นักวิชาการชี้ รัฐบาลไม่เคาะเลือกตั้ง กทม. – พัทยา อาจมีเหตุผลทางการเมือง

ครม. อนุมัติเลือกตั้ง อบต. ภายในปีนี้ ‘โอฬาร ถิ่นบางเตียว’ วิเคราะห์ อาจเป็นผลดีต่อรัฐบาลในการเลือกตั้งระดับชาติ ส่วน กทม. และพัทยา ยังรอประเมินคะแนนความนิยม

วันนี้ (7 ก.ย. 2564) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจัดให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. ก่อน ส่วนกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยานั้นให้รอกำหนดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดกรอบระยะเวลาวันเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในวันที่ 28 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2564 

รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดเผยกับ The Active ในกรณีดังกล่าวว่า การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) ถือเป็นเรื่องที่ดี และควรดำเนินการเพื่อส่งเสริมการเมืองในระดับท้องถิ่น เนื่องจากหยุดชะงักไปนานภายหลังการรัฐประหารในปี 2557 แต่ยังคงกังวลในเรื่องของบรรยากาศการเลือกตั้งท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

“รัฐบาลแช่แข็งการเลือกตั้งท้องถิ่นมาตั้งแต่ปี 2557 การจัดให้มีการเลือกตั้ง อบต. เป็นเรื่องที่เหมาะสม และควรทำมาตลอด”

รศ.โอฬาร กล่าวว่า หลังจากมีมติ ครม. ออกมาแล้ว ยังต้องรอปฏิทินการเลือกตั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น สถานการณ์ด้านสาธารณสุขของประเทศเป็นอย่างไร เนื่องจากถ้าจัดการเลือกตั้ง ในขณะที่การแพร่ระบาดยังรุนแรง จะส่งผลต่อความสนใจของประชาชน ที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง บรรยากาศทางการเมืองจะไม่เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น

เพราะกระบวนการเลือกตั้ง ไม่ได้มีเพียงการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนเท่านั้น ยังรวมไปถึงการลงพื้นที่หาเสียง การปราศรัยเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ที่ส่งผลให้เกิดการรวมตัว และเคลื่อนย้ายของคน ซึ่งหากมีมาตรการไม่เข้มงวดพอ อาจะส่งผลต่อความมั่นใจของประชาชน และมาตรการควบคุมโรคของสาธารณสุขอาจดำเนินการได้ยากมากขึ้น

กทม. – พัทยา มิติทางการเมือง ส่งผลต่อการตัดสินใจ

รศ.โอฬาร กล่าวว่า ในส่วนของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายกเมืองพัทยา นอกจากมิติด้านการบริหารจัดการแล้ว ยังมีมิติทางด้านการเมืองด้วย ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาล เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งจะมีผลต่อรัฐบาลมากกว่าการเลือกตั้ง นายก อบต.

ในแง่ของการบริหารจัดการนั้น ต้องยอมรับว่าการจัดเลือกตั้งพร้อมกันกับการเลือกตั้ง อบต. อาจไม่ง่ายต่อการบริหารจัดการ เนื่องจากจำนวน อบต. ทั่วทั้งประเทศ มีมากกว่า 5,000 แห่ง ส่งผลต่อการทำงานของ กกต. จึงอาจเป็นเหตุผลที่ต้องจัดวันเลือกตั้งให้เหมาะสมต่อผู้ปฏิบัติหน้าที่จัดการเลือกตั้งด้วย

ในส่วนกรุงเทพมหานครนั้น รศ.โอฬาร มองว่ารัฐบาลยังคงประเมินความนิยมของประชาชนต่อผู้ลงสมัครผู้ว่าฯ เนื่องจากพรรคฝ่ายตรงข้ามค่อนข้างได้รับความนิยม การจัดการเลือกตั้งในช่วงนี้อาจไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล ในขณะเดียวกันภาพการบริหารจัดการโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมเป็นอย่างมาก ในเมื่อสถานการณ์ในกรุงเทพมหานครยังไม่ดีขึ้น คิดว่ารัฐบาลคงประวิงเวลาการเลือกตั้งออกไป

แต่พื้นที่ที่น่ากังวลคือ เมืองพัทยา รศ.โอฬาร กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองของพัทยาในตอนนี้อยู่ในสภาวะ Dead lock เนื่องจากมีสมาชิกสภาเมืองพัทยาไม่ครบองค์ประกอบ ที่จะดำเนินการออกข้อบัญญัติอย่างปกติได้ โดยเฉพาะเรื่องของกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ไม่สามารถผ่านสภาได้ จากข้อมูลพบว่ามีสมาชิกสภาฯ ลาออกเป็นจำนวนมาก ที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ล้วนเป็นข้าราชการประจำที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล

รศ.โอฬาร กล่าวต่อว่า รัฐบาลควรแก้ไขปัญหาของพัทยาเสียก่อน เนื่องจากการทำหน้าที่ของผู้บริหารที่รักษาการนั้น ไม่สามารถเป็นไปได้อย่างเต็มที่ ส่งผลต่อการบริการสาธารณะของประชาชน และมีข้อสังเกตว่ารัฐบาล ยังกังวลในความนิยมของผู้ลงสมัครนายกเมืองพัทยาในฟากของตนเช่นกัน ว่าจะสามารถชนะคู่แข่งซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่ได้หรือไม่

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้