โลกออนไลน์เรียกร้อง แก้ไขกฎหมายให้เยาวชนแจ้งความผู้ปกครองได้

ชี้ กรณีพ่อทุ่มลูกตกเก้าอี้เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ ด้านมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลระบุ ปัจจุบันเด็กตั้งใจเป็นทนายความเพื่อฟ้องพ่อตัวเองเพิ่มขึ้น สอดคล้อง 2 ปี เยาวชนสังเวยปัญหาความรุนแรงในครอบครัว 25 คน

จากกรณีสื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่คลิปพ่อทำร้ายลูก เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2564 เผยให้เห็นชายผู้เป็นพ่อ กำลังต่อว่าลูกสาวอายุ 14 ปี ก่อนใช้มือทุบตี ปาของใส่ และใช้เท้าถีบจนตกจากเก้าอี้ พร้อมยกเก้าอี้ทุ่มซ้ำ ท่ามกลางเสียงกรีดร้องของเด็กหญิง ล่าสุดวันนี้ (30 พ.ย.2564) แม่ของเด็กเดินทางพาลูกเข้าแจ้งความกับตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์

ที่ผ่านมาอดีตสามีมักทำร้ายร่างกายตนเองบ่อยๆ จนทนไม่ไหวจึงขอแยกทาง ก่อนจะพาลูกสาวมาอยู่ที่จังหวัดตราด กระทั่งมีครอบครัวใหม่ ส่วนอดีตสามีก็มีครอบครัวใหม่เช่นกัน และนานๆ ครั้งตัวเองจึงให้ลูกสาวกลับมาอยู่กับอาสาวที่นครสวรรค์ ก่อนที่จะเกิดเหตุทำร้ายร่างกายขึ้น 

แม่เยาวชนที่ถูกทำร้ายร่างกาย

ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นที่สนใจติดอันดับหนึ่งความนิยมในทวิตเตอร์ ร่วมกันติดแฮชแท็ก #พ่อทำร้ายลูก ส่งเสียงสะท้อนไม่ยอมการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ด้านหนึ่งมีความเห็นที่ระบุว่า เป็นปัญหาภายในครอบครัว อาจมีที่มาที่ไปของเรื่องที่ไม่มีใครรู้ ขณะที่อีกด้านระบุว่า ไม่ว่าอย่างไรความรุนแรงในครอบครัวก็ไม่ควรเกิดขึ้น อย่าเห็นความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ และที่ถกเถียงกันมากคือการขอให้ยกเลิกกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.1562 เพื่อให้เยาวชนสามารถฟ้องคดีแพ่ง หรืออาญากับบุพการีได้เอง

เดิมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 ระบุว่า “ผู้ใดจะฟ้องบุพการีตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้  แต่เมื่อบุคคลผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขั้นว่ากล่าวก็ได้” ซึ่งถูกมองว่าขัดกับสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน ที่เยาวชนจำนวนมากถูกทำร้ายจากคนในครอบครัว

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่เข้าถึงข้อมูลมากขึ้นโดยเฉพาะกฎหมายสากล ที่คำนึงในเรื่องของสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ในต่างประเทศผู้ปกครองจะละเมิดมิได้ ขณะที่ประเทศไทยการเลี้ยงดูแบบอนุรักษ์นิยมยังมีอยู่ พ่อแม่มองว่าลูกเป็นสมบัติของตัวเองจะคาดหวังหรือกระทำอย่างไรกับลูกก็ได้ ถือเป็นภัยเงียบที่มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้นเห็นได้จากสถิติจากข่าวปี 2559 และ 2561 มีกรณีพ่อฆ่าลูก รวม 25 เหตุการณ์ ซึ่งสังคมเองก็ไม่ยอมรับเรื่องนี้ และการที่เยาวชนศึกษากฎหมายครอบครัวมากขึ้น ก็เพื่อป้องกันความรุนแรงจากผู้ปกครอง

“สถาบันครอบครัวแบบเก่าเป็นรูปแบบอนุรักษ์นิยม มองเด็กเป็นสมบัติของเรา เมื่อเราไม่เข้าใจสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปก็จะมองว่าเด็กที่ออกมาปกป้องสิทธิเป็นเด็กอกตัญญู มีเด็กหลายคนเข้ามาปรึกษาเรื่องพ่อทำร้ายแม่ว่าจะมีกฎหมายอะไรเอาผิดได้บ้างเพิ่มมากขึ้น หรือบางคนเรียนมาด้านกฎหมายเพื่อเป็นทนายดำเนินคดีพ่อตัวเองให้ยุติการใช้ความรุนแรง สะท้อนว่าถ้ากฎหมายล้าหลัง ใช้ไม่ได้ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกับยุคสมัยมากขึ้น”

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

ขณะที่แนวโน้มการแก้ไขกฎหมาย ประธานมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มองว่า จะต้องให้ประชาชน NGO และหน่วยงานด้านสถาบันครอบครัว เข้ามามีส่วนร่วม โดยยึดสวัสดิภาพเด็กเป็นหลัก และไม่อยากให้มองว่าเยาวชนที่ลุกขึ้นมาดำเนินคดีกับผู้ปกครองเป็นเด็กที่ก้าวร้าว

สำหรับเยาวชนที่ถูกทำร้ายร่างกาย แต่ไม่กล้าแจ้งความอาจจะเริ่มต้นจากการปรึกษาญาติ เพื่อนสนิท หรือถ้ารู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย สามารถแจ้งไปที่มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 0-2412-1196 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำจังหวัด หรือ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล 02 513 2889 โดยผู้พบเห็นการกระทำความรุนแรงในครอบครัวสามารถแจ้งเหตุเพื่อลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน