‘เครือข่ายภาคี TSDF-การศึกษา’ รวมพลังทางสังคม “ปฏิรูปการศึกษาไม่รอรัฐ” เชื่อ การศึกษายุคนี้ความรู้วิชาการไม่ใช่ที่ 1 ต้องสร้างหลักสูตรเพื่อทักษะชีวิต Up skill ผู้สอนให้ทันสมัย เน้นใช้เทคโนโลยีหนุนหลังครู
วันนี้ (21 พ.ย. 2564) เครือข่ายภาคี TSDF-การศึกษา ที่ประกอบด้วยกลุ่มบุคคลและองค์กรเครือข่ายจากภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคชุมชน ภาคธรุกิจ ภาคสื่อมวลชน ฯลฯ เปิดเวที “ความร่วมมือแผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาทางสังคมของประเทศไทย ด้านการศึกษา (Thailand Social Development Forum – Education)” ในงาน “Good Society Summit 2021 : Hope In Crisis ในวิกฤตยังมีหวัง” โดยมี รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา, ธานินทร์ ทิมทอง ผู้ร่วมก่อตั้งและ Chief Social Impact Officer Learn Education, วิเชียร พงศธร คณะทำงานภาคีเครือข่ายงาน Good Society Summit 2021 และ ณาตยา แวววีรคุปต์ ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส เข้าร่วมที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ และภาคีเครือข่ายรวมกว่า 30 องค์กร เข้าร่วมในรูปแบบออนไลน์
“การศึกษาไทยเป็นโจทย์ร่วมของคนไทยทุกคน” คือประเด็นที่ เครือข่ายภาคี TSDF-การศึกษา ให้ความสำคัญ โดยได้เลือกประเด็นที่เกี่ยวข้องชวนทุกภาคส่วนเปิดวงคุยผ่านเวทีเสวนาโต๊ะกลมมาแล้ว 3 ครั้ง คือ การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยการพัฒนาความพร้อมของโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลาง, เด็กหลุดจากระบบการศึกษาและผลกระทบจากโควิด-19 และการพัฒนาทักษะชีวิตและความเป็นพลเมืองดีให้กลุ่มเด็กและเยาวชน
เวทีวันนี้ เป็นการนำข้อสรุปจากเวทีเสวนาโต๊ะกลมทั้ง 3 ครั้ง และข้อเสนอเชิงนโยบายต่อสาธารณะ มาพูดคุยกันต่อถึงภาพอนาคตการศึกษาไทยที่แต่ละคนอยากเห็น เช่น การมีส่วนร่วมข้ามภาคส่วน การปรับปรุงหลักสูตร การจัดสรรอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและอุปกรณ์การเรียนรู้ให้กับโรงเรียนขนาดเล็กอย่างเหมาะสม ปรับรูปแบบการวัดประเมินผลที่ไม่ได้เน้นวิชาการเพียงอย่างเดียว และผลักดันการใช้ฐานข้อมูล Big data ไปยังโรงเรียนทั่วประเทศ เป็นต้น เพื่อให้ได้แผนปฏิบัติการสำหรับขับเคลื่อนต่อของเครือข่ายภาคี และส่งไปถึงหน่วยงานภาครัฐ ในรูปแบบร้อยพลังทางการศึกษา
รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า เป็นโอกาสที่ดีสำหรับการปฏิรูปการศึกษาแบบไม่รอภาครัฐ เนื่องจากที่ผ่านมา การแก้ปัญหาต่าง ๆ ในสังคมไทย มักเป็นแบบต่างคนต่างคิดแล้วแยกกันทำ แต่สำหรับปัญหาด้านการศึกษา จำเป็นต้องมีพลังทางสังคมร่วมกันผลักดัน เพื่อให้เป็นไปในทิศทางที่ทุกคนต้องการ
“ถ้าต่างคนต่างทำ ไม่มีทางที่จะทำให้สังคมเราดีขึ้นมาได้ สำคัญคือเราจะปฏิรูปอะไร ไม่ได้เกิดขึ้นโดยภาครัฐ ความสำเร็จมักเกิดขึ้นจากพลังทางสังคมที่เห็นตรงกัน เช่นเรื่องการศึกษา ต้องมีเด็ก ครู ผู้ปกครองและอื่น ๆ เข้ามามีส่วนร่วม การรวบรวมข้อมูลเราไม่ได้ทำกันมานานแล้ว ความคิดเห็นจากภาคีเครือข่ายส่วนต่าง ๆ เป็นโอกาสที่ดีมากที่จะทำให้การปฏิรูปเกิดขึ้นได้ตามความคาดหวัง”
ตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียจากการศึกษา ประกอบด้วย ศราวุธ สุตะวงค์ ผอ.รร.องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย, นงค์นุช ใจเบิกบาน ตัวแทนครู จาก รร.วัดหนองนา จ.ลพบุรี, กมลวรรณ พงศาพิชญ์ Senior Enterprise Account ManagerTableau Software ในฐานะตัวแทนผู้ปกครอง, โยธิน ทองพะวา ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และ อาทิตยา ปัญญา ผอ.ศูนย์บริหารงานการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะ ได้แก่ การยกตัวอย่างความสำเร็จในการปรับหลักสูตรหลากหลาย รองรับรับความสนใจของผู้เรียนที่มีความแตกต่าง โดยไม่มีการวัดและจัดอันดับคะแนน, ความต้องการของเด็กในโรงเรียนขยายโอกาสในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์เรียนออนไลน์แบบไม่มีค่าใช้จ่ายผูกพัน, ความต้องการของครูในการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ทั้งการจัดการเนื้อหาและการจัดกระบวนการเรียนรู้ และความต้องการเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นคนสำคัญในการยกระดับครู, สร้างหลักสูตรที่เน้นพัฒนาทักษะมากกว่าวิชาการ และการมีส่วนร่วมของครอบครัว รวมถึงการสร้างพื้นที่พูดคุยรับฟังผู้เรียนแบบปลอดภัยในโรงเรียน คือข้อเสนอที่ทุกคนเห็นตรงกันในเวทีนี้
“พ่อแม่ยุคนี้ ไม่สามารถรอให้การศึกษาปรับตัวได้ สถาบันครอบครัวมีความสำคัญมากที่จะช่วยกันดูว่าลูกหลานมีความหลงไหลในเรื่องใดเพื่อหาทางช่วยเสริมทักษะที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความรู้เป็นอันดับ 1 ความคาดหวังมอง 3 เรื่อง คือ อยากให้การศึกษาไทยเน้นทักษะการใช้ชีวิตมากกว่าวิชาการ ไม่สอบแข่งขันจัดลำดับเด็กเก่ง เด็กทุกคนได้รับการพัฒนาตามศักยภาพอย่างถึงที่สุด”
กมลวรรณ พงศาพิชญ์ ตัวแทนผู้ปกครอง กล่าว
ด้าน ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ., โมนา ศิวรังสรรค์ ผอ.มูลนิธิยุวพัฒน์, ผศ.ต่อภัสสร์ ยมนาค อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ร่วมก่อตั้งแฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม, สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ และ พริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานบริหาร บริษัท เอ็ดดูเคชั่น เทคโนโลยี จำกัด (StartDee) ได้ร่วมแสดงความเห็นในหัวข้อ “การมีส่วนร่วมจากกลุ่มภาคี” โดยมีข้อเสนอ ดังนี้
เพิ่มการออกแบบนโยบายโดยใช้ Big Data ที่ให้ความสำคัญกับข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้เรียนและคุณครู เป็นการสร้างแพลตฟอร์มทางนโยบาย ซึ่งจะทำให้การปฏิรูปการศึกษามีความก้าวหน้าในแง่การติดตามและพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง, การปลดล็อกมาตรการทางภาษี ให้ภาคเอกชนสนใจลงทุนด้านการศึกษา ภาคประชาชนได้รับการสนับสนุน มูลนิธิและเครือข่ายต่าง ๆ มีโอกาสทำงานได้ตลอดรอดฝั่ง, การวางบทบาทครูผู้สอนกับการใช้เทคโนโลยีช่วยสอนอย่างสมดุล เพื่อให้ครูมีเวลาจัดกระบวนการสอนได้เต็มที่, มองเรื่องสิทธิผู้เรียน เพื่อทำให้เรียนฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายแฝงเกิดขึ้นจริง, ปรับโครงสร้างอำนาจ และโครงสร้างงบประมาณให้ระดับโรงเรียนออกแบบเองได้
“หนึ่งในวิธีลดความเหลื่อมล้ำ และลดจำนวนเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา เกิดขึ้นได้ด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ที่สนุก เราไม่ต้องขยายการทำงานไปทุกที่ด้วยข้อจำกัดเรื่องบุคลากรและทรัพยากรก็ได้ ถ้าระบบการศึกษาขยายแนวคิดการจัดการเรียนรู้ด้วยหลักสูตรหลากหลายและวิธีการที่เด็กสนใจไปในโรงเรียน แต่ก็จะทำได้ช้าและต้องเปลี่ยนหลักสูตร”
สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ กล่าว
ในช่วงท้ายการเสวนา วิเชียร พงศธร คณะทำงานภาคีเครือข่ายงาน Good Society Summit 2021 ได้กล่าวถึงกลไกในการนำข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ จากทุกฝ่ายจัดทำเป็น “แผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาทางสังคมของประเทศไทย ด้านการศึกษา” ว่า จะใช้วิธีการทำงานแบบร้อยพลังผ่านประสบการณ์หรืองานที่แต่ละคนทำ เป็นพี่เลี้ยงในการขยายผลต่อในขนาดใหญ่ขึ้น โดยมีทีมประสานงานช่วยแก้ปัญหาตามความต้องการของแต่ละส่วนหรือแต่ละโรงเรียนแบบ Single gateway ซึ่งเป็นการเพิ่มขนาดความร่วมมือที่เคยทำสำเร็จมาแล้ว
ขณะที่ รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ระบุว่า ปี 2565 แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาจะแล้วเสร็จ โดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา จะนำชุดข้อมูลจากเวทีนี้ไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำแผน และลงพื้นที่รับฟังส่วนต่าง ๆ เพิ่มเติม ซึ่งอยากฟังความคิดเห็นคนรุ่นใหม่มากที่สุด เนื่องจากแผนปฏิรูปฉบับนี้ จัดทำขึ้นเพื่อคนรุ่นใหม่ จะได้วางแผนดูแลกันต่อไปในวันข้างหน้าให้ได้ตรงตามความต้องการมากที่สุด