ภาคประชาชนเรียกร้องถอนร่าง พ.ร.บ.ควบคุม “องค์กรประชาชน”

แนะ ดันฉบับ พม. และฉบับประชาชน ช่วยส่งเสริมการทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคม

วันนี้ (23 ก.ค. 2564) สถาบันพระปกเกล้า จัดเวทีสาธารณะ เรื่อง “กฎหมายเกี่ยวกับภาคประชาสังคม: ความท้าทายประชาธิปไตยไทย” กรณี ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ…. ที่เกิดขึ้นจากคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้สำนักงานกฤษฎีกาจัดทำขึ้น และ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ…. ที่เกิดขึ้นจากคณะทำงานภายใต้การดูแลของนาย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อร่วมกับเสนอแนะความคิดเห็นต่อร่างดังกล่าว

รักไท เทพปัญญา นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า ในปัจจุบันมีองค์กรที่จัดตั้งโดยไม่แสวงหากำไรอยู่มาก อ้างทำเพื่อประโยชน์สังคม แต่อาจดำเนินกิจการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่ง ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ…. ได้กำหนดให้มีการจดแจ้งองค์กรภาคประชาสังคม และเงื่อนไขการควบคุมดูแลให้ดำเนินกิจการหรือกิจกรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ได้มีข้อกำหนดให้อธิบดีกรมการปกครอง มีอำนาจในการพิจารณาการจดแจ้งดำเนินการขององค์กรภาคประชาสังคม มีกลไกในการจัดการเรื่องเงิน ที่จะต้องเปิดเผยแหล่งที่มาของทุน และต้องเสียภาษีตามกฎหมาย เช่น กรณีรับเงินทรัพย์สินจากต่างชาติ และจะดำเนินกิจการได้เฉพาะกิจกรรมที่ได้รับอนุญาตจดแจ้ง หากถูกเพิกถอนในอนุญาตการจดแจ้งไม่มีสิทธิ์ในการอุทธรณ์ และหากทำกิจกรรมโดยไม่จดแจ้ง มีโทษทางอาญา คือจำคุกไม่เกิน 5 ปี ในส่วนที่ทำกิจกรรมต้องเขียนรายงานผลในแต่ละปีด้วย

กันตพงศ์ รังษีสว่าง ผู้ตรวจราชการ กระทรวงสำนักงานปลัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) อธิบายว่า ผู้จัดทำร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ…. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของกระทรวงแต่เป็น คณะทำงานภายใต้การดูแลของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่กระทรวงพัฒนาสังคมฯ โดยต้องการที่จะส่งเสริมการทำงานของภาคประชาสังคมให้เข้มแข็ง เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาสังคมให้เข้มแข็งและยั่งยืน รวมถึงเป็นการเป็นหุ้นส่วนการทำงานของภาครัฐ

การจดแจ้งองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อนำมาสู่การส่งเสริมและพัฒนา แต่ต้องเป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลไม่มีประโยชน์อื่นแอบแฝง อันนี้เราเห็นด้วย แต่กลุ่มที่ขาดธรรมาภิบาล อ้างว่าเป็นองค์กรภาคประชาสังคม แล้วทำความเสียหาย กระทบต่อสิทธิ์ผู้อื่น เข้าข่ายฟอกเงินหารายได้ หลอกลวงโกงประชาชน สร้างความปั่นป่วนส่งผลกระทบต่อสังคม อันนี้ทำผิด จะไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ 

พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า ในการกระทำผิดของค์กรไม่แสวงหากำไร จะมีกลไลเข้ามากำกับควบคุม แต่ไม่ใช่บทบาทของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ และเสนอให้มีการบัญญัติกฎหมายขึ้นเพิ่มเติมด้วย

สุนี ไชยรส รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ…. ที่เกิดขึ้นจากคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้สำนักงานกฤษฎีกาจัดทำขึ้น มีเนื้อหา และกระบวนการที่ผิดพลาด ย้อนยุค ไม่เคารพหลักการหลายด้านของกฎหมาย ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และละเมิดอำนาจสภาผู้แทนราษฎร โดยตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการจัดทำขึ้นเพื่อที่จะปัด ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. …. ที่เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมได้จัดทำก่อนหน้านี้ ให้ถูกปัดตกไป

ครม. และกฤษฎีกาทำตามใจชอบไม่ได้ เสนอกฎหมายที่เข้ามาควบคุมการทำงานของภาคประชาสังคม กฎหมายนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำผิดหลักการของการเสนอกฎหมาย  … การที่ภาคประชาสังคมมีบทบาทในการตรวจสอบรัฐบาล ถ้ารับเรื่องนี้ไม่ได้ จะพาสถานการณ์แย่ลงไปอีก จึงเป็นความท้าทายด้วยระบบประชาธิปไตย สิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการรวมกลุ่ม … ปัจจุบันองค์กรชุมชน ภาคประชาชน ถูกตรวจสอบถี่ยิบ ทุนต่างประเทศเข้าสู่กระบวนการที่ตรวจสอบได้อยู่แล้ว ทุกวันนี้เราอยู่ในกระบวนการตรวจสอบ …. ทางออกคือถอนร่างนี้ออกไป แล้วเอาร่างของ พม. เข้า ประกอบกับ ร่างที่มาจากการเสนอชื่อของประชาชน 

พืชภพ มงคลนาวิน รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ…. มีข้อห่วงกังวลหลายประการจากความคิดเห็นของคณะทูตจากนานาประเทศ เนื่องจากมีหลักการกว้าง ไม่มีการชี้เฉพาะ ว่าการรวมกลุ่มทำกิจกรรมแบบไหนจึงจะเรียกว่าเป็นองค์กรภาคประชาสังคม หรือแบบไหนที่ควรละเว้น รวมถึงการรวมทำประโยชน์สังคม งานศาสนาต้องจดแจ้งด้วยหรือไม่ และมองว่าการกำหนดโทษสำหรับการไม่ปฏิบัติตามเป็นการลงโทษเกินกว่าเหตุ

การดำเนินการโทษอาญา จากการดำเนินกิจกรรมไม่จดแจ้ง เป็นการลงโทษที่เกินกว่าเหตุ อาจจะทำวิธีอื่น เช่น เพิกถอน หรือระงับกระบวนการบางอย่างแทน หากแต่กรณีการฟอกเงิน อาจเป็นโทษทางอาญาได้ … การตรวจสอบสำเนาอิเล็กทรอนิกส์จากองค์กรไม่แสวงหารายได้ในข้อกำหนด มีข้อกังวลว่าภาครัฐเข้าถึงข้อมูลได้จะเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัว หรือส่วนบุคคลโดยพละการ … การไม่ระบุถึงแนวทางการอุทธรณ์ ยังอาจทำให้องค์กรถูกกลั่นแกล้งโดย เจ้าหน้าที่รัฐ และจะเป็นการตัดสิทธิ์ด้านกระบวนการยุติธรรมของเขาไป… ทั้งยังมองว่า เป็นการละเมิดสิทธิพลเรือน สิทธิทางการเมือง และกระทบกับพันธกรณี ของไทย “ICCPR” (กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง)​ ในการให้สิทธิ์ชุมนุมโดยสันติ ที่ถือเป็นเสรีภาพของประชาชน 

นอกจากนี้ยังสะท้อนด้วยว่า การที่องค์กรภาคประชาสังคมต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ในแง่ที่ให้เหตุผลว่าเพื่อความมั่นคงของชาติ ปกป้องสิทธิ์ของคนอื่น ควรจะต้องกำจัดเรื่องการจดทะเบียน การรับเงินอุดหนุน เพราะเป็นการเพิ่มภาระให้องค์กรเอกชน และผลแน่นอนกับองค์กรภาคประชาสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จำเป็นต้องหาจุดสมดุล ว่าจะออกกฎหมายครอบคลุมขนาดไหนที่ไม่กลายเป็นภาระเกินไปของภาคประชาสังคม เพราะองค์กรภาคประชาสังคมทำประโยชน์เพื่อสังคม ควรจะได้โอกาสในการดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อสังคมต่อไป และเพื่อเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของไทยต่อสายตานานาประเทศด้วย 

ส่วน ไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มองว่า รัฐควรจะต้องส่งเสริมสิทธิชุมชน การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม มากกว่าความพยายามที่จะกำกับควบคุม ซึ่งการร่างกฎหมายดังกล่าว เป็นความพยายามควบคุมการทำงานของกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมที่จะสร้างผลกระทบในวงกว้าง

ไพโรจน์ ระบุว่า นับตั้งแต่ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดกลุ่มองคกรไม่แสวงหากำไร หรือที่เรียกว่า NGO เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ทำงานเพื่อรักษาสิทธิของกลุ่มต่างๆ ช่วยเหลือและแก้ปัญหาของสังคม พร้อมตรวจสอบติดตามเสนอแนะความเห็นต่างของรัฐ และทำให้เกิดองค์กรภาคประชาชนหลายแห่งขึ้นมา เช่น องค์กรชาติพันธุ์ ชาวประมง ผู้สูงอายุ คนพิการ ความหลากหลายทางเพศ ที่ทำงานเพื่อสะท้อนปัญหาในมิติต่างๆ ของสังคม พร้อมเสนอแนะทางออกทางแก้เชิงนโยบาย

คำว่า องค์กรภาคประชาสังคม นั้นใหญ่มาก คือองค์กรทั้งหมดที่เกิดขึ้น ที่มีส่วนร่วมของการพัฒนาสังคม และเสนอความเห็นต่างของรัฐ เพราะรัฐมักโน้มเอียงต่อกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ การรณรงค์ การเสนอนโยบาย การเดินขบวน การชุมนุม ที่คือบทบาท ที่เกิดขึ้นเพราะปัญหาไม่ได้แก้ เช่น กฎหมายป่าชุมชนใช้เวลา 20 ปีกว่าจะเสร็จ และมีอีกหลายเรื่องยังไม่สำเร็จ… แน่นอนว่าควรมีกรอบในการทำงาน เพราะมีองค์กรจำนวนมากไม่จดทะเบียน แสวงหาประโยชน์ ไม่เสียภาษี แต่อยากให้ลองดูว่ามีงานวิจัยไหม ที่ระบุว่ามีองค์กรแบบที่ว่านี้ กี่องค์กร และมีกฎหมายอื่นจัดการได้ไหม ซึ่งก็มีอยู่แล้ว

ไพโรจน์ กล่าวเสริมว่า ร่าง พ.ร.บ.ที่สำนักงานกฤษฎีกาจัดทำ เริ่มตั้งมาจากอคติ เห็นได้จากเนื้อหา ที่มีข้อระบุให้องค์กรภาคประชาสังคม “ปฏิบัติตามทำนองครองธรรม” จุดมุ่งหมายเป็นกฎหมายกลาง คลุมทุกองค์กรที่มีอยู่ และทุกองค์กรจะถูกบังคับด้วยกฎหมายฉบับนี้ด้วย หมายความว่า หากองค์กรต่างประเทศไม่ได้จดแจ้ง ก็ไม่สามารถทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะในประเทศไทยได้เลย เพราะอาจได้รับโทษจำคุก 5 ปี หรือ ปรับ 1 แสนบาท 

มีองค์กรเป็นแสนองค์กรที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มต่างๆ ทำงานอยู่ทั่วประเทศ การออกกฎหมายนี้สร้างภาระเกินความจำเป็น คือต้องแจ้งแหล่งที่มาของรายได้ทรัพย์สิน รายงานการเงิน รายงานการเสียภาษี เป็นภาระแน่นอน องค์กรเล็กๆ ต้องจ้างเจ้าหน้าที่ทำบัญชี แต่ถามว่าองค์กรนิติบุคคล เดิมทีมีรายงานพวกนี้ไหม มีอยู่แล้ว หลายองค์กรก็ทำเช่นนี้ หากรับทุนมา กระบวนการก็บอกให้ทำเช่นนี้ …. พวกรับเงิน ตปท. มักจะให้กับมูลนิธิ กองทุน ซึ่งต้องมีการตรวจสอบอยู่แล้ว และหากเกินสองล้านต้องมีการตรวจสอบจากธนาคารระหว่างประเทศอยู่แล้ว หากมีองค์กรไหนที่มีความไม่ชอบมาพากล ปปง. สามารถตรวจสอบได้อยู่แล้ว

ขณะนี้ ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับ หลักการของร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน จากข้อเสนอของสังนักงาน ปปง. จำนวน 8 ประเด็น ประชาชนสามารถเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นได้ ผ่านเว็บไซต์ คณะกรรมการกฤษฎีกา

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้