“เฮาบ่เลือก อบต.หนุนเหมืองทอง” เมื่อชาวบ้าน สู้เพื่อท้องถิ่น – ดันตัวแทน ชิงเก้าอี้ ส.อบต.

มิติใหม่ ชาวบ้านตื่นตัว มองการปกป้องทรัพยากร สิ่งแวดล้อม กับ การเมืองท้องถิ่น เรื่องเดียวกัน หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง คัดสรรตัวแทน ลงสมัครเลือกตั้ง นั่งในสภา อบต. คาดหวังเป็นปากเป็นเสียง ปกป้องบ้านเกิด ขับเคลื่อนการคุ้มครอง ดูแลทรัพยากร สิ่งแวดล้อม  

วันนี้ (11 พ.ย.64) ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน รอบเหมืองทองคำ จ.เลย ร่วมกันติดป้ายผ้าระบุข้อความว่า “เฮาบ่ X นายก อบต. เอาเหมืองทองทำลายบ้านเจ้าของ”, “เฮาบ่เลือกนายก อบต.เขาหลวง ที่สนับสนุนเหมืองแร่ทองคำ”, “เฮาบ่เลือกนายก อบต. ขี้ข้านายทุนเหมืองทองคำ”“เราเลือกนายก อบต. ไม่เอาเหมืองทอง”  และ “เฮาเลือก นายก อบต.เขาหลวง ไม่เอาเหมืองทองเท่านั้น” บริเวณซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้านนาหนองบง หมู่ 3 และบริเวณริมถนนที่เป็นจุดสำคัญในพื้นที่

สิ่งนี้เกิดขึ้นหลังจากชาวบ้าน พบกรณีที่ทำให้เชื่อได้ว่า 1 ใน 3 ผู้สมัครนายก อบต.เขาหลวง ได้ไปร่วมกินข้าวกับประธานบริษัทเหมืองทองรายใหญ่ ก่อนการรับสมัคร นายก อบต.เขาหลวง ขณะที่ผู้สมัครนายก อบต. เขาหลวง อีก 2 คน ก็ยังไม่เเสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อสาธารณะ ว่ามีนโยบายเรื่องปัญหาเหมืองทองคำในพื้นที่ตำบลเขาหลวง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของชุมชนอย่างไร

สำหรับการติดป้ายผ้า เป็นการแสดงจุดยืนของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ใกล้จะมาถึง ว่า จะไม่เลือกผู้สมัคร นายก อบต. ที่ให้การสนับสนุนเหมืองทองคำ หรือ ผู้สมัครนายก อบต. ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหมืองทองคำโดยเด็ดขาด


“ชาวบ้านต้องการให้ผู้สมัครนายก อบต. ที่เสนอตัวเป็นตัวแทนชาวบ้าน กล้าที่จะประกาศจุดยืน ยืนหยัดต่อสู้ไม่เอาเหมืองทองคำร่วมกับชาวบ้าน และแสดงเจตจำนงเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม ที่คำนึงถึงความปลอดภัยของชุมชนเป็นสำคัญ”

ปฏิกิริยาของชาวบ้านที่ด้รับผลกระทบจากเหมืองทองคำ ในพื้นที่ จ.เลย ไม่ใช่แค่ที่แรก เพราะปัญหาผลกระทบจากการทำเหมือง กับสิทธิชุมชน เกิดขึ้นมายาวนานในหลายพื้นที่ เมื่อการอนุมัติ อนุญาต ต้องเกี่ยวพันกับกระบวนการมีส่วนร่วม และตัดสินใจโดยท้องถิ่น ในช่วงของการเลือกตั้ง อบต. ทำให้หลายฝ่ายจับตาบทบาทท้องถิ่นหลังการเลือกตั้ง ว่าจะสามารถปกป้องทรัพยากร และผลประโยชน์ของชุมชนได้หรือไม่

ก่อนหน้านี้ที่ อบต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง ถือเป็นพื้นที่ซึ่งมีประเด็นการขอใช้พื้นที่ป่า เพื่อทำเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ ซึ่งในปี 2553 สภา อบต. มีมติเห็นชอบ ให้บริษัทเอกชน ดำเนินการขอประทานบัตรเหมืองแร่ได้ จนชาวบ้านต้องรวมตัวกันคัดค้าน

ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านต่อสู้ทุกวิถีทาง ทั้งชุมนุม ประท้วงคัดค้าน จนไปเรียกร้องถึงทำเนียบรัฐบาลก็เคยทำมาแล้ว แต่กลับถูกเพิกเฉย ไม่ได้รับการเหลียวแล นำมาสู่การวางกลยุทธ์ต่อสู้ โดยใช้กลไกทางการเมืองท้องถิ่น เพื่อให้ตัวแทนของพวกเขาเข้าไปนั่งเป็น สมาชิกสภา อบต.บ้านแหง

จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่


“บ้านแหง โมเดล” คัดสรรตัวแทนชาวบ้าน เป็นปากเป็นเสียงในสภาท้องถิ่น  

“จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ” เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ซึ่งทำงานในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง บอกกับ TheActive ว่า ในช่วงแรกเป็นเรื่องยาก ที่จะขจัดความคิดทางการเมืองออกไป จากความรู้สึกของชาวบ้าน เพื่อให้มองว่าเป็นหนึ่งกระบวนการที่จะขับเคลื่อนเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม แม้กระบวนการนี้ไม่สามารถเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภา อบต.ได้ แต่อย่างน้อยความรู้สึก และเสียงสะท้อนของชาวบ้าน ถูกนำไปพูดในสภาท้องถิ่น ย่อมสามารถสะท้อนปัญหาได้อย่างแท้จริง

จุฑามาส อธิบายถึงกระบวนการส่งตัวแทนชาวบ้าน เข้าไปมีบทบาทในกลไกสภาท้องถิ่น ด้วยการส่งตัวแทนลงสมัครเลือกตั้งชิงตำแหน่งสมาชิกสภา อบต. โดยเริ่มจากการปรึกษาหารือให้ได้ข้อสรุป เป็นมติร่วมกัน แล้วให้แต่ละหมู่บ้านเสนอชื่อตัวแทน

“เริ่มจากถามความสมัครใจก่อน อย่างกรณีบ้านแหง จ.ลำปาง ก็จะใช้การลงคะแนน เสมือนเข้าคูหาเลือกตั้งจริงเลย ส่วนใหญ่คนที่ลงสมัครจะเป็นคนที่ทำงานในกลุ่มขับเคลื่อนอยู่แล้ว โดยดูจากคุณสมบัติ คือ คนที่เป็นตัวแทนกลุ่ม และเราถือว่าคนนั้นเหมือนเป็นคนที่ต้องไปทำภารกิจ พร้อมทั้งมีสัญญาใจว่าทุกกระบวนการของ อบต.ต้องเอามาปรึกษาหารือภายในกลุ่มด้วย ที่สำคัญ จะไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหาเสียง หรือเรียกง่าย ๆ ว่าการซื้อสิทธิ์ขายเสียง”  

เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่  บอกด้วยว่า การที่นักต่อสู้ในชุมชน ร่วมลงสมัครเลือกตั้งท้องถิ่น นับเป็นอีกการเคลื่อนไหวที่น่าจับตามอง เพราะถือเป็นเป็นยุทธศาสตร์การต่อสู้อีกรูปแบบหนึ่งของชาวบ้าน เพื่อกำหนดทิศทางท้องถิ่นของตัวเอง ซึ่งจากการสอบถามไปยังกลุ่มเครื่อข่ายที่ขับเคลื่อนประเด็นเหมืองแร่ ทราบว่า ขณะนี้ มีตัวแทนกลุ่มคัดค้านเหมืองแร่ ลงสมัครเลือกตั้งท้องถิ่นแล้วใน 3 จังหวัด คือ หนองบัวลำภู, เลย และลำปาง 

“ตัวแทนเราเข้าไปในสภาท้องถิ่น เราเองก็จะรับรู้และได้ติดตามเรื่องเหมืองแร่ ทวงคืนผืนป่า ที่พวกเราเฝ้าระวัง เเละตัวแทนเรา จะทำหน้าที่อภิปราย คัดค้านพร้อมต่อสู้ เเม้จะเป็นตำแหน่ง ส.อบต. แต่กลุ่มฯ ตระหนักเสมอว่า โครงสร้างรัฐ คือต้นเหตุแห่งปัญหา ส.อบต. คือตัวเเทนที่มาจากประชาชน รับคำสั่งจากประชาชนเท่านั้น ไม่ใช่รัฐ หากมีคำสั่งรัฐ ที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ตัวแทนต้องพร้อมคัดค้านและต่อสู้ไปกับประชาชน”

ณัฐพร อาจหาญ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ บอกว่า ความเป็นไปได้ที่จะไปต่อรองในเวทีการเมืองท้องถิ่น คือพื้นที่ของชาวบ้านที่พอจะทำได้ อย่างที่บ้านแหง จ.ลำปาง เคยพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เมื่อมีเสียงของตัวแทนชาวบ้าน เข้าไปอยู่ในสภา อบต. เข้าไปคัดค้าน ก็มีผลให้เปลี่ยนมติที่ประชุมในเรื่องของเหมืองได้ ส่วนที่ จ.เลย ก็สามารถยับยั้งการต่ออายุขอใช้พื้นที่ป่าได้ นี่จึงเป็นภาพที่สะท้อนการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น


“คนรุ่นใหม่” หวัง อบต. เห็นคุณค่าชุมชน

พรชิตา ฟ้าประธานไพร เครื่อข่ายกลุ่มเฝ้าระวังอมก๋อย ถือเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความคาดหวังกับการเลือกตั้ง อบต. แม้จะมีตัวแทนที่ขับเคลื่อนเรื่องเหมืองไปลงชิงตำแหน่ง แต่ก็ยังกังวลต่อการเลือกตั้งครั้งนี้

“การเลือกตั้งครั้งนี้ค่อนข้างมีความหวังเพราะ ดูจากผู้ลงสมครแล้ว เขาก็ค่อนข้างเป็นคนที่เรารู้จัก และเขาก็ไม่เอาเหมือง แต่ก็กังวลว่า หากพวกเข้าไปทำงานจริง ๆ เขาจะเปลี่ยนใจหรือไม่ แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้ เขามีอำนาจมากกว่าเรา แต่เราอยากให้เขาเห็นคุณค่าของอมก๋อย”

ชาวบ้านตื่นรู้ ใช้กลไกการเมืองท้องถิ่น แก้ปมปัญหา


สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) มองว่า ตอนนี้ประชาชนไม่ได้มองเรื่องโครงสร้างอำนาจทางการเมือง แยกกับเรื่องการต่อสู้ในพื้นที่อีกต่อไปแล้ว ประชาชนมองเห็นแล้วว่า การส่งตัวแทนเข้าไปนั่งในสภาท้องถิ่น เป็นกลไกสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ที่พวกเขามองว่าเป็นปัญหา ส่งผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และมองว่ารัฐควรมองประชาชนเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนา มากกว่าการมองเป็นเป็นฝ่ายที่มาต่อต้าน

“มันคือมิติใหม่เมื่อประชาชนมองว่าการเมืองระดับล่าง การเข้าไปสู่ตำแหน่งการเมืองท้องถิ่น คือกลไกหนึ่งที่มีส่วนขับเคลื่อนประเด็นการคุ้มครอง ดูแลพื้นที่ นี่เป็นมิติสำคัญที่ประชาชนเห็นว่าการปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมกับการเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ ว่าหากเชื่อมั่นในอำนาจประชาชน เชื่อว่าการพัฒนาประเทศต้องอยู่ภายใต้ความร่วมมือของประชาชน ประชาชนคือหุ้นส่วนการพัฒนาประเทศ”

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ