‘TIJ’ เปิดสถิตินักโทษคดียาเสพติดเพิ่มขึ้น 131% ใน 10 ปี เปลืองงบฯ ต่อปีกว่าหมื่นล้าน สะท้อนประสิทธิภาพการแก้ปัญหา ‘ป.ป.ส.’ ย้ำ กฎหมายใหม่ สร้างเอกภาพ เชื่อมการทำงานทุกหน่วย ‘นักกฎหมาย’ ตั้งคำถาม เปลี่ยนกฎหมายใหม่ ลดผู้กระทำผิด หรือลดนักโทษ ?
วันนี้ (2 ธ.ค. 2564) ศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ : ประชาชนได้อะไร คดียาเสพติดจะลดลงหรือไม่ ?” หลังจากราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฏหมายเกี่ยวกับกับคดียาเสพติด จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ที่จะมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปในวันที่ 9 ธ.ค. และ 8 ธ.ค. 2564 นี้ตามลำดับ
อุกฤษฏ์ ศรพรหม ผู้จัดการโครงการส่งเสริมหลักนิติธรรม สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวว่า ที่ผ่านมานโยบายการแก้ปัญหายาเสพติดของไทยน่าจะมีปัญหา จากสถิติทุกอย่างสะท้อนว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง และยังทำให้มีจำนวนคดียาเสพติดเพิ่มขึ้น สิ่งที่ตามมา คือ ภาระด้านงบประมาณ และต้นทุนทางกระบวนการยุติธรรมที่สูงขึ้น การบังคับใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดในครั้งนี้ อาจมีส่วนช่วยในกระบวนการจัดการผู้กระทำความผิดทางด้านนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้
ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1 ธ.ค. 2564 พบว่ามีจำนวนผู้ต้องขังคดียาเสพติดมากถึง 231,362 ราย คิดเป็น 81.86% ของผู้ต้องขังทั้งประเทศ ในจำนวนนั้นเป็นนักโทษเด็ดขาด 187,462 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลในเดือน ส.ค. 2551 พบว่าในขณะนั้นมีผู้ต้องขังคดียาเสพติด 100,015 ราย คิดเป็น 54.94% ของผู้ต้องขังทั้งประเทศ ในจำนวนนั้นมีนักโทษเด็ดขาดเพียง 72,963 ราย ซึ่งจะเห็นได้ว่าผ่านมา 10 ปี มีนักโทษคดียาเสพติด เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว หรือ เพิ่มขึ้นมากถึง 131% ในช่วงเวลาดังกล่าว
อุกฤษฏ์ กล่าวว่า สิ่งที่ตามมา คือ ต้นทุนในการดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำที่มีจำนวนมาก โดยงบประมาณของกรมราชทัณฑ์ ที่ใช้ในการดูแลผู้ต้องขังในปี 2564 อยู่ที่ 14,196 ล้านบาท ในขณะที่เมื่อเทียบกับงบประมาณของ ป.ป.ส. ในปี 2564 อยู่ที่ 3,128 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนการจัดสรรงบประมาณที่ไม่เหมาะสม เพราะ ควรให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปราม ซึ่งเป็น ‘ต้นน้ำ’ ของกระบวนการแก้ปัญหา มากกว่านำงบประมาณไปลงทุนกับ ‘ปลายน้ำ’ เมื่อมีผู้กระทำความผิดมากขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนั้น อุกฤษฏ์ ยังยกข้อมูลจาก UNODC World Drug Report 2021 พบประเทศไทย ติดอันดับ 2 ของโลก ที่พบการจับกุมปริมาณยาเมทแอมเฟตามีน หรือ ยาบ้า มากที่สุดในโลก รองจากประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น สถิติทั้งหมดสะท้อนว่าประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของไทยมีปัญหา การเน้นปริมาณการจับกุมและปริมาณสารเสพติด ไม่ได้หมายความว่าแก้ปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การมีผู้ต้องขังจำนวนมาก นำมาซึ่งปัญหาหลายอย่างที่รัฐบาลต้องแบกรับไว้
ข้อเสนอจากสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ที่มีการนำเสนอผ่านการยกร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับนี้ ประเด็นสำคัญ คือ การแยกกลุ่มผู้กระทำความผิด ตามลักษณะการกระทำความผิดจที่ต่างกันได้ การมีบทสันนิษฐานเด็ดขาด จะทำให้คนที่ไม่จำเป็นต้องถูกลงโทษด้วยกระบวนการนั้น ไปอยู่รวมกันทั้งหมด และควรมีมุมมองต่อผู้กระทำความผิดในแต่ละลักษณะต่างกัน คือ ผู้ผลิต และผู้ค้า คือ อาชญากร แต่ผู้เสพ ให้ถือเป็นผู้ป่วย
สิ่งสำคัญที่สุด คือ เน้นกระบวนการบำบัดฟื้นฟู ให้ความสำคัญด้านสุขภาพและสาธารณสุข มากกว่าการดำเนินคดีในทางอาญา และต้องมีระบบสมัครใจบำบัด คำนึงถึงการกลับคืนสู่สังคมของผู้กระทำความผิดด้วย ท้ายที่สุด คือ การตั้งตัวชี้วัดให้ถูกต้อง และเหมาะสม ไม่ควรใช้จำนวนคดี หรือปริมาณสารเสพติดมาเป็นตัวชี้วัด เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่สามารถประเมินประสิทธิภาพได้จริง ควรชี้วัดด้วยการไม่กระทำผิดซ้ำ หรือการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบำบัดฟื้นฟู ตลอดความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมกระบวนการ ที่จะสะท้อนประสิทธิภาพที่แท้จริงได้ดียิ่งขึ้น
มานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. กล่าวว่ากรอบสำคัญของประมวลกฎหมายยาเสพติดนั้น คือ ต้องการจัดโครงสร้าง และกลไกในการบริหารจัดการปัญหายาเสพติดทั่วประเทศ ให้มีความเป็นเอกภาพมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมากมายหลายฉบับ ครั้งนี้จึงมีความคิดว่าต้องสร้างความเชื่อมโยง เพื่อให้การทำงานของแต่ละหน่วยงานสอดคล้องกัน เช่น การดูแลตัวยา ดูแลบุคลากร การจัดการทรัพย์สินของผู้กระทำผิด หรือการปราบปรามเครือข่ายยาเสพติด เป็นต้น
นอกจากนั้นประมวลกฎหมายฉบับนี้ ยังเน้นมองปัญหาของผู้เสพ หรือผู้ติดยาเสพติด ให้เป็นปัญหาด้านสุขภาพ ไม่มองในรูปแบบของอาชญากรรมอีกต่อไป เพื่อให้คนเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการให้ความช่วยเหลือ และสงเคราะห์การบำบัดฟื้นฟูให้หายดี และกลับคืนสู่สังคม และยังครอบคลุมถึงประเด็นการนำตัวยาเสพติดไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ และเชิงเศรษฐกิจอีกด้วย
มานะ กล่าวว่า ประเด็นที่มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน คือ การปรับบทลงโทษให้เหมาะสม และได้สัดส่วนกับความร้ายแรงของการกระทำความผิดนั้น โดยที่ไม่มีโทษขั้นต่ำของความผิด เว้นแต่จะกระทำเพื่อการค้า โดยหัวหน้า หรือผู้สั่งการเท่านั้น อีกทั้ง ยังมีการยกเลิกบทสันนิษฐาน ‘การมีไว้ครอบครอง’ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ‘กระทำเพื่อจำหน่าย’ และเพิ่มบทสันนิษฐาน ‘ครอบครองเพื่อเสพ’
สำหรับการแก้ปัญหาจับผู้กระทำผิดรายเล็กรายน้อย มากกว่าผู้บงการใหญ่นั้น มานะ กล่าวว่าประมวลกฎหมายฉบับนี้ปรับระบบการลงโทษที่เน้นไปที่การปราบปราบองค์กรที่กระทำความผิดร้ายแรง และมีมาตรการปราบปรามเครือข่ายการค้ายาเสพติดมากขึ้น เช่น การริบทรัพย์ทดแทน หรือการริบทรัพย์ตามมูลค่า โดยพิจารณาจากมูลค่าที่จะได้รับจริงจากยาเสพติด แม้จะมีการแปลงเปลี่ยนทรัพย์สินไปเพียงใดก็ตาม
ศ.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการยกเลิกบทสันนิษฐาน การครอบครองไว้เพื่อจำหน่าย เป็นการสันนิษฐานว่าครอบครองเพื่อเสพ แต่มีข้อสังเกตว่าจะทำอย่างไรให้ข้อมูลของกลุ่มเหล่านี้เป็นความลับ ไม่เปิดเผย แล้วเข้าสู่กระบวนการบำบัดอย่างสมัครใจ เพราะกลุ่มความผิดนี้ถูกดำเนินคดีมากที่สุด
ศ.สุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จน้อยมาก ในการจับผู้ค้ารายใหญ่ มีเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ค้ารายย่อย และผู้เสพยาเสพติด สิ่งที่ตั้งข้อสังเกตคือ เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องแยกแยะลักษณะการกระทำความผิด และไม่ควรเหมารวมผู้กระทำความผิดเข้าด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น หากมีการจับกุมในสถานที่หนึ่ง แล้วมีคนอยู่ในที่เกิดเหตุหลายคน ไม่ควรจับทั้งหมด เพราะหลายกรณี เราพบว่าเขาไม่มีส่วนรู้เห็นต่อการกระทำความผิดเลย แต่ติดร่างแหไปด้วย เจ้าหน้าที่ต้องระมัดะวังในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
คาดการณ์ว่าหลังวันที่ 5 ธันวาคม นี้ และเมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับสถิติของผู้ต้องขังจะลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากจะเห็นว่าฐานความผิดต่างๆ มีบทลงโทษที่เบาลงกว่าเดิม เช่น ความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ที่ใน พ.ร.บ.ยาเสพติด 2522 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 3 ปี แต่ในประมวลกฎหมายยาเสพติด ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี เมื่อกฎหมายใหม่ที่ออกมา ‘เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด’ ให้ใช้กฎหมายที่ใหม่กว่า
ศ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อกฎหมายกำหนดบทลงโทษที่เบาลงแล้ว จะสำรวจ และดำเนินการอย่างไรให้เป็นจริงได้ในทุกกรณี โดยต้องบูรณาการทำงานร่วมกัน โดยกระทรวงยุติธรรมอาจเป็นเจ้าภาพหลัก สั่งการให้กรมราชทัณฑ์ สำรวจการกระทำความผิดใดที่เข้าข่าย ได้รับโทษที่น้อยลง เพื่อให้จำเลลยได้รับประโยชน์ โดยยื่นขอให้มีการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา กำหนดโทษใหม่ ทั้งการลดโทษ และการเปลี่ยนโทษประหารชีวิต มาเป็นจำคุกตลอดชีวิตด้วย
คำถามสำคัญที่ ศ.สุรศักดิ์ ตั้งไว้คือ การเปลี่ยนกฎหมายใหม่นี้ ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะลดจำนวน ‘ผู้กระทำความผิด’ หรือต้องการลดจำนวน ‘ผู้ต้องขัง’ ในเรือนจำ เพราะแต่ละเป้าหมายย่อมมีวิธีการและเครื่องมือแตกต่างกัน แม้การมีผู้ต้องขังในเรือนจำจะเพิ่มต้นทุนในกระบวนการยุติธรรมที่สูงขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อผู้ต้องขังลดลงไป การกระทำความผิดจะลดลงตามไปด้วย ภาระที่เพิ่มขึ้นของเจ้าหน้าที่ คือ ต้องหาข้อมูลผู้กระทำความผิดอย่างชัดเจน เน้นเปลี่ยนโทษจำคุก มาเป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัย หรือการคุมประพฤติตามความเหมาะสม