นักเศรษฐศาสตร์ ชี้ น้ำท่วมฉุด เปิดประเทศ คาดงบฯ ปี’65 ขาดดุลหนักรอบหลายทศวรรษ

ประเมินน้ำท่วม ทำแผนเปิดประเทศ หวังเศรษฐกิจกระเตื้องจากการท่องเที่ยว ไตรมาสสี่ 1 แสนล้านบาท ไม่ถึงเป้า เชื่อคนรวย ชนชั้นกลางฟื้น ทิ้งคนจน ผู้มีรายได้น้อย เจ็บหนักจากโควิด ซ้ำเติมด้วยน้ำท่วม

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวถึง ผลกระทบจากน้ำท่วมครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 30 จังหวัด คิดเป็น 28 – 32% ของจีดีพีประเทศ ผลกระทบดังกล่าวฉุดการกระเตื้องขึ้นทางเศรษฐกิจจากการเปิดประเทศ ที่คาดว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวเข้ามาในช่วงไตรมาสสี่ ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท

หากสถานการณ์น้ำท่วมสามารถบริหารจัดการได้ไม่ให้ท่วมในส่วนที่เป็น เขตนิคมอุตสาหกรรม และ ย่านศูนย์กลางเศรษฐกิจในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล คาดว่า ผลกระทบจากน้ำท่วมยังอยู่ในวงจำกัด ไม่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากนัก

ส่วนประชาชนฐานราก และภาคเกษตรกรรมเสียหายอย่างหนักนั้น รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อชดเชยความเสียหายในทรัพย์สินและอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ รวมทั้งชดเชยรายได้บางส่วน

“คาดว่า งบประมาณปี 2565 จะขาดดุลงบประมาณสูงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ โดยจะขาดดุลไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท เพิ่มจากที่ประมาณการเดิมไว้ที่ 7 แสนล้านบาท เนื่องจากรายได้จากเก็บภาษีจะพลาดเป้าค่อนข้างมาก และโอกาสในการเก็บภาษีได้สูงกว่า 2.563 ล้านบาทในระดับเดียวกับปี 2562 นั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย”

รศ.ดร.อนุสรณ์ ยังเห็นว่า การใช้จ่ายเพื่อชดเชยรายได้เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจปีหน้าอาจจะขยายตัวได้ต่ำกว่า 4% ผลประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และรายได้จะตกอยู่กับกลุ่มคนที่ร่ำรวยและชนชั้นกลาง มากกว่ากลุ่มคนยากจน หรือมีรายได้น้อย โดยที่คนกลุ่มนี้ก็ได้รับผลกระทบมากกว่าในช่วงวิกฤติโควิด และยังถูกซ้ำเติมโดยอุทกภัย

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง
และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต

ส่วนการขยับเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจากระดับ 60% ไปเป็น 70% นั้น ถือว่ามีความจำเป็น เพราะหากไม่ขยับโดยฐานะทางการคลังในปัจจุบัน และอนาคตอีก 1 ปีข้างหน้า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีพุ่งเกิน 60% อยู่แล้ว

“รัฐบาลต้องพยายามควบคุมการก่อหนี้ในแต่ละปี และต้องทำให้การขาดดุลงบประมาณลดลง และ รัฐบาลในอนาคตต้องทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างเต็มศักยภาพ ในระดับ 5-6% จึงจะทำให้ หนี้สาธารณะต่อจีดีพีปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับ 60% ของจีดีพีในอีก 10 ปีข้างหน้า”

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน