รมว.ดิจิทัล งัดกฎหมายเข้มธุรกิจออนไลน์ จ่ายเงิน-โอนเงิน ยืนยันตัวตน 2 ชั้น ด้าน สอบ.จี้ธนาคารคืนเงินผู้เสียหายทันที-เพิ่มมาตรการยืนยันตัวตน

วันนี้(18 ต.ค.2564) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แถลงข่าวด่วนกรณีที่บัญชีธนาคารประชาชนจำนวนมากถูกหักเงินโดยไม่รู้ตัว โดยระบุว่า กรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดเป็นการใช้ข้อมูลที่ลูกค้าเคยให้ไว้ แล้วมาตัดบัญชีโดยที่ไม่ได้มีการยืนยันตัวตนอีกครั้งหนึ่งจากลูกค้า ซึ่งมองว่าเป็นระบบที่ไม่ควรใช้กับระบบการเงินในประเทศไทย โดยเฉพาะการซื้อขายออนไลน์ ล่าสุดจึงได้หารือกับผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA บังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้

“เราจะมีการออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ โดยแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีการทำธุรกิจออนไลน์ มีการซื้อขาย มีการโอนเงิน ต้องมาจดแจ้งการประกอบธุรกิจกับเรา และเราจะมีมาตรการกำกับดูแลที่ต้องปฏิบัติตาม เช่น ลูกค้าที่มาใช้บริการต้องมีการพิสูจน์ตัวตน ยืนยันตัวตนทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขาย ระบบการจ่ายเงิน และการโอนเงินก็ต้องใช้ระบบการยืนยันตัวตน 2 ชั้น เพื่อป้องกันการเอาข้อมูลลูกค้าไปตัดบัญชีโดยเจ้าตัวไม่รู้ เป็นต้น”

ปัจจุบัน ร่าง พรฎ. ฉบับนี้ที่จะเป็นกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แล้วเสร็จและอยู่ในขั้นตอนรอนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้มีการออกหลักเกณฑ์ ออกระเบียบ ออกกฎหมายที่ชัดเจน เพื่อกำกับดูแลธุรกิจออนไลน์และแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งหมด เพื่อไม่ให้ทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย หลอกลวงประชาชน ซึ่งอยู่ในกระบวนการที่เราดำเนินการอยู่ เช่น การยืนยันตัวตน การมีตัวแทนในประเทศไทยที่รับผิดชอบต่อประชาชน มาตรการโอนเงินต้องมีระบบยืนยันตัวตน 2 ชั้น เป็นต้น ป้องกันไม่ให้ถูกหักเงินจากบัญชีโดยเจ้าของไม่รู้ตัว และให้ความคุ้มครองประชาชน

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย ออกมาชี้แจงก่อนหน้านี้ โดยระบุว่า  ได้รับทราบปัญหาและได้ตรวจสอบสถานการณ์ดังกล่าว โดยเบื้องต้นพบว่า  “มิได้เกิดจากการรั่วไหลของข้อมูลจากธนาคาร แต่เป็นรายการที่เกิดจากการทำธุรกรรมชำระค่าสินค้าและบริการกับร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และไม่ใช่แอปดูดเงินตามที่ปรากฏเป็นข่าว”

ขณะนี้ธนาคารเจ้าของบัตรได้ดำเนินการระงับการใช้บัตรของลูกค้าที่มีรายการผิดปกติ และติดต่อลูกค้า รวมทั้งอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบร้านค้าที่มีธุรกรรมที่ผิดปกติเหล่านี้ นอกจากนี้ ลูกค้าที่ตรวจสอบพบความผิดปกติของรายการธุรกรรมด้วยตนเอง สามารถติดต่อคอลเซ็นเตอร์หรือสาขาของธนาคารผู้ออกบัตรเพื่อแจ้งตรวจสอบและยืนยันการทำธุรกรรมในทันที โดยธนาคารจะดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และเร่งคืนเงินให้กับลูกค้าที่ได้รับความเสียหายตามขั้นตอนของธนาคารโดยเร็ว

ขณะที่โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ระบุว่า  ปกติการทำธุรกรรมทางการเงินจะต้องมีการยืนยันตัวตนก่อนทุกครั้ง แต่ปัจจุบันธุรกรรมที่เกิดจากการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์จำนวนมากไม่มีการแจ้งยืนยันตัวตนก่อนการสั่งจ่าย จึงอาจเป็นช่องว่างให้เกิดกรณีดังกล่าวขึ้นได้ จึงต้องการให้ ธปท. และสมาคมธนาคารฯ เพิ่มมาตรการยืนยันตัวตนในการโอนเงินทุกครั้ง เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต 

ส่วนกรณีผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากการที่เงินหายไปจากบัญชีจนหมดนั้นอาจจะกระทบกับชีวิตประจำวันของผู้บริโภค จนสร้างความเสียหายให้กับผู้บริโภค ธนาคารผู้รับฝากเงินของผู้เสียหายควรต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อประโยชน์และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการแสดงความรับผิดชอบของธนาคารผู้รับฝากเงินเอง และไม่ควรประวิงเวลาในการคืนเงิน เพราะบริการบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ถือเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาโดยคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2542 ที่ระบุว่า ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ออกบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตให้กับผู้บริโภคไม่มีสิทธิเรียกเก็บเงินจากบัญชีธนาคารของผู้บริโภค หรือกรณีที่ผู้บริโภคถูกหักเงินจากบัญชีธนาคาร จะต้องคืนเงินให้กับผู้บริโภคทันที รวมทั้งกรณีที่ผู้บริโภคทักท้วงว่าไม่ได้เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าหรือแจ้งว่าบริการที่ถูกหักเงินไปเกิดจากการลักลอบใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ทั้งในออนไลน์หรือออฟไลน์

“ธนาคารไม่ควรอ้างเหตุผลการตรวจสอบโดยประวิงเวลาในการคืนเงินให้กับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหักเงินจากบัญชี และต้องรับผิดชอบคืนเงินผู้บริโภคเต็มจำนวนทันทีตามสัญญาฝากทรัพย์ เนื่องจากเป็นหน้าที่ของธนาคารในการดูแลรักษาเงินในฐานะผู้มีวิชาชีพฝากเงิน นอกจากธนาคารจะพิสูจน์ได้ว่าภาระหนี้ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำของผู้บริโภคเองและใช้สิทธิเรียกคืนจากผู้บริโภคในภายหลังได้”

ด้านอาจารย์ปริญญา หอมเอนก  ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ระบุถึงปัญหาดังกล่าวว่า  ข้อมูลรั่ว ไม่ว่าเราเคยไปผูกกับแอปฯ จ่ายเงินผ่านเว็บที่มันจะตัดอัตโนมัติเป็นยอดๆ ไป  หรือเคยไปรูดกับอะไร แค่เขามีข้อมูลเลขหน้าบัตร 16 ตัว,ชื่อ,เดือน,ปี,ที่หมดอายุ หรือ เลขหลังบัตร 3 ตัว ซึ่งการจ่ายเงินผ่านบัตรถ้ามีระบบ Modified by Visa และ มีระบบส่ง OTP ยืนยันการจ่ายเงิน ก็เบาใจได้ แต่บางกรณีก็ไม่จำเป็นหากมีข้อมูลครบก็ตัดเงินไปได้เลย 

“บางเคสกรณีใช้ CNP Card Not Present  คือไม่จำเป็นต้องให้เราเซ็นต์ ไม่ได้ส่ง OTP แค่มีข้อมูลครบ ก็ตัดเงินเราไปเลย ซึ่งบัตรเดบิต ความหวังได้เงินคืนคือริบหรี่ แต่เครดิตยังพอยืนยันว่าเราไม่ได้ใช้ และไม่จ่ายได้ ถ้าเจอแบบนี้ รีบไปเช็คเงิน ติดต่อธนาคาร ให้เขาดำเนินการอายัด ระงับการจ่ายบัตรทันที  แต่ถ้าเราถูกกล่าวหาว่าใช้เงินจำนวนนั้น ให้ไปแจ้งความยืนยันว่าเราไม่ได้ใช้เงิน”

อาจารย์ปริญญา แนะนำว่าพยายามอย่าผูกบัตรเดบิต โดยเฉพาะบัตรที่เป็นบัญชีของเงินเดือน เพราะจะโดนตัดไปเรื่อยๆ สำหรับบัตรเครดิต หรือเดบิต ( บัตรเงินสด )​ ให้จำกัดวงเงินที่ใช้แต่ละครั้ง หรือ ถ้าจะผูกบัตรจ่ายกับอะไร ให้ไปเปิด บัญชีบัตรใหม่ แล้วให้บัตรนั้นเป็นบัญชีว่าง หรือมีวงเงินน้อยๆ ถ้าถึงเวลาจ่ายค่อยเติมเงิน

ส่วนผู้เสียหายที่รวมตัวกันในเพจเฟซบุ๊ค “แชร์ประสบการณ์โดนหักเงินจากบัญชีโดยไม่รู้ตัว” มีสมาชิกเข้าร่วม 5.7 หมื่นคน ยังคงมีความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง มีหลายคนร่วมโพสต์และแสดงความคิดเห็นว่าตกเป็นผู้เสียหาย บางคนสูงถึงหลักแสนบาท บางคนระบุว่าไม่เคยผูกบัญชีซื้อของกับแอปพลิเคชันออนไลน์ แต่ก็ยังถูกหักเงินจากบัญชีได้  ซึ่งปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องมานานแล้วและหลายคนยังไม่ได้รับเงินคืนและอยู่ระหว่างการดำเนินการ

ขณะที่ข้อมูลจากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือ บช.สอท.พบว่าขณะนี้มีผู้เสียหายประมาณ 4 หมื่นคน ยอดเสียหายสูงสุด 2 แสนบาท รวมมูลค่าความเสียหายคาดไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท จากการตรวจสอบบัญชี พบว่าผู้เสียหายถูกถอนเงินในจำนวนครั้งละไม่มากหลักสิบบาทถูกถอนออกไปหลายครั้ง คาดว่ามีการร่วมก่อเหตุเป็นขบวนการ หลายกลุ่ม ใช้วิธีหลายรูปแบบ จึงมีผู้เสียหายแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกผูกบัญชีบัตรเดบิตเครดิตเข้ากับแอปพลิเคชันต่างๆ กลุ่มสองเป็นกลุ่มส่งSMSหลอกลวงแนบลิงค์และกลุ่มสุดท้ายใช้บัตรเครดิต เดบิตในชีวิตประจำวันในการชำระสินค้าตามร้านต่างๆโดยให้บัตรกับพนักงาน

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส