จบดราม่า! ตัดต้นหูกวาง นายกเมืองพัทยา ชูแนวทางดูแลต้นไม้ตามหลักรุกขกรรม เน้นรักษา-เพิ่มพื้นที่สีเขียว

กลุ่มบิ๊กทรีส์ เครือข่ายต้นไม้ในเมือง we! Park และภาคี ร่วมกันพลิกโฉมจัดการต้นไม้ใหญ่และพื้นที่สีเขียวเมืองพัทยา หวังเป็นต้นแบบความร่วมมือให้ท้องถิ่นอื่น ‘นายกเมืองพัทยา’ พร้อมให้การสนับสนุน

18 พ.ย. 2564 – เมืองพัทยา จับมือภาคี 4 ฝ่าย ดูแลต้นไม้พื้นที่ต้นแบบชายหาดพัทยา ตามนโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตคนด้วยสิ่งแวดล้อม ดึงศาสตร์รุกขกรรมและภูมิสถาปัตยกรรมมาสร้างมาตรฐานจัดการต้นไม้ใหญ่ในเมืองและพื้นที่สีเขียวสาธารณะ หลังจากเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เกิดกรณีร้องเรียนจากชาวพัทยาว่า ต้นหูกวาง ต้นสน ต้นไม้ต่าง ๆ ริมชายหาดพัทยา ถูกเจ้าหน้าที่เมืองพัทยาและบริษัทเอกชนตัดทิ้ง และกลายเป็นกระแสดราม่าในสื่อสังคมออนไลน์

สำหรับการจัดการต้นไม้ใหญ่ในเมืองและพื้นที่สีเขียวสาธารณะในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของเมืองพัทยากับเครือข่ายภาคประชาชนและสมาคมวิชาชีพ เช่น เครือข่ายต้นไม้ในเมือง สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย สมาคมรุกขกรรมไทย และมูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ (กลุ่มบิ๊กทรีส์) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้ด้านรุกขกรรมเพื่อการจัดการต้นไม้ใหญ่และภูมิทัศน์ จัดทำการสำรวจต้นไม้ริมชายหาดและต้นไม้ในเมืองพัทยาตามหลักวิชาการ และจับมือภูมิสถาปนิกจัดประชุมระดมความคิดเห็นประชาชน สร้างการมีส่วนร่วมวางแผนการจัดการพื้นที่สีเขียวเมืองพัทยาเพื่อความยั่งยืน

สนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า “เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองพัทยาเพื่อรองรับการเติบโตในการเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ตามเป้าหมายของ EEC บนพื้นฐานของการคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ ในเขตประกาศการควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยการร่วมมือกับภาคประชาชนและสมาคมวิชาชีพในครั้งนี้ จะมีการนำองค์ความรู้ทั้งด้านรุกขกรรมและภูมิสถาปัตยกรรมมาใช้ในการพัฒนาเมืองพัทยา เพื่อดูแลต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่เมืองและการพัฒนาพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะอย่างยั่งยืนต่อไป”

ด้านการจัดการต้นไม้ใหญ่ ได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการถึง 2 ครั้ง ให้กับเจ้าหน้าที่เมืองพัทยา การไฟฟ้าฯ ประปา บรรเทาสาธารณภัย และเทศบาลใกล้เคียง ในเดือนตุลาคม และวันที่ 15-18 พฤศจิกายนนี้ โดยมีการอบรมการประเมินสุขภาพและความเสี่ยงต้นไม้เบื้องต้น การสำรวจพื้นที่นำร่องชายหาดพัทยาใต้ 50 เมตร โดยใช้โปรแกรมซอฟต์แวร์ Tree Plotter การฝึกตัดแต่งอย่างถูกวิธี การปีนต้นไม้ และสาธิตการใช้เสียมลมเพื่อฟื้นฟูระบบราก โดยการอนุเคราะห์ของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาคมรุกขกรรมไทย เพื่อวางแนวทางในการดูแลรักษาต้นไม้ และการออกแบบพื้นที่ชายหาดให้เหมาะกับการใช้ประโยชน์ของประชาชน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

ช่อผกา วิริยานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายต้นไม้ในเมือง กล่าวว่า “การลงพื้นที่สำรวจต้นไม้ในพื้นที่นำร่องที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในรูปธรรมของการนำองค์ความรู้ที่เป็นสากล คือศาสตร์รุกขกรรมมาเป็นคำตอบในการบริหารจัดการต้นไม้ในเมือง และจากการสำรวจต้นไม้ริมหาดพัทยาใต้ในพื้นที่นำร่องร่วมกัน พบว่าไม่มีต้นไม้ที่ต้องโค่นทิ้งเลย เพราะสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยวิธีการที่เป็นสากล โดยเครือข่ายต้นไม้ในเมืองหวังว่าการจัดการต้นไม้ในเมืองในวิถีใหม่ของเมืองพัทยาในครั้งนี้ จะเป็นต้นแบบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นทั่วประเทศไทยต่อไป” 

ภาพ: BIG Trees

สำหรับการนำองค์ความรู้ด้านภูมิสถาปัตยกรรมมาใช้ในการจัดการพื้นที่สีเขียวสาธารณะและการปรับปรุงภูมิทัศน์นั้น จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ โดย นำชัย แสนสุภา นายกสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย กล่าวว่า “ภูมิสถาปนิกคือคนที่จะทำหน้าที่ วางแผน วางผังและออกแบบ การจัดการและการใช้พื้นที่อย่างเหมาะสมและยั่งยืนได้ ด้วยการลงพื้นที่จริงและทำงานร่วมกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาการมองไม่ครบทุกมุมในการปรับปรุงภูมิทัศน์ได้ แล้วนำข้อมูลเหล่านี้มาประมวลด้วยกันเพื่อออกแบบภูมิทัศน์ที่เหมาะสม รักษาสิ่งที่ดี ปรับปรุงแก้ไขส่วนที่ขาด ให้เกิดเอกลักษณ์ ความสวยงาม ลดภาระการดูแลระยะยาว ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างยั่งยืน”

ทาง ยศพล บุญสม ผู้ก่อตั้งกลุ่ม we!park ระบุว่ากลุ่มฯ ได้ร่วมกับสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม (co creation) เพื่อวางแนวทางการพัฒนาพื้นที่สาธารณะบริเวณชายหาดพัทยาใต้สำหรับทุกคน (public space for all) โดยนำร่องผ่านพื้นที่สาธารณะขนาดเล็ก บริเวณอนุสรณ์สถานทรงเรือใบ โดยมองว่าหากกระบวนการมีส่วนร่วมเกิดขึ้นตั้งแต่ต้น ตั้งแต่การสำรวจพื้นที่ การตั้งโจทย์และรวบรวมข้อเสนอของกิจกรรม จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาควิชาชีพและประชาสังคม จะเป็นแนวทางในการนำเสนอแบบเพื่อตั้งงบประมาณในการก่อสร้างต่อไป โดยคาดหวังที่จะให้เมืองพัทยาได้นำต้นแบบดังกล่าวไปขยายผลสู่พื้นที่อื่น ๆ ของเมืองพัทยาต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้