ระดมแพทย์ 8 จังหวัดช่วย “เชียงใหม่” คุมโควิด-19

ตั้งเป้า 2 สัปดาห์ ยอดผู้ติดเชื้อลดลง ส่วนยอดฉีดวัคซีนยังอยู่ที่ 63% สั่งตั้งศูนย์ CI ร้อยเตียงทั้ง 25 อำเภอ รับมือคลัสเตอร์ครอบครัว-ชุมชน 

2 พ.ย. 2564 – สถานการณ์การติดเชื้อในจังหวัดเชียงใหม่ ยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้น มีความพยายามระดมทีมแพทย์จากหลายจังหวัดข้างเคียงมาช่วย หวังกดจำนวนผู้ติดเชื้อให้ต่ำลง ทั้งการเร่งฉีดวัคซีนซึ่ง ขณะนี้ฉีดไปได้แล้วประมาณ 63% พร้อมกับการเร่งตรวจเชิงรุกในหลายชุมชนที่เป็นคลัสเตอร์การระบาด ซึ่งก็ยังพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง

การแสวงหาความร่วมมือเพื่อควบคุมโควิด-19 ใน จังหวัดเชียงใหม่​ ไม่สามารถที่จะอาศัยบุคลากรเพียงจังหวัดเดียว​​ได้ ผู้อำนวยการเขตสุขภาพที่ 1 จึงต้องระดมแพทย์จาก​ 8 จังหวัดภาคเหนือ ทั้ง เชียงใหม่ เชียงราย​ ลำพูน​ ลำปาง แม่ฮ่องสอน​ น่าน พะเยา​ และแพร่ ช่วยจัดทีมแพทย์จังหวัดละ 5 ทีม เข้ามาช่วยเหลือจังหวัดเชียงใหม่​ ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แล้วช่วยตรวจเชื้อเชิงรุก โดยหวังให้อีก 1-2 สัปดาห์ผู้ติดเชื้อจะลดลง

ขณะที่ ความคืบหน้าการตรวจเชิงรุกในพื้นที่  The Active ลงพื้นที่ชุมชนฟ้าใหม่ อ.เมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนแออัดขนาดใหญ่ พบผู้ติดเชื้อ 9 คน​ จากที่เข้ารับการตรวจ 112 คน และในบ้านเตื่อมฝัน ศูนย์คนไร้​บ้าน พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 6 คนจากทั้งหมด 42 คน สะท้อนว่าการติดเชื้อ​ยังมีอยู่​ และยังต้องเข้มมาตร​การป้องกัน​ทั้งส่วนรวมและบุคคลอย่างเข้มงวด​ 

ส่วนบรรยากาศล่าสุดวันนี้​ ทีมแพทย์จากหลายจังหวัดยังคงกระจายลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกในชุมชนต่าง ๆ ช่วงเช้าที่ผ่านมา ไปที่ชุมชนตลาดเมืองใหม่ ซึ่งมีแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่จำนวนมาก​ และช่วงบ่ายได้ลงตรวจเชิงรุกบริเวณหอพักศรีลานนา โดยคาดว่าทั้งสองจุดจะเป็นศูนย์กลางการระบาดของจังหวัดเชียงใหม่

ตั้งเป้าสร้างศูนย์ CI ทุกอำเภอ อำเภอละ 100 เตียง 

​ล่าสุดทั้ง 25 อำเภอในจังหวัดเชียงใหม่​ ตั้งรับสถานการณ์ด้วยการจัดการพื้นที่​ เพื่อทำศูนย์กักตัวในชุมชน หรือ Community Isolation (CI) หวังจะช่วยพยุงระบบสาธารณสุข ให้ไปต่อได้ เช่น อ.แม่ริม ศูนย์ดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อในชุมชน หรือ CI อยู่ห่างจากตัวอำเภอไปราว 10 กิโลเมตร สภาพโรงแรมที่เคยใช้รองรับนักท่องเที่ยวถูกเปลี่ยนให้เป็นสถานที่กักตัวผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย มีบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลนครพิงค์ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ใน อ.แม่ริม ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่ประจำที่ศูนย์ CI แห่งนี้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งมีอยู่จำนวน 60 เตียง  ขณะนี้เต็มหมดแล้ว และตั้งเป้าจะต้องทำให้ถึง 100 เตียง ในอีก 1-2 วันนี้

สุเทพ ตาพรหม นายแพทย์สาธารณสุขประจำ อ.แม่ริม บอกว่าชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากตลาดใน อ.เมือง เพราะเป็นเขตติดต่อกัน แต่สถานการณ์ในขณะนี้ เริ่มติดกันเองในครอบครัว จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง ทำให้ต้องเก็บเตียงในโรงพยาบาลไว้เพื่อรักษาผู้ป่วยกลุ่มอาการหนักสีเหลือง และสีแดง พร้อมทั้งเฝ้าดูอาการของผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวอย่างใกล้ชิดเพื่อส่งต่อโรงพยาบาลหากอาการขยับรุนแรงขึ้น

นอกจากการทำศูนย์ CI ในทุก 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ โดยหน่วยงานราชการแล้ว เนืองนิช ชิดนอก ประธานที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่ากังวลว่าสถานการณ์การระบาดเชียงใหม่ จะซ้ำรอยกับระบาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ซึ่งกลุ่มเปราะบาง อย่าง คนไร้บ้าน คนจนเมือง แรงงานข้ามชาติ ไม่สามารถเข้าถึงการรักษา จึงใช้ประสบการณ์ในช่วงระบาดหนักในกรุงเทพฯ มาถ่ายทอดความรู้ให้กับชุมชนในเครือข่าย เพื่อสร้างศูนย์พักคอย รองรับผู้ติดเชื้อ ในชุมชนเมืองที่แออัด ที่เริ่มมีการระบาดในขณะนี้

“การระบาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ถึงขั้นเคยเห็นคนติดเชื้อต้องนอนรอเตียงจนเสียชีวิตภายในบ้าน หรือ ในพื้นที่สาธารณะ ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนพยายามใช้บทเรียนดังกล่าวเข้าช่วยเสริมให้กับภาครัฐ และผลักดันชุมชนให้มีความสามารถในการดูแลตัวเอง เพื่อลดความสูญเสีย”

สถานการณ์เตียงผู้ป่วยยังวิกฤต 

ศูนย์ข้อมูลเฉพาะกิจจังหวัดเชียงใหม่ ระบุ สาเหตุการติดเชื้อในจังหวัดเชียงใหม่ในขณะนี้ พบว่าเกิดจากการสัมผัสในครอบครัวหรือคลัสเตอร์ครอบครัวคิดเป็น 28% พอ ๆ กับการสัมผัสในชุมชนซึ่งรวมกันแล้วเกินครึ่ง 

สะท้อนให้เห็นว่าเชื้อได้กระจายลงลึกไปสู่ระดับครัวเรือนและชุมชน จึงยากแก่การควบคุม เพราะด้วยวิถีชีวิต เครือญาติ ที่อยู่รวมกันหลายคน และชุมชนแออัด หอพักแรงงาน​ ที่อยู่ติดกับตลาด​ ในเมืองเชียงใหม่ เพื่อให้เกิดการระบาดได้ง่าย ทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้คือการระดมฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด 

ขณะที่ตอนนี้มีผู้ที่ยังรักษาตัวอยู่ 4,362 คน จำนวนนี้อาการหนัก หรือ สีแดง 79​ คน กระจายตัวรักษาอยู่ใน ICU ของโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งมีเตียงรองรับรวมราว 1,700 เตียง ​

แยกเป็นผู้ป่วยสีเขียว 3,534 คน สีเหลือง 749 คน และสีแดง 79 คน โดยส่วนใหญ่ รักษาตัวอยู่ใน CI จำนวน 2,277 คน แต่สำหรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลนั้น ค่อนข้างหาเตียงลำบาก เพราะในจำนวนผู้ติดเชื้อ 100 คน​ จะพบเป็นผู้ป่วยหนัก 10​ คน ทำให้ต้องใช้เตียง เพิ่มขึ้นทุกวัน​ จึงมีการผ่องถ่ายไปรักษาตัวยังต่างจังหวัดแล้ว ​73​ คน​ ขณะที่ผู้เสียชีวิตวานนี้ (1 พ.ย.) อยู่ที่ 3 คน 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS