ผลตรวจ “ช้าง” สุรินทร์ ไม่ติดโควิด – แจ้งควาญ แยก สังเกตอาการช้าง 10 เชือก พบเชื้อ EEHV

ทีมสัตวแพทย์ จุฬาฯ สรุปผลตรวจเลือดช้างในหมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ 43 เชือก ไม่พบติดโควิด-19 สอดคล้องการระบาดในหมู่บ้านเป็นศูนย์ แต่ขอความร่วมมือควาญช้าง ดูแลอาการช้างใกล้ชิด หลังผลตรวจ พบช้างติดเชื้อ EEHV  

ทีมสัตวแพทย์ ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพ และเก็บตัวอย่างเลือดช้าง
ที่หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ เมื่อวันที่ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา

ภายหลังทีมสัตวแพทย์ นำโดย นสพ.อลงกรณ์ มหรรณพ กรรมการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย  พร้อมด้วยทีมจากภาควิชาสัตวบาล คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพให้กับช้าง ซึ่งส่วนใหญ่ตกงานจากปางช้างปิดตัว เนื่องในสถานการณ์โควิด-19 ภายในศูนย์คชศึกษา และ หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ เมื่อวันที่ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างเลือดช้าง ไปตรวจสอบความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 และ การติดเชื้อ EEHV

อ่านเพิ่มเติม : ครั้งแรก! ตรวจโควิด “ช้าง” จับตา คุมเชื้อ EEHV โรคร้าย ช้างตายฉับพลัน

“ไม่พบ” ช้าง ติดเชื้อโควิด-19

ล่าสุด นสพ.อรรณพ สุริยสมบูรณ์ จากภาควิชาสัตวบาล คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการ พบว่า ในจำนวนช้าง 96 เชือก ที่เข้ามาตรวจสุขภาพ สามารถเก็บตัวอย่างเลือดมาได้ 43 เชือก ผลตรวจปรากฎ ว่า ทุกเชือกมีผลเป็นลบ ไม่พบเชื้อโควิด-19

นั่นอาจสอดคล้องกับ การไม่พบเชื้อของผู้คนภายในหมู่บ้าน และก็ต้องถือว่าคนเลี้ยงช้าง ดูแลตัวเองได้เป็นอย่างดี จนไม่มีการระบาด แม้จะมีคนที่กลับมาจากพื้นที่เสี่ยง มากักตัวในพื้นที่ แต่เชื่อว่ามาตรการคุมโรคทำได้อย่างเข้มงวด

“ถ้าย้อนกลับไปช่วงการระบาดโควิด ก็พบว่าช้างที่หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง ได้รับการดูแล ตรวจสุขภาพจาก นสพ.อลงกรณ์ มหรรณพ เป็นประจำทุกเดือน นั่นทำให้ช้างมีสุขภาพดี ใกล้มือหมอ นอกจากนี้ยังพบว่า ช่วงก่อนหน้านี้ นสพ.อลงกรณ์ ได้ให้ช้างกินยาฟ้าทะลายโจร ซึ่งก็เป็นไปได้ที่ช้างอาจมีภูมิต้านทาน แต่ที่ทำได้ดีกว่านั้น คือการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคของชาวบ้าน และคนเลี้ยงช้าง จนไม่ทำให้พบการระบาดภายในพื้นที่”

เฝ้าระวังช้าง 10 เชือก ติดเชื้อ EEHV

ส่วนผลตรวจความเสี่ยงติดเชื้อ EEHV โรคระบาดรุนแรงในช้าง ที่อาจทำให้ช้างตายได้อย่างฉับพลันนั้น นสพ.อรรณพ บอกว่า จากช้าง 43 เชือกที่เก็บตัวอย่างเลือด พบผลเป็นบวก หรือ ติดเชื้อ 10 เชือก จากนี้ทีมสัตว์แพทย์ จะต้องยืนยันตรวจอีกครั้ง และแจ้งให้กับควาญช้าง พยายามเฝ้าระวังสังเกตอาการช้างดังกล่าว

“อาจจำเป็นต้องพยายามไม่ให้ช้างทั้ง 10 เชือก คลุกคลีกับช้างเชือกอื่น ๆ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ แต่ที่ยังพอเบาใจได้ คือ ช้างที่พบเชื้อ ยังไม่มีตัวไหน แสดงอาการ เพราะในมุมการระบาด ก็เป็นไปได้ ที่ช้างอาจมีเชื้ออยู่ในตัว ซึ่งควาญช้าง ต้องระมัดระวังไม่ให้ช้างเครียด และ ติดตามอาการใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติ พบการอาการบวมน้ำ มีเลือดออกตามอวัยวะ ให้รีบแจ้งทีมสัตว์แพทย์ทันที”

Author

Alternative Text
AUTHOR

พงศ์เมธ ล่องเซ่ง

นักข่าวไม่จำกัดสาย จัดให้ได้ทุกประเด็น