เปิดไทม์ไลน์ เบื้องหลัง ทำไม สธ. ออกโรงป้อง “คณาจารย์แพทย์”

เปิดโครงสร้างและหน้าที่ “อนุกรรมการวัคซีนโควิด-19” ย้อนที่มากระแสวิจารณ์คณาจารย์แพทย์ มีอำนาจพิจารณา หรือแค่เสนอแนะจัดหาวัคซีน? 

  • ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ
  • ศ. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ศ. พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 

รายชื่อ 4 อาจารย์แพทย์ที่ถูกระบุลงในแถลงการณ์ของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 ตามที่ได้มีการแสดงความคิดเห็นของคนบางกลุ่มด้วยถ้อยคำที่รุนแรง จนมีผลต่อการทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวันของคณาจารย์ในคณะที่ปรึกษาของกระทรวงสาธารณสุข 

“กระทรวงสาธารณสุข ขอเรียนทำความเข้าใจว่ากระทรวงฯ ได้เรียนเชิญคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ จากหลากหลายสถาบัน มาช่วยเป็นที่ปรึกษา เป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงาน โดยที่ผ่านมากระทรวงได้รับการอนุเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญสถาบันทางการแพทย์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนการระบาดโรคโควิด-19 และทุกท่านได้ให้ความเห็น ข้อเสนอแนะในฐานะนักวิชาการอย่างเป็นอิสระ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง”

ทั้งนี้ ‘คณาจารย์’ ทุกท่านไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบาย หรือการจัดซื้อจัดหาเวชภัณฑ์และวัคซีนแต่อย่างใด กระทรวงสาธารณสุขขอขอบคุณ ชื่นชมคณาจารย์ทุกท่านในความเสียสละ ทำงานเพื่อประเทศชาติและขอให้สังคมได้เข้าใจ และรับทราบบทบาทที่มีคุณค่ายิ่ง ของคณาจารย์ทุกท่านในครั้งนี้

นับเป็นท่าทีที่ชัดเจนของกระทรวงสาธารณสุขในการปกป้อง “คณาจารย์” ที่มีส่วนให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่อง “วัคซีน” ท่ามสถานการณ์ของโรคระบาดที่ไม่เคยมีมาก่อน 

อำนาจพิจารณาเรื่องวัคซีน เป็นของใคร?

หากย้อนกลับไป ที่มาของการแสดงความเห็นที่รุนแรงต่อ “คณาจารย์” ดังกล่าวเริ่มจากการให้สัมภาษณ์ของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2564 ถึงกรณีสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ขอให้รัฐบาลนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA เข้ามาเพิ่มเติม เพื่อรับมือสายพันธุ์เดลตา โดยระบุว่า

“การพิจารณาเรื่องวัคซีนในประเทศไทยจะต้องผ่านความเห็นจากคณะกรรมการวิชาการวัคซีน ที่มี ศ. พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ, นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ รวมถึง ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ เป็นคณะทำงานประชุมร่วมกันทุกวัน เพื่อวางแนวทางเรื่องการใช้วัคซีนใด วิธีใด ห่างกันอย่างไร แล้วแจ้งมติมายัง สธ. เพื่อให้แพทย์ปฏิบัติตาม แม้แต่อธิบดีกรมการแพทย์จะฉีดวัคซีนตามใจตัวเอง หรือแพทย์จะฉีดตามความเชื่อส่วนตัวก็ไม่ได้ ตนและ สธ. มีหน้าที่ปฏิบัติตามแนวทาง หากคณะกรรมการบอกว่าต้องซื้อวัคซีนชนิดใดเพิ่ม ก็จะต้องไปเร่งนำเข้า ครม. หางบประมาณมาเพิ่มเติม และพยายามจัดหามาให้มากที่สุด

จนกระทั้งกลายเป็นประเด็นเมื่อ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร”  ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล หยิบยกมาสื่อสารในโซเซียลมีเดีย

ทวิตเตอร์ @wirojlak เมื่อวันที่ 2 ก.ค.​ 2564

เอกสารหลุด ฉีดไฟเซอร์เข็ม 3 เท่ากับยอมรับซิโนแวคไม่ได้ผล 

ประเด็นร้อนแรงต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2564 มีการเผยแพร่เอกสารหลุดจากที่ประชุมเฉพาะกิจร่วมระหว่างคณะกรรมการด้านวิชาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558, คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และคณะทำงานวิชาการด้านบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ห้องประชุมชม เทพยสุวรรณ ชั้น 5 อาคาร 3 กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคโดยมีวาระการพิจารณาแนวทางการให้วัคซีนไฟเซอร์ ของประเทศไทยที่สหรัฐอเมริการบริจาคจำนวน 1.5 ล้านโดสโดยเสนอให้ฉีดผู้สูงอายุก่อน 

ขณะเดียวกันยังมีเสียงคัดค้านการฉีดเข็มสามให้บุคลากรการแพทย์ด่านหน้า โดยชี้ว่าถ้าฉีดเข็มสามเท่ากับยอมรับซิโนแวค ไม่ได้ผล จะแก้ตัวยาก

เอกสารการประชุมเฉพาะกิจร่วมระหว่างคณะกรรมการด้านวิชาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.​2564

จากทั้ง 2 เหตุการณ์ในเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้กระแสสังคมเริ่มตั้งคำถามกับ “คณาจารย์” ที่นั่งอยู่ในคณะกรรมการวิชาการฯ ดังกล่าว โดยก่อนที่เรื่องจะลุกลามบานปลายจนอาจกลายเป็นความขัดแย้งทั้ง “ภายใน” ในกระทรวงและ “ภายนอก” กับสาธารณชน ที่สุดแล้ว “อนุทิน ชาญวีรกูล” จึงออกมาแถลงแก้ข่าวถึง กรณีกระแสโจมตี ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ ,ศ. พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ และ รศ. นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ว่าข่าวดังกล่าวของอาจารย์แพทย์ทั้ง 3 ท่านมีสาเหตุจาก ผู้สื่อข่าวบางสำนักนำเสนอข่าวไม่ถูกต้อง

ใบข่าวแจกสื่อมวลชน สำนักสารนิเทศ​ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 5 ก.ค.​ 64

อาจารย์ทั้ง 3 ท่านรับผิดชอบดูแลเรื่องวิชาการ ด้านความปลอดภัย การใช้วัคซีนว่าจะใช้ยี่ห้อใดระยะเวลาห่างกันเท่าไร ใช้ได้ในกลุ่มอายุเท่าไร เมื่อมีผลข้างเคียงรุนแรงท่านจะประชุมพิจารณาแนะนำสั่งหยุดเฉพาะราย สื่อบิดเบือนบอกว่าอาจารย์ทั้ง 3 คนเป็นผู้สั่งซื้อวัคซีนเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

“อาจารย์ทั้ง 3 ท่านไม่ได้เป็นผู้จัดซื้อวัคซีนและไม่ได้เป็นคนสั่งให้กระทรวงสาธารณสุขจัดซื้อ แต่ท่านให้ข้อมูลเชิงวิชาการเพื่อให้การฉีดวัคซีนเกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด ตอนนี้ เราต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาให้บ้านเมือง ให้มีความปลอดภัยจากโควิด 19 ให้มากที่สุด” 

ดราม่า #ริมน้ำ อาจารย์แพทย์อาสาทดลองฉีดเข็ม 3 ไฟเซอร์ 

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ที่ดูเหมือนจะคลี่คลาย หลังจากคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติให้ฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 3 เพื่อกระตุ้นภูมิให้บุคลากรด่านหน้าที่ฉีดซิโนแวคไปแล้ว 2 เข็ม 

ทว่า ก็เกิดประเด็นจากนักศึกษาแพทย์ในสถาบันการแพทย์แห่งหนึ่ง จนกลายเป็นแฮชแท็ก #ริมน้ำ ในทวิตเตอร์ เมื่อวันที่  15 ก.ค. 2564 ระบุ ศูนย์วิจัยที่อาจารย์แพทย์ทำงานอยู่มีการทำวิจัยว่า ระหว่างการฉีดกระตุ้นด้วยไฟเซอร์กับแอสตราเซเนกาอะไรให้ผลที่ดีกว่า ซึ่งอาจารย์ก็เป็นหนึ่งในอาสาสมัครของโครงการวิจัยนี้ สุดท้าย อาจารย์ก็ตัดสินใจเป็นอาสาสมัครทดลองฉีด “ไฟเซอร์เต็มโดส 1 เข็ม” โดยอ้างว่าเป็นการเสียสละ กระทั่งมีการเปิด ClubHouse เป็นพื้นที่กลางเพื่อเครียร์ข้อเท็จจริง และเปิดใจระหว่างอาจารย์และนักศึกษา

วงคุยใน ClubHouse หัวข้อ Q&A : คณบดี เรื่องวัคซีน COVID-19 และประเด็นต่างๆ เมื่อคืนวันที่ 16 ก.ค. 64

“ศ. นพ.มานพ พิทักษ์ภากร” หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยกับ The Active ภายหลังว่า โควิด-19 เป็นโรคใหม่ ทุกประเทศนับหนึ่งพร้อมกันทั้งในเรื่องขององค์ความรู้ วิธีการปฏิบัติต่าง ๆ การทดลองวัคซีน และประสิทธิภาพของวัคซีน ถูกเปิดเผยไปพร้อมกัน  

“ความรู้ระหว่างนักศึกษากับอาจารย์ ที่ได้รับก็พร้อมกัน และมีเท่ากัน เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เห็นวิธีการปฏิบัติต่างไปจากที่ประเทศต่าง ๆ ปฏิบัติตามหลักการและข้อมูลวิทยาศาสตร์ จึงเกิดการตั้งคำถามมากมาย” 

สังคมจับตา จัดสรรไฟเซอร์ถึงแพทย์ด่านหน้าหรือไม่ 

วัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐอเมริกาบริจาค 1.5 ล้านโดส มาถึงไทยเมื่อวันที่ 29 ก.ค. แม้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีมติให้ฉีดไฟเซอร์เป็นเข็มสามกับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าแล้ว แต่สังคมยังเฝ้าจับตาดูการจัดสรรวัคซีนที่ได้รับมา 

ซึ่งก็เกิดประเด็นว่าจัดสรรโควตาสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เมื่อวันที่ 21 ก.ค. มีเพียง 500,000 โดส แตกต่างจากที่กรมควบคุมโรคเคยแถลงไว้ แต่เดิมระบุว่า โควตาสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ 700,000 โดส สังคมจึงตั้งคำถามว่ามีการกั๊กวัคซีนไว้สำหรับกลุ่มวีไอพีที่ไม่ใช่ด่านหน้าหรือไม่

เอกสารข้อเสนอทางการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ 1.54 ล้านโดส วันที่ 21 ก.ค. 64 ก่อนมีการเปลี่ยนแปลงภายหลัง

กระทั่ง 2 ส.ค. กระทรวงสาธารสุข เคาะแผนใหม่ ยืนยันบุคลากรทางการแพทย์ได้รับวัคซีน 700,000 โดส ยิ่งตอกย้ำกับสังคมว่าหากไม่มีการติดตาม แผนการจัดสั่งวัคซีนอาจไม่เป็นไปตามแนวทางเดิม ยังไม่นับกระแสความไม่พอใจจนต้องมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรทางแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทุกคนที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยโควิดจากการปฏิบัติงานทั่วประเทศ รวมถึงนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยโควิดจากการปฏิบัติงานหรือการเรียนการสอนที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยจริง ถึง 2 ครั้ง

แม้ว่าการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ครั้งนี้ จะมีการแถลงตัวเลขจากกระทรวงสาธารณสุขไปแล้ว แต่นักวิชาการที่ทำงานด้านข้อมูลยังคงเรียกร้องให้รัฐเปิดเผย Open Data อย่างโปร่งใสเกี่ยวกับการกระจายวัคซีนไฟเซอร์ ว่าจะไม่มีการฉีดให้กับกลุ่มวีไอพีต่าง ๆ ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่ากระแสโจมตี “คณาจารย์ฺแพทย์” ที่อยู่ในคณะวิชาการฯ ที่ปรึกษากระทรวง อยู่เหนือดราม่าทั้งหมด และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายแต่อย่างใด

เปิดโครงสร้าง “อนุกรรมการวัคซีนโควิด-19”

บทบาทของ “คณาจารย์แพทย์” ที่ถูกกล่าวถึงในแถลงการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข มีขึ้นหลัง “คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ” ได้มีคำสั่งที่ 1/2564 แต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (COVID-19)” ลงวันที่ 14 มกราคม 2564 โดยมี “นพ.โสภณ เมฆธน” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานอนุกรรมการดังกล่าว 

อนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโคโรนา2019 (COVID-19) คือชื่ออย่างเป็นทางการ แต่เรียกสั้น ๆ ว่า “อนุกรรมการวัคซีนโควิด-19” ตั้งขึ้นเพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการ ประสาน สนับสนุนการดำเนินงาน และแก้ไขปัญหาอุปสรรคการบริหารจัดการการให้วัคซีนของประเทศไทย รวมทั้งติดตามความก้าวหน้าผลลัพธ์ของการดำเนินงาน และตั้งคณะทำงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามความจำเป็นเหมาะสม

ในอนุกรรมการนี้มีคณะทำงาน ประกอบด้วย 

  1. คณะที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ และแผนงาน
  2. คณะทำงานด้านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและสื่อสารประชาสัมพันธ์
  3. คณะทำงานด้านการให้บริการวัคซีน ฝึกอบรม และกำกับติดตามผล 
  4. คณะทำงานด้านการประกันคุณภาพวัคซีนและติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน
  5. คณะทำงานด้านระบบข้อมูลการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 
  6. คณะทำงานวิชาการด้านการบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน

เมื่อพิจารณาดูจากรายชื่อพบว่า 

“ศ. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา” นั่งอยู่ใน คณะที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และแผนงาน ขณะที่ “ศ. พญ.กุลกัญญา​ โชคไพบูลย์​กิจ” และ “รศ. นพ.ทวี​ โชติพิทยสุนนท์” นั่งควบ 2 คณะ คือ คณะทำงานด้านการประกันคุณภาพวัคซีนและติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน และ คณะทำงานวิชาการด้านการบริหารจัดการ​ และศึกษา​การให้บริการวัคซีน

ขณะที่ “คณะทำงานวิชาการด้านการบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน” ซึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำด้านวิชาการแก่คณะอนุกรรมการฯ​ ติดตามความก้าวหน้าด้านวิชาการ และความเคลื่อนไหวสำคัญที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน รวมถึงการบริหารจัดการและการให้บริการวัคซีน ทั้งในระดับโลกและในประเทศและนำมาวิเคราะห์เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการและการให้วัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ ปรากฏรายชื่อ 3 อาจารย์แพทย์ คือ ศ. นพ.ยง​ ภู่วรวรรณ , ศ. พญ.กุลกัญญา​ โชคไพบูลย์กิจ และ รศ. นพ.ทวี​ โชติพิทยสุนนท์

ที่สุดแล้ว แถลงการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข คือ อาการโอบกอดทุกคนให้อยู่บนเรือลำเดียวกันไว้ก่อน ซึ่งไม่รู้ว่าวิกฤตวัคซีนของประเทศที่ทยอยมีมาเรื่อย ๆ จะทำให้เรือลำนี้แตกเมื่อไร

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active