ไทยพบ “โอมิครอน” จากผู้เดินทางรายเดียว ผู้สัมผัส 17 คน ตรวจแล้วไม่พบเชื้อ

ผอ.กองระบาดวิทยา ย้ำ ไทยยังพบผู้ติดเชื้อโควิด “โอมิครอน” เพียง 1 คน ส่วนพนักงานโรงแรมที่สัมผัสใกล้ชิด ผลตรวจล่าสุดไม่พบเชื้อ เผย สายพันธุ์โอมิครอนแพร่เร็ว อาการไม่รุนแรง คล้ายไข้หวัดใหญ่ อาจเป็นสัญญาณดีเข้าสู่โรคประจำถิ่นได้เร็วขึ้น แต่ต้องฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม

วันนี้ (7 ธ.ค.​ 2564) จากกรณี สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อช่วงเช้าว่า จากการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 17 คน จากกรณีชายที่เดินทางเข้าประเทศไทยและพบการติดเชื้อโอมิครอนรายแรกในไทย ผลตรวจ 16 คนผลเป็นลบ และมีผลบวก 1 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่โรงแรม ที่ส่งอาหารให้นักท่องเที่ยวชาวสหรัฐฯ คนดังกล่าวนั้น

ล่าสุด ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการสอบสวนผู้สัมผัสใกล้ชิดรายนี้ พบว่า มีผู้สัมผัสในครอบครัว 5 คน ที่เดินทางร่วมกันด้วยรถยนต์ส่วนตัว ไปจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งตามปกติจะไม่มีการติดตาม แต่เนื่องจากผลตรวจครั้งแรกสงสัยว่าจะติดเชื้อ จึงมีการติดตามต่อเนื่อง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการคุมไว้สังเกตอาการทั้งหมด

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ 

ส่วนผู้สัมผัสนักธุรกิจสัญชาติอเมริกันคนนี้ บนเครื่องบินไม่พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เนื่องจากไม่มีผู้โดยสารคนอื่นนั่งติดกับผู้ติดเชื้อ ส่วนพนักงานสนามบินมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด 2 คน และผลตรวจเป็นลบ 

ส่วนโรงแรมที่เข้าพักมีผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 17 คน ตรวจหาเชื้อเป็นลบ 16 คน ส่วนอีกคนเป็นชายไทยอายุ 44 ปี พนักงานเสิร์ฟอาหารในโรงแรม มีประวัติวันที่ 1 ธันวาคม นำอาหารไปเสิร์ฟให้ชายคนนี้ และนำเอกสารไปให้เซ็น พบเจอกันเพียง 5-10 นาที มีการสวมหน้ากากตลอดเวลาทั้ง 2 ฝ่าย ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำมาก โดยรายนี้ได้เดินทางไป จ.อุบลราชธานี ทีมสอบสวนโรคที่ จ.อุบลราชธานี จึงได้ติดตามมาตรวจที่สถาบันบำราศนราดูร โดยวันที่ 6 ธันวาคม ผลสงสัยว่าจะติดเชื้อ (Inconclusive) เนื่องจากต้องตรวจหาเชื้อถึง 37 รอบ ทั้ง 2 ยีน แสดงว่าเชื้อมีปริมาณน้อยมาก อาจจะเป็นซากเชื้อ 

“รายนี้ไม่เคยมีประวัติติดเชื้อมาก่อน จึงมีการตรวจซ้ำวันนี้ล่าสุดให้ผลเป็นลบ สรุปว่าไม่มี การติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม จะยังติดตามผู้สัมผัสทั้ง 19 คน และตรวจซ้ำอีกครั้งก่อนครบการเฝ้าระวัง 14 วัน”

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สายพันธุ์โอมิครอนถือว่าแพร่เชื้อเร็วกว่าสายพันธุ์ที่ผ่านมา 2-5 เท่า ส่วนใหญ่อาการเล็กน้อย อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่าจะเข้าสู่โรคประจำถิ่นได้เร็วขึ้น อาจเป็นตัวช่วยให้การเปิดประเทศประสบความสำเร็จมากขึ้นและเข้าสู่ New Normal เร็วขึ้น แต่ยังต้องดำเนินมาตรการ VUCA ควบคู่ด้วย คือ การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม ซึ่งวัคซีนทุกวันนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ป้องกันอาการป่วยหนักและเสียชีวิต เข้มมาตรการป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา โดยเฉพาะคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศ ต้องเข้มมาตรการด้วยโดยเฉพาะการสวมหน้ากาก และเว้นระยะห่าง เพื่อป้องกันการนำเชื้อกลับเข้าประเทศ กิจการใช้มาตรการ COVID Free Setting และการตรวจ ATK เมื่อมีความเสี่ยง ซึ่งต้องปฏิบัติจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ระยะโรคประจำถิ่น เนื่องจากถ้าไม่เข้มงวด โอกาสการแพร่เชื้อจะเร็วขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS