเมืองทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก ด้วยเพราะหากเรานับตามไทม์ไลน์การเลือกตั้งทั่วไป ที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 ถือเป็นช่วงที่ใกล้เคียงกันอย่างมาก ที่สามารถสะท้อนความนิยมของพรรคการเมืองได้ในระดับหนึ่ง

นอกเหนือจากนั้น ยังมีปัจจัยในเชิงพื้นที่ซึ่งน่าจับตามองอย่าง กทม. ที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งเป็นพื้นที่ที่หลายพรรคการเมืองเตรียมส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ด้วย ย่อมไม่สามารถปล่อยผ่านไปได้ เพราะการตัดสินใจของคนในกรุงเทพฯ มีผลต่อการกำหนดตัวผู้สมัคร และนโยบายที่อาจใช้ในการหาเสียงทั้งสิ้น

แต่ในขณะเดียวกันการเลือกตั้งซ่อมแค่ในบางพื้นที่ คงไม่อาจสะท้อนการเมืองระดับชาติได้ทั้งหมด ว่ามุมมองที่ประชาชนมีต่อฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้านเป็นอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถมองได้อย่างชัดเจน คือ ประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐบาล ทั้งเรื่องการบริหารจัดการโรคระบาด การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เพราะสิ่งนี้ยังนำไปสู่ความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาลด้วย

“ตอนนี้ภาคใต้กลายเป็นพื้นที่ทางการเมืองใหม่แล้ว แม้เจ้าถิ่นจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ที่ครองพื้นที่มานาน แต่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาสะท้อนว่าไม่อาจรักษาเก้าอี้เอาไว้ได้”

รศ.ยุทธพร มองว่า พื้นที่ภาคใต้ที่หลายคนอาจมองว่าเป็นพื้นที่เกรด A ของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าการเลือกตั้งซ่อมจะชนะเสมอไป เพราะการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 พรรคใหม่อย่างพลังประชารัฐ ก็เจาะไปได้หลายที่นั่ง และยังมีการเข้าไปของพรรคภูมิใจไทยในหลายหัวเมือง อีกทั้งยังมีการสร้างเครือข่ายกับภาคประชาชนอย่าง เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ที่ทำกิจกรรมร่วมกับพรรคไทยสร้างไทย ทั้งหมดนี้ล้วนเป็น ‘ภูมิทัศน์’ ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปของภาคใต้

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ การเลือกตั้งซ่อมจังหวัดนครศรีธรรมราช แม้จะเป็นพื้นที่ดั้งเดิมของประชาธิปัตย์ และได้แรงสนับสนุนในตัวบบุคคลอย่าง เทพไท เสนพงศ์ ก็ยังพ่ายให้กับพรรคพลังประชารัฐ และหากเจาะลงไปในพื้นที่ของการเลือกตั้งซ่อมในภาคใต้ของจังหวัดชุมพร และจังหวัดสงขลา จะเห็นว่าพรรคที่อาจจะชิงชัยกันอย่างสูสี ก็เป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองทั้งสิ้น ทุกพรรคการเมืองมีหน้าที่ต้องต่อสู้ให้ได้มาซึ่งชัยชนะ รวมถึงพรรคฝ่ายค้านด้วยเช่นกัน

ด้วยปัจจัยทางการเมืองที่เกิดขึ้น จึงทำให้สนามการเลือกตั้งซ่อมนอกจากจะเป็นสนามแห่งศักดิ์ศรีแล้ว ยังเป็นสนามที่ทุกพรรคการเมืองอยากครองพื้นที่ และหยั่งเสียงความนิยมของพรรคตนเอง ก่อนถึงการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า ต่อจากนี้คงต้องจับตา ว่าพรรคเดิมจะสามารถปรับแผนเพื่อครองตำแหน่งไว้ได้หรือไม่ หากกระแสของพรรคตกต่ำลง จะมีอะไรมาฉุดดึงคะแนนความนิยมขึ้นมา ด้วยนโยบาย หรือตัวบบุคคล เป็นสิ่งที่คนในพื้นที่เท่านั้นจะเป็นผู้ตัดสินใจ

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้