ไทยพีบีเอสรวมพลังภาคีเครือข่าย สร้าง SAVE ZONE ในโรงเรียน เตรียมพร้อมก่อนภาคเหนือเข้าสู่ฤดูฝุ่น พบบางโรงเรียนมีข้อจำกัด ขาดการสนับสนุนต้องขอรับบริจาค
เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2564 ไทยพีบีเอสและภาคีรวมพลังสู้ฝุ่น จัดกิจกรรมส่งมอบ “ห้องเรียนปลอดฝุ่น” (SAVE ZONE) ให้กับโรงเรียนบ้านก้อจัดสรร อ.ลี้ จ.ลำพูน เป็นจำนวน 2 ห้องเรียน เพื่อใช้เป็นพื้นที่สร้างอากาศสะอาดให้กับเด็กนักเรียนในวันที่ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งเกิดขึ้นรุนแรงและยาวนานในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. ของทุกปี
นางไขแสง ศักดา ผู้จัดการมูลนิธิไทยพีบีเอส กล่าวว่า กิจกรรมนี้เกิดขึ้นหลังไทยพีบีเอส ได้สื่อสารประเด็นฝุ่นควันภาคเหนือมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2563 ซึ่งผลการวิจัยพบว่า มีเด็กจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 แต่ยังขาดอุปกรณ์ในการป้องกันตัวเอง เพื่อเป็นการลดผลกระทบที่กำลังจะมาถึง ไทยพีบีเอส และภาคีเครือข่าย อาทิ ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านภูมิแพ้ โรคหืดและโรคระบบหายใจ (Center of Excellence for Allergy, Asthma and Pulmonary Diseases : TU-CAAP) โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และหน่วยงานในพื้นที่ จึงจัดกิจกรรม “ไทยพีบีเอสรวมพลังภาคีสู้ฝุ่น ครั้งที่ 1” ณ อ.ลี้ จ.ลําพูน ในวันที่ 10 -11 ธ.ค. 2564 ส่งมอบห้องเรียนปลอดฝุ่น พร้อมจัดเวทีสาธารณะเพื่อสร้างความตื่นตัว ตระหนักรู้ในเรื่องปัญหามลพิษในอากาศ
ผศ.พฤกษ์ อักกะรังสี สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หน่วยงานที่พัฒนาห้อง SAVE ZONE กล่าวถึงหลักการทำงานว่า การติดตั้งเครื่องเติมอากาศ จะต้องผนึกรอยรั่วรอบห้อง เช่น หน้าต่าง เพื่อป้องกัน ไม่ให้ PM 2.5 หลุดรอดเข้ามาได้ จากนั้นเครื่องจะบริหารจัดการลมภายใน เติมอากาศที่สะอาดเข้าไปแทน โดยใช้พื้นที่ห้องเรียนขนาด 25 ตารางเมตร ต่อ 1 เครื่องจะอยู่ที่ราคา 1-2 หมื่นบาท ใช้พลังงานเท่ากับพัดลม 1 เครื่อง เหมาะกับโรงเรียนที่กระแสไฟฟ้าขาดกำลังแรง หรือมีงบประมาณจำกัด ใช้เป็นพื้นที่ในการหลบภัยเมื่อคุณภาพอากาศอยู่ในระดับอันตราย
ที่ผ่านมาเราทดลองใช้กับหอพักนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงพยาบาลต่างๆ พบว่าในช่วงที่ค่าฝุ่นเกิน 100 เมื่อเดินเครื่องสามารถดึงให้คุณภาพอากาศลงมาอยู่ที่ 40-60 ได้ เมื่อเทียบกับราคาต่อหน่วยแล้วถือว่าไม่มาก จึงอยากชวนทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอากาศที่ปลอดภัยให้กับเด็กๆ
ด้านนายจีรพงษ์ สนิท ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านก้อจัดสรร กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันมอบห้องเรียนปลอดฝุ่นให้กับทางโรงเรียน จำนวน 2 ห้อง แต่ยอมรับว่ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากที่นี่มีนักเรียน 249 คน หากเกิดเหตุฉุกเฉินคงไม่สามารถพานักเรียนเข้าไปหลบได้ทั้งหมด จะเน้นไว้ให้กับกลุ่มเสี่ยงสูงคือชั้นอนุบาล ที่ต้องถอดหน้ากากอนามัยนอนในช่วงบ่าย โดยที่ผ่านมาทางโรงเรียนได้รับการบริจาคเครื่องฟอกอากาศแบบประดิษฐ์ ห้องละ 1-2 เครื่อง ไว้ใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าในยามฉุกเฉิน ซึ่งเดือน ก.พ.- เม.ย. 2564 เครื่องวัดคุณภาพอากาศ-ของโรงเรียน วัดค่าฝุ่น PM 2.5 ได้สูงถึง 400 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ต่อเนื่องกว่า 1 สัปดาห์
เราจะสังเกตได้เลยในวันที่ค่าอากาศแย่มากๆ เด็กๆ จะมีเลือดปนมากับน้ำมูก เราทำได้แค่งดกิจกรรมกลางแจ้ง เปิดเครื่องฟอกอากาศ สวมหน้ากากอนามัย ซึ่งสถานการณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้นจนอยู่ในระดับปลอดภัย แต่ปีนี้เราดีใจมากที่มีห้องเรียนปลอดฝุ่น และอุปกรณ์ในการป้องกันเบื้องต้นจากภาคประชาสังคม ในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กๆ
สำหรับสถานการณ์ฝุ่นควันในพื้นที่ อ.ลี้ จ.ลำพูน พบมีค่าเฉลี่ย PM 2.5 สูงในช่วงเดือน ก.พ.- เม.ย. ของทุกปี พบจุดที่มีค่าความร้อนมากผิดปกติกว่า 1,200 จุด ค่ามลพิษเคยพุ่งสูงสุดแตะระดับ 400 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร นานกว่า 1 สัปดาห์ สาเหตุสำคัญมาจากการเผาเพื่อทำการเกษตร ลุกลามจากการก่อไฟเมื่อเข้าไปเก็บของป่า และการเผาในชีวิตประจำวัน ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานท้องถิ่นได้ร่วมกันทำงานเชิงรุก เช่น กฎหมายห้ามเผา 60 วัน ปิดป่า กิจกรรมจับเข่าคุยทำความเข้าใจกับผู้ที่เข้าไปหาของป่า ส่งเสริมอาชีพ หาแหล่งน้ำเพื่อทำการเกษตร และการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ตั้งแต่ระดับเยาวชน ช่วยให้จุดค่าความร้อนลดลงเหลือ 800 จุดในปีที่ผ่านมา
โดยประเด็นปัญหาเหล่านี้จะถูกนำไปสะท้อนในเวทีสาธารณะ “ปลอดฝุ่น ปลอดภัย ในสถานศึกษา” ร่วมกับอีกหลายๆ ภาคส่วน เพื่อหาทางรับมือและขับเคลื่อนเชิงนโยบาย พร้อมบริการตรวจสุขภาพเชิงลึก ทดสอบสมรรถภาพปอด ทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง ให้กับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่อําเภอลี้ ทั้งเด็ก เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดับไฟป่า และประชาชนทั่วไปที่มีความเสี่ยง จํานวน 1,000 คน ณ โรงเรียนเวียงเจดีย์วิทยา อ.ลี้ จ.ลําพูน ในวันที่ 11 ธ.ค. 2564 ตั้งแต่เวลา 06.30 น เป็นต้นไป หรือสามารถรับชมบรรยากาศเวทีสาธารณะ ตั้งแต่เวลา 10.00-12.00 น. ผ่านเพจ The Active