ค้านร่าง พ.ร.บ.เอ็นจีโอ ตั้งข้อสังเกต คุมการเคลื่อนไหวภาคประชาชน

ขอบคุณภาพจากเพจ P-Move ยื่นหนังสือถึงนายกฯ วันที่ 27 ธ.ค.64

การประชุม ครม.นัดสุดท้ายของปี 2564 วันนี้ (28 ธ.ค.2564) ถูกจับตา ว่าจะมีการพิจารณาร่างกฎหมายการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร หลังจากที่เมื่อวานนี้ P-MOVE /สลัมสี่ภาค /และเครือข่ายภาคประชาชน 19 องค์กร รวมตัวกันยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี คัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยตั้งข้อสังเกตว่า มีเนื้อหาขัดต่อหลักนิติธรรมและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งเพิ่มภาระและจำกัดสิทธิเสรีภาพเกินสมควร พร้อมขอให้ทบทวน

ร่าง พ.ร.บ.องค์การไม่แสวงหากำไร ของคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นฉบับที่ปรับปรุงมาจาก พ.ร.บ.ส่งเสริมความเข้มแข็งองค์กรภาคประชาสังคม ของ พม. ซึ่งเดิมมีเนื้อหาส่งเสริมการทำงานขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร แต่ฉบับล่าสุดที่ออกมาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมา และมีข่าวว่า เตรียมนำเสนอเข้า ครม.ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีเนื้อควบคุมการทำงานของภาคประชาสังคม เช่น

1-องค์กรไม่แสวงหากำไร จำเป็นต้อง จดแจ้งการเป็นองค์กร กับ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

2-เปิดเผยที่มาและจำนวนเงินต่อสาธารณะ โดยองค์กรที่รับเงินทุนต่างประเทศ จะต้องแจ้งตั้งแต่ต้นว่าจะนำเงินทุนไปทำกิจกรรมอะไรบ้าง และต้องไม่เข้าข่าย “กระทบความมั่นคงของรัฐ เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสงบ ” มิเช่นนั้นจะถูกเรียกสอบ สั่งปรับ โดยจะต้องรับโทษทั้งองค์กร ตัวผู้ดำเนินงาน และกรรมการ


จึงเป็นที่มาให้ องค์กรภาคประชาสังคม ออกหนังสือคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ….. ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอให้ทบทวนร่างกฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธุ์ที่ผ่านมา จนมาถึงเมื่อวานนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่ออกมาคัดค้าน โดยเครือข่ายเห็นว่าเป็นการกระทำที่ ขัดกับหลักรัฐธรรมนูญที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมตามมาตรา 77 และขัดหลักเสรีภาพการรวมกลุ่ม โดยเครือข่ายภาคประชาชนย้ำว่าสิ่งที่ควรตรวจสอบมากกว่าองค์กรแสวงหาผลกำไร คือ ภาครัฐ

“ถ้ากฎหมายที่ผ่านแสดงว่า รัฐ มีเครื่องมือ อาวุธที่ชัดเจนที่จะลงดาบกับองค์กรเห็นต่าง และเล่นงานองค์กรที่กำลังตรวจสอบรัฐ…

ถ้าดูระยะเวลานี้ช่วงที่ นายกรัฐมนตรี สั่งให้ กฤษฎีกา ร่างกฎหมาย เป็นช่วงเดียวกับที่เราเห็นการเคลื่อนไหวภาคประชาชนหลายกลุ่มทั้ง Saveบางกลอย และ iLAW ทำให้ตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลยว่า รัฐพยายามจะออกกฎหมายควบคุมการเคลื่อนไหวองค์กรภาคประชาชนที่เห็นต่าง หรือตรวจสอบอำนาจรัฐ

มันจึงดูเหมือนกลับหัว กลับหาง ทั้งที่ความจริงแล้ว ภาคประชาชนควรตรวจสอบภาครัฐ และองค์กรที่แสวงหาผลกำไร”

สุนทรีย์ หัตถี เซ่งกิ่ง เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ กป.อพช.

สุนทรีย์ หัตถี เซ่งกิ่ง เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ กป.อพช. ย้ำว่า ตลอดการทำงานที่ผ่านมา ขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร มีการตรวจสอบเอกสารต่างๆ อยู่แล้ว โดยเห็นว่า ท่าทีรัฐเวลานี้ ค่อนข้างชัดเจนว่า ไม่ได้มองว่า ภาคประชาสังคมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน